เอพี - การเลียบเคียงเอเชียของสหรัฐฯต้องเผชิญกับยกเครื่องครั้งใหม่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง แต่มีเครื่องหมายคำถามว่ามันจะเป็นไปในทิศทางไหน ขณะที่สื่อมวลชนเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งเตือนถึงการเกิดสูญญากาศด้านความเป็นผู้นำ หรือแม้แต่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ หากว่าอเมริกาถอนกำลังออกจากภูมิภาคแห่งนี้ที่ถูกคุกคามจากการยั่วยุของเกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตามเหล่าผู้เขียนในรายงานของมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) ที่มอบแก่สำนักข่าวเอพี ก่อนหน้านำเสนอต่อสาธารณชนในวันอังคาร(15พ.ย.) ก็บอกเช่นกันว่าบางพื้นที่ของภูมิภาค หวังว่าการปรับเปลี่ยนจากนโยบายต่างประเทศที่เป็นเครื่องหมายการค้าของประธานาธิบดีบารัต โอบามา อาจเป็นเรื่องที่ดี
แม้โอบามา ได้ลงทุนทางการทูตครั้งใหญ่ในการเอื้อมสู่เอเชียในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในนโยบายที่เขาเรียกว่า "ปักหมุดเอเชีย" ออกดอกออกผลแค่เล็กน้อยในการตอบโต้การผงาดขึ้นมาอย่างแน่วแน่ของจีน เช่นเดียวกับมีทหารสหรัฐฯประจำการในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พม่ามีการเมืองแบบเปิดมากขึ้นและความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับศัตรูเก่าอย่างเวียดนาม
แต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเป็นไม้ค้ำนโยบายเศรษฐกิจของเขา กำลังผุพัง ชัยชนะของทรัมป์ขีดลบโอกาสของการให้สัตยาบันรับรองความตกลงการค้า 12 ชาติดังกล่าว
ด้วยการเปลี่ยนโวหารระหว่างหาเสียงที่ได้รับความนิยมของนายทรัมป์ ให้เป็นการลงมือทำยังคงเป็นเกมเดาใจ เอเชียจึงตกอยู่ในการเดิมพันขั้นสูง
ทรัมป์หยิบยกภาพอันน่าขนลุกขนพองเกี่ยวกับการถอนทหารสหรัฐฯออกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น จนกว่าทั้งสองประเทศจะแบ่งเบาภาระเพิ่มเติมในงบประมาณทหารที่มีกำลังพลอเมริกาประจำการอยู่รวมกัน 80,000 นาย แม้เพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือยังเดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหนักหน่วงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
รายงานของมูลนิธิเอเชีย อ้างคำปรึกษากันในหมู่นักวิชาการและอดีตเจ้าหน้าที่จาก 20 ชาติเอเชีย เตือนว่าการถอนทหารสหรัฐฯอาจบีบให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องแสวงหาการป้องปรามทางนิวเคลียร์ของตนเอง แทนที่จะพึ่งพิงอเมริกา ซึ่งอาจกระพือความไร้เสถียรภาพครั้งใหญ่ในความสงบเรียบร้อยของภูมิภาค "การลดการมีส่วนร่วมในเอเชียจะก่ออันตรายแก่ผลประโยชน์ของเหล่าประเทศเอเชียทั้งหมด เช่นดียวกับสหรัฐฯ"
ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯใช้มาตการเบื้องต้นปัดเป่าความกังวลเหล่านี้ โดยเขาให้คำรับประกันอย่างรวดเร็วแก่ผู้นำออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เกี่ยวกับพันธสัญญาของเขาที่มีต่อพันธมิตรของอเมริกา และในวันพฤหัสบดี(17พ.ย.) ทรัมป์ จะพบปะกับนายกรัฐมนตีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นในนิวยอร์ก หลังผู้นำแดนปลาดิบอยู่ระหว่างเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-แปซิฟิกในเปรู
ด้าน จีน คู่อริของญี่ปุ่น มองสหรัฐฯภายใต้การนำของทรัมป์ด้วยความหวาดกลัวน้อยลง ขณะที่พวกเขามองนโยบายปักหมุดเอเชียของโอบามาว่าเป็นความพยายามควบคุมการผงาดขึ้นมาในฐานะมหาอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจของปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม ปักกิ่ง ก็กังวลเกี่ยวกับคำพูดของทรัมป์ ที่ขู่กำหนดอัตราภาษีศุลกากรสูงลิ่ว ตอบโต้การละเมิดด้านการค้าและปั่นค่าเงิน ท่ามกลางความกังวลว่ามันอาจจุดชนวนสงครามการค้า ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต่อสายตรงถึงทรัมป์ในวันจันทร์(14พ.ย.) และบอกกับเขาว่าความร่วมมือระหว่างสองชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกเป็นสิ่งจำเป็น
รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการไทย หนึ่งใน 3 ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ ระบุว่าแม้มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการขาดประสบการณ์ในการบริหารประเทศของนายทรัมป์ แต่เขามีบางอย่างที่ต้องการ นั่นคือการตั้งต้นใหม่
ทั้งนี้รศ.ดร.ฐิตินันท์ บอกว่านั่นเป็นเรื่องบวกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนโยบายปัจจุบันของสหรัฐฯล้มเหลว ไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหมาย ดินแดนที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้านสิทธิมนุษย์ทำให้พันธมิตรเก่าแก่อย่างฟิลิปปินส์และไทย เบือนหน้าหนี "เหล่าชาติอาเซียน ไม่ต้องการถูกครอบงำโดยจีน พวกเขาไม่ต้องการเอาไข่พวกเขาทั้งหมดใส่ไว้ในตะกร้าของจีน แต่พวกเขาจำเป็นต้องทำเพราะนโยบายปักหมุดและคืนสมดุลนั้นตื้นเขินและมีช่องโหว่ในที่สุด"
ด้าน ซี.ราชา โมฮาน นักวิชาการเอเชีย ให้ความเห็นว่าทรัมป์มีแนวทางของตนเองในการเปิดการโต้เถียงอย่างสร้างสรรค์ในประเด็นที่ว่าเหล่าประเทศเอเชียต้องใช้บทบาทเชิงรุกอย่างไรในการจัดการกับการผงาดขึ้นมาของจีน ในขณะที่ต้องลดการพึ่งพิงอเมริกา "ในปฏิกริยาที่ต่างจากพวกหัวเสรีในยุโรปในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เอเชียกำลังปรับตัวแทนที่จะต่อต้าน" โมฮานกล่าว "เราจำเป็นต้องพูดคุยตกลงกับใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจในวอชิงตัน"