(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Russia confronts US containment strategy
By M K Bhadrakumar
08/12/2014
การไปกล่าวคำปราศรัยประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีรัสเซีย ก็คือวาระโอกาสแห่งการแจกแจงสาธยายถึงนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐ สำหรับการแถลงประจำปีนี้ของ วลาดิมีร์ ปูติน ณ ท้องพระโรงเซนต์จอร์จ ของพระราชวังเครมลิน ต่อหน้าผู้ฟังอันคึกคักแน่นหนาถึง 1,000 คนซึ่งต่างเป็นชนชั้นนำของประเทศ ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษทีเดียว เนื่องจากสภาพแวดล้อมในเวลานี้จัดว่าผิดแผกกว่าธรรมดา ฝ่ายตะวันตกกำลังบังคับให้รัสเซียกดปุ่มรีเซต ทำการปรับเปลี่ยนตั้งเข็มทิศแห่งยุทธศาสตร์ระดับชาติทั้งหลายของตนเสียใหม่ นโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติต่างๆ ของรัสเซียกำลังยืนอยู่ตรงทางแยก และประเทศชาติจึงต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะเลือกเดินทางในหนทางไหน
การไปกล่าวคำปราศรัยประจำปีต่อรัฐสภา (Federal Assembly) ของประธานาธิบดีรัสเซีย ก็คือวาระโอกาสแห่งการแจกแจงสาธยายถึงนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐ สำหรับการแถลงประจำปีนี้ของ วลาดิมีร์ ปูติน ณ ท้องพระโรงเซนต์จอร์จ ของพระราชวังเครมลิน (the Kremlin’s St George Hall) ต่อหน้าผู้ฟังอันคึกคักแน่นหนาถึง 1,000 คนซึ่งต่างเป็นชนชั้นนำของประเทศ ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษ
แน่นอนทีเดียวว่าสภาพแวดล้อมในเวลานี้มีความผิดแผกกว่าธรรมดา ฝ่ายตะวันตกนั้นกำลังบังคับให้รัสเซียกดปุ่มรีเซต ทำการปรับเปลี่ยนตั้งเข็มทิศแห่งยุทธศาสตร์ระดับชาติทั้งหลายของตนเสียใหม่ ดังนั้นนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติต่างๆ ของรัสเซียจึงเสมือนกับกำลังยืนอยู่ตรงทางแยก และประเทศชาติต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะเลือกเดินทางในหนทางไหน
ปกติแล้วในการกล่าวปราศรัยประจำปีเพื่อแสดงสถานะของประเทศและแถลงนโยบายประจำปีเช่นนี้ เรื่องนโยบายการต่างประเทศมักถูกจัดให้เป็นเรื่องลำดับรองๆ แต่ปรากฏว่าในคราวนี้กลับเป็นตรงกันข้าม โดย ปูติน กล่าวแจกแจงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทีเดียว ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะวาดทัศนียภาพอย่างกว้างไกล เพื่อปูทางให้มองเห็นกันอย่างชัดเจนแต่เนิ่นๆ ว่า ทำไมยุทธศาสตร์ระดับชาติต่างๆ ของรัสเซียจึงจำเป็นต้องทำการปรับเปลี่ยนยกเครื่องกันครั้งใหญ่
ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่ข้อสังเกตการณ์เหล่านี้ของปูติน มีจุดโฟกัสอยู่ที่พัฒนาการต่างๆ ในยูเครนตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ และเกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” ที่ได้รับการอุปถัมภ์หนุนส่งจากฝ่ายตะวันตก ซึ่งได้โค่นล้มรัฐบาลในกรุงเคียฟที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องชอบธรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ภายหลังที่ วิกตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) ประธานาธิบดียูเครนในตอนนั้น ได้ประกาศเลื่อนเวลาการลงนามใน “ข้อตกลงแม่บทเพื่อความร่วมมือกัน” (Association Agreement) กับสหภาพยุโรป (อียู) ออกไปก่อน
เมื่อมองย้อนหลังกลับไป เราจะพบว่าถึงแม้ฝ่ายตะวันตกจะได้ชัยชนะจากการเปลี่ยนแปลงในยูเครนคราวนั้น แต่ก็เป็นชัยชนะที่ต้องใช้ต้นทุนสูงเหลือเกินจนไม่น่าจะคุ้มกับกำไรที่ได้มา เพราะถึงแม้อียูประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบปกครองใหม่ที่เป็นบริวารของพวกเขาขึ้นในกรุงเคียฟ นำโดยตัวบุคคลซึ่งพวกเขาคัดเลือกมากับมือ และระบอบปกครองนี้ก็ได้ลงนามประกาศใช้ข้อตกลงแม่บทเพื่อความร่วมมือกันกับบรัสเซลส์ ฉบับที่ยานูโควิชได้ชะลอเอาไว้ ทว่ายูเครนเองกลับตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอย่างหนัก ถึงขนาดหมดหวังที่อียูจะสามารถบังคับให้นำเอาข้อตกลงฉบับนั้นมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังได้เสียแล้ว มิหนำซ้ำบรัสเซลส์ยังเผชิญกับความเป็นจริงอันหนักแน่นที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างเสถียรภาพขึ้นมาในยูเครน ถ้าหากไม่หวนกลับไปต่อ “สายสะดือ” ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศที่แสนจะเคราะห์ร้ายอับโชคแห่งนี้ เข้ากับ “รัสเซียผู้เป็นมารดา”
ระหว่างการแถลงครั้งสำคัญคราวนี้ ปูตินใช้ท่าทีโผงผางตรงไปตรงมา ด้วยการชี้นิ้วไปที่ “ผู้อุปถัมภ์อุ้มชูชาวอเมริกัน” ว่าเป็นพวกที่วางแผนชักใยอยู่เบื้องหลังการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินก้อนมหึมา 33,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัสเซียได้ใช้จ่ายไปเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเศรษฐกิจของยูเครนในวาระและในลักษณะต่างๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายตะวันตกกลับยังไม่ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้แก่ยูเครน เพื่อให้ประเทศนั้นสามารถเดินหน้าดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ นอกเหนือจากการหลอกล่อให้หลงใหลยึดติดอยู่ในการเมืองแบบคับแคบคิดเล็กคิดน้อย และการคอยให้คำมั่นสัญญาอย่างคุยโม้โอ้อวดแก่ระบอบปกครองใหม่ในกรุงเคียฟแล้ว สหรัฐฯก็ปฏิเสธมาโดยตลอดไม่ยอมเปิดกระเป๋าควักเงินออกมาค้ำจุนประคับประคองเศรษฐกิจของยูเครน
ไม่ใช่เป็นแค่การเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญโดดเด่นสะดุดตาที่สุดในการตั้งข้อสังเกตของปูตินคราวนี้ ยังไม่ใช่อยู่แค่ที่ตรงนี้ หากแต่อยู่ล้ำลึกลงไปอีก นั่นก็คือ ยูเครนเป็นเพียงอาการปรากฏอีกอย่างหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่อเมริกันวางแผนประสานงานชักใยขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศเพื่อนบ้านของตนทั้งหลาย บังเกิดความยุ่งยากสับสน ขณะที่ยูเครนคือประจักษ์พยานของการที่ฝ่ายตะวันตกมุ่งจ้องเล่นงานรัสเซีย วาระอันแท้จริงของฝ่ายตะวันตกในตลอดหลายสิบปีหลังๆ มานี้ มีความลึกซึ้งกว้างไกลยิ่งกว่านั้นมาก เพราะมันคือ “ความพยายามที่จะปิดล้อมจำกัดศักยภาพแห่งการเจริญเติบโตของรัสเซีย”
ในทางเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ปูตินแจกแจงก็คือการเปิดแบให้เห็นประเด็นปัญหาระดับแก่นๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก ซึ่งอยู่ในภาวะลำบากยุ่งยากแทบจะตลอดระยะเวลาร่วมเสี้ยวศตวรรษที่ผ่านมา เขาพูดอย่างไม่ไว้หน้าเกี่ยวกับการที่พวกหน่วยข่าวกรองของฝ่ายตะวันตกเข้าไปยุ่มย่ามก่อความวุ่นวายขึ้นในเชชเนีย (Chechnya) เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนพวกต้องการแบ่งแยกดินแดนในสาธารณรัฐปกครองตนเองของสหพันธรัฐรัสเซียแห่งนั้น ให้บังเกิดความหวังล้มๆ แล้งๆ ขึ้นมาว่า รัสเซียเองก็กำลังจะดำเนินไปตามรอยของ “สถานการณ์แห่งการแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และการล่มสลายของสหพันธรัฐอย่างที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวีย”
สิ่งที่ปรากฏออกมาจากคำปราศรัยของเขาคราวนี้ ก็คือ มอสโกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงไม่ยอมรับสิ่งที่สหรัฐฯบรรยายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในยูเครน และก็แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า รัสเซียไม่ได้ครั่นคร้ามระย่อต่อมาตรการแซงก์ชั่นลงโทษทั้งหลายของฝ่ายตะวันตก รวมทั้งยังเตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาอันยาวนานที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯจะตกอยู่ในความหนาวเหน็บยะเยือกเย็นชา
มาตรการลงโทษคว่ำบาตรนั้น ใช้ไม่ได้ผลหรอกกับชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่เฉกเช่นรัสเซีย ซึ่งเป็นทั้ง “ผู้ผลักดันกระบวนการโลกาภิวัตน์” (globalizer) ที่กระตือรือร้น, เป็นสมาชิกถาวรรายหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ, และเป็นประเทศซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรมนุษย์ สติปัญญา หรือทรัพยากรทางวัตถุ
แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงการประจันหน้าตรึงกำลังกันระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกเท่านั้นหรือ? ในสายตาของรัสเซียนั้น แท้ที่จริงแล้วมันเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองทีเดียว เป็นการต่อสู้ที่จะต้องเผชิญกับความโหดเหี้ยมทารุณและความลำบากยากเย็น ไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งที่ถูกรุกรานโดยฮิตเลอร์ “ผู้มุ่งหวังที่จะทำลายรัสเซีย และผลักดันเราให้ถอยกรูดออกไปจากดินแดนส่วนที่เลยล้ำจากเทือกเขาอูราล (Urals)” ปูตินกล่าวเตือนด้วยน้ำเสียงท้าทายว่า ยุทธศาสตร์ปิดล้อมขีดวงจำกัดเขตรัสเซียของฝ่ายตะวันตกเช่นนี้ ก็จะต้องพบกับชะตากรรมแห่งความปราชัยยับเยินอย่างเดียวกับการรุกรากของพวกนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า รัสเซียจะไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาดที่จะต้องถูกบงการจากมหาอำนาจผู้ครองฐานะเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจใดก็ตามที
หัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งซึ่งปูตินหยิบยกขึ้นมาพูดในครั้งนี้ ได้แก่ความพยายามของสหรัฐฯที่จะติดตั้งประจำการระบบป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งกำลังส่งผลในทางก่อกวนทำลายสมดุลทางยุทธศาสตร์ของพลังฝ่ายต่างๆ ในระดับโลกเวลานี้ ตลอดจนสั่นคลอนเสถียรภาพของโลก ปูตินตอกย้ำว่า รัสเซียจะไม่ตกลงไปในกับดักแห่งการแข่งขันด้านอาวุธกับสหรัฐฯ หากแต่จะใช้ศักยภาพของตนเพื่อค้นหา “หนทางออกที่เน้นการสร้างนวัตกรรม” ขึ้นมา ซึ่งจะ “เป็นหลักประกันอันน่าเชื่อถือและสามารถพึ่งพิงได้” สำหรับการป้องกันประเทศรัสเซียภายใต้สถานการณ์ใหม่ของโลก
มอสโกนั้นไม่คาดหวังอีกต่อไปแล้วว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯจะรักษาคำพูดของเขา และนำเอาประเด็นเรื่องระบบป้องกันขีปนาวุธนี้เข้าสู่โต๊ะเจรจาหารือกับรัสเซีย และนั่นจึงทำให้รัสเซียไม่มีหนทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากต้องหันไปหามาตรการตอบโต้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้แก่สหรัฐฯ ผู้ซึ่งกำลังพยายามมุ่งเสาะแสวงหา “ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์” และการมีฐานะทางทหารเหนือชั้นกว่ารัสเซีย
กล่าวในทางด้านนโยบายการต่างประเทศ ในท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้ รัสเซียยังมีทางเลือกอื่นๆ อย่างไรบ้าง? ปูตินให้คำตอบโดยพูดสรุปว่าจะเป็นทางเลือกซึ่งมุ่งเดินหน้าในช่องทางต่างๆ หลายๆ ช่องทางพร้อมๆ กันไป ประการแรกทีเดียว รัสเซียจะมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างเป็นอิสระชนิดที่กำลังกระทำอยู่ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและพิทักษ์ปกป้อง “ความแตกต่างหลากหลายของโลก” เอาไว้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายต่างๆ ของรัสเซียนั้น มุ่งหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นให้เกิดระเบียบโลกแบบที่มีขั้วอำนาจหลายขั้ว (multipolar world order) ขึ้นมา โดยระเบียบโลกดังกล่าวจะต้องยึดมั่นเคร่งครัดในหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ และก็เป็นการตอบโต้กับระเบียบโลกแบบที่สหรัฐฯเป็นผู้วางตัวเป็นเจ้าไปทั่วโลก
ประการที่สอง รัสเซียจะไม่ตกลงไปในกับดักของสงครามเย็นครั้งใหม่ และจะระมัดระวังป้องกันขัดขวางความพยายามของสหรัฐฯ “ที่จะสร้างม่านเหล็กอันใหม่ขึ้นมาปกคลุมรอบๆ รัสเซีย” นี่หมายถึงว่าจะต้องทำ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ รัสเซียจะไม่หันไปยึดถือลัทธิอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือบังเกิดสภาพความคิดจิตใจแบบเป็นศัตรู ไม่ว่าจะเป็นศัตรูต่อยุโรปหรือต่ออเมริกาก็ตามที และอย่างที่สอง รัสเซีย “จะใช้ความพยายามอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างเครือข่ายอันกว้างขวาง และพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนต่างๆ ขึ้นมาทั้งในโลกตะวันตกและในโลกตะวันออก”
แต่ภายในกรอบโครงโดยภาพรวมดังกล่าวนี้ รัสเซียจะรวมศูนย์ให้น้ำหนักไปที่การขยายการไปปรากฏตัวในภูมิภาคอย่างเช่น เอเชีย-แปซิฟิก, แอฟริกาและตะวันออกกลาง หรือ ละตินอเมริกา ทั้งนี้ปูตินกล่าวย้ำเป็นพิเศษไปที่เอเชีย-แปซิฟิก และนึกถึงจีนอยู่ในใจ ถึงแม้เขาจะมิได้เอ่ยอ้างอิงออกมาอย่างเป็นการเฉพาะเจาะจงก็ตาม
ยุโรปจะต้องหยุดยอมเป็นเบี้ยล่าง
คำถามข้อใหญ่ที่ปูตินไม่ได้ตั้งปุจฉาออกมาอย่างเปิดเผยทว่าแผ่ซ่านไปทั่วคำปราศรัยของเขาคราวนี้มีอยู่ว่า ทำไมทางฝ่ายสหรัฐฯจึงมีความตั้งใจที่จะต่อต้านรัสเซียเช่นนี้ขึ้นมา อะไรคือสาเหตุรากเหง้าของยุทธศาสตร์มุ่งต่อต้านคัดค้านรัสเซียของสหรัฐฯ? ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ยุทธศาสตร์ปิดล้อม” ดังกล่าว บังเกิดขึ้นมาตั้งแต่นมนานแล้วก่อนจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในยูเครนช่วงหลังๆ มานี้ อย่างที่ ปูติน ก็ได้ชี้เอาไว้ให้เห็น ยุทธศาสตร์นี้ของอเมริกาสามารถสาวย้อนกลับไปได้ถึงยุคเยลต์ซิน (Boris Yeltsin บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซียภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เขาดำรงตำแหน่งนี้ในระหว่างปี 1991-1999 จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของ วลาดิมีร์ ปูติน –หมายเหตุผู้แปล) ทั้งนี้ ปูตินดูจะหมายถึงการที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization หรือ NATO นาโต้) เริ่มต้นการแผ่ขยายตัวไปทางตะวันออก โดยรับเอาพวกชาติที่เคยสังกัดกับองค์การกติกาสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact) ในสมัยสงครามเย็น เข้ามาเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือทางทหารของฝ่ายตะวันตกแห่งนี้
หัวใจของสาเหตุรากเหง้าที่ทำให้เกิดยุทธศาสตร์การปิดล้อมนั้น อยู่ที่ว่ารัสเซียคือตัวอุปสรรคตัวใหญ่ ซึ่งกำลังขวางกั้นอยู่บนเส้นทางแห่งการเป็นเจ้าใหญ่นายโตระดับโลกของสหรัฐฯ ทั้งนี้มีแต่รัสเซียเท่านั้นซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสหรัฐฯในสมดุลทางยุทธศาสตร์ระดับโลก โดยสามารถสร้างความไม่สมหวังให้แก่ความทะเยอทะยานของอเมริกาในการเข้าครอบงำระเบียบโลกและระบบระหว่างประเทศแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความพยายามในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาของสหรัฐฯที่จะหาทางสถาปนา “ความเหนือล้ำในทางนิวเคลียร์” และเข้าครอบงำโลก ทำให้ต้องเกิดปะทะกับรัสเซียซึ่งกำลังฟื้นคืนขึ้นมาบนเวทีระดับโลกอีกครั้ง
ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯอยู่ในฐานะของมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงช่วงเสื่อมโทรม ดังนั้น ถ้าหากปราศจาก “ความเหนือล้ำในทางนิวเคลียร์” แล้ว อเมริกาก็ยิ่งจะต้องสูญเสียอิทธิพลของตนในเวทีระหว่างประเทศลงเรื่อยๆ และอยู่ในสภาพขาดไร้ศักยภาพมากขึ้นทุกขณะในการบังคับประกาศเจตนารมณ์ของตนให้ประชาคมโลกกระทำตาม แม้กระทั่งพวกประเทศเล็กๆ อย่าง อิรัก, ซีเรีย, อียิปต์, และเยเมน ในตะวันออกกลาง เวลานี้ยังกล้าที่จะท้าทายสหรัฐฯ ขณะที่ละตินอเมริกาไม่ใช่สนามเด็กเล่นหลังบ้านที่อเมริกาจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบอีกต่อไป สหรัฐฯยังถูกบังคับให้ต้องยอมเจรจากับพวกประเทศในแอฟริกา ส่วนยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชียที่มีการโหมประโคมกันเหลือเกิน ก็อยู่ในอาการโยกเยกโงนเงน ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯจึงอยู่ในสภาพที่เกิดความขัดแย้งภายในตัวเอง โดยไม่ปรารถนาเลยที่จะต้องเผชิญหน้ากับภาวะอิหลักอิเหลื่อ ซึ่งเพื่อความดำรงคงอยู่ของตนเองสหรัฐฯมีความจำเป็นจะต้องรอมชอมยอมรับให้ประเทศอื่นๆ กลายเป็นหุ้นส่วนที่มีฐานะเท่าเทียมกัน
สหรัฐฯนั้นพยายามดึงลากยุโรปให้เข้าไปร่วมหัวจมท้ายอยู่ใน “ปัญหารัสเซีย” ของสหรัฐฯเอง ความยุ่งเหยิงวุ่นวายในยูเครนคงจะต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะสะสางกันได้ และแต่ละคนคงได้แต่คาดเดาเอาว่าประเทศนี้ยังจะหลงเหลืออะไรอยู่บ้างในช่วงเวลาสองสามปีต่อจากนี้ ทว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นก็คือวอชิงตันกำลังหาทางดึงลากยุโรปให้ยังคง “ถูกล็อกอยู่ข้างในของปัญหา” ตราบเท่าที่วิกฤตการณ์ยูเครนยังคงดำเนินอยู่
ในคำปราศรัยของเขาคราวนี้ ปูตินแทบไม่ได้พูดอะไรที่เป็นการอ้างอิงถึงยุโรปโดยตรงเลย แต่ก็นั่นแหละ สิ่งที่เรียกว่ายุโรปในทุกวันนี้มีอะไรที่ควรแก่การกล่าวถึงอยู่บ้างล่ะ ยุโรปยังคงมีบุคลิกภาพของตนเองอยู่ไหม? ยุโรปยังคงมีปากมีเสียงอยู่ไหม? อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เป็นเรื่องดีเพียงประการเดียวที่ยังเหลืออยู่ในเวลานี้ ก็คือ ความหวังที่อ้อยอิ่งรอคอยกันมายาวนานแล้วว่า เมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งยุโรปที่ตกเป็นเบี้ยล่างมายาวนานเต็มทีนี้จะกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
ยุโรปกำลังสร้างความเสียหายให้แก่ตนเองในสถานการณ์ของการวางตัวเหินห่างบาดหมางกับรัสเซียในปัจจุบัน เมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งยุโรปอาจจะถูกบังคับให้ต้องคิดทบทวนกันใหม่ และเริ่มต้นที่จะยอมรับยอมเข้าใจว่ารัสเซียนั้นมีผลประโยชน์อันชอบธรรมอยู่ในยูเครน และการทำให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับมอสโกกลับเป็นปกติ คือผลประโยชน์แกนกลางของยุโรป เพราะมันก่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพขึ้นในภูมิภาค ประเด็นที่จะต้องมองให้เห็นก็คือ ยุโรปนั้นไม่เหมือนกับสหรัฐฯ สหรัฐฯนั้นไม่ได้มีการค้าหรือสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีค่าอะไรมากมายอยู่กับรัสเซีย ทว่าตลาดใหญ่ของรัสเซียกลับมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับยุโรป
มาถึงตอนนี้สหรัฐฯกำลังประสบความลำบากมากขึ้นทุกทีในการตะล่อมกดดันให้ยุโรปดำเนินการแซงก์ชั่นลงโทษรัสเซียเพิ่มขึ้นอีก แม้กระทั่งมาตรการลงโทษรัสเซียที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังมีการก่อกบฎเล็กๆ ขึ้นในยุโรปกลางแล้ว คงเป็นไปได้ยากมากที่ยุโรปจะถึงขั้นยอมจัดส่งอาวุธให้แก่ยูเครน และกระตุ้นยุยงให้เกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
ทว่าส่วนที่แย่ที่สุดก็คือ สหรัฐฯไม่ได้แสดงความโน้มเอียงใดๆ ให้เห็นเลยว่าจะยินยอมยกเลิกยุทธศาสตร์การปิดล้อมจำกัดเขตที่กระทำต่อรัสเซีย แม้กระทั่งหลังจากเกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” ขึ้นในทำเนียบขาวในปี 2017 แล้ว และคำปราศรัยของปูตินก็อยู่ในลักษณะที่มุ่งตระเตรียมประเทศชาติของเขาให้รับมือกับความหนาวเย็นยะเยือกอย่างยืดเยื้อในความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับโลกตะวันตก แนวคิดโดดเด่นที่สุดในคำปราศรัยคราวนี้ก็คือ รัสเซียควรที่จะผนึกความเข้มแข็งภายในของตนให้มั่นคงแน่นหนา เหมือนกับที่ได้เคยทำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เพื่อพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและมรดกทางอารยธรรมของตนเอง
ในช่วงตอนที่ชวนให้จดจำระลึกถึงช่วงหนึ่งของคำปราศรัยคราวนี้ ปูตินได้กล่าวตอกย้ำอย่างกระแทกใจว่า การต่อสู้ในเรื่องเกี่ยวกับยูเครนเป็นการต่อสู้ซึ่งลึกซึ้งถึงขั้นแตะต้องสัมผัสกับส่วนลึกภายในจิตวิญญาณของคนรัสเซียทีเดียว เขาบอกว่าแหลมไครเมียเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับประชาชาติรัสเซีย พอๆ กับที่พระวิหาร “เทมเปิลเมาต์” (Temple Mount) ในนครเยรูซาเลม เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ศรัทธานับถือศาสนาอิสลามและศาสนายิว “และเราจะพิจารณาเรื่องนี้ในลักษณะเช่นนี้เสมอไป” ปูตินย้ำ
ฝ่ายอเมริกันจะไม่รู้จักอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้เลยหรือ? พวกเขาย่อมจะต้องรู้จักจะต้องเข้าใจอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าหากว่าพวกเขาเข้าไปยุ่มย่ามก่อวิกฤตการณ์ขึ้นในยูเครนอย่างชนิดหุนหันพลันแล่นไม่ทันขบคิดให้รอบคอบ มันก็เป็นด้วยพวกเขามีวัตถุประสงค์อันชัดเจนที่จะทำให้รัสเซียจนมุม, ต้องการปิดล้อมรัสเซียด้วยแถวแนวของชาติเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตร, สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับยุโรป, และหาทางบังคับให้รัสเซียต้องยินยอมอ่อนน้อม
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตอาชีพประจำกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระหว่างช่วงเวลา 3 ทศวรรษอันยาวนานที่อยู่ในอาชีพนี้ของเขา ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำงานที่โต๊ะปากีสถาน, โต๊ะอัฟกานิสถาน, และโต๊ะอิหร่าน ของกระทรวงแห่งนั้น รวมทั้งการได้รับแต่งตั้งให้ไปประจำอยู่ในดินแดนของอดีตสหภาพโวเวียต ภายหลังออกจากตำแหน่งหน้าที่ทางการทูตแล้ว เขาหันมาเขียนหนังสือและมีผลงานปรากฏเป็นประจำอยู่ใน เอเชียไทมส์, เดอะฮินดู (The Hindu), เคคคันเฮรัลด์ (Deccan Herald) ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงนิวเดลี
Russia confronts US containment strategy
By M K Bhadrakumar
08/12/2014
การไปกล่าวคำปราศรัยประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีรัสเซีย ก็คือวาระโอกาสแห่งการแจกแจงสาธยายถึงนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐ สำหรับการแถลงประจำปีนี้ของ วลาดิมีร์ ปูติน ณ ท้องพระโรงเซนต์จอร์จ ของพระราชวังเครมลิน ต่อหน้าผู้ฟังอันคึกคักแน่นหนาถึง 1,000 คนซึ่งต่างเป็นชนชั้นนำของประเทศ ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษทีเดียว เนื่องจากสภาพแวดล้อมในเวลานี้จัดว่าผิดแผกกว่าธรรมดา ฝ่ายตะวันตกกำลังบังคับให้รัสเซียกดปุ่มรีเซต ทำการปรับเปลี่ยนตั้งเข็มทิศแห่งยุทธศาสตร์ระดับชาติทั้งหลายของตนเสียใหม่ นโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติต่างๆ ของรัสเซียกำลังยืนอยู่ตรงทางแยก และประเทศชาติจึงต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะเลือกเดินทางในหนทางไหน
การไปกล่าวคำปราศรัยประจำปีต่อรัฐสภา (Federal Assembly) ของประธานาธิบดีรัสเซีย ก็คือวาระโอกาสแห่งการแจกแจงสาธยายถึงนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐ สำหรับการแถลงประจำปีนี้ของ วลาดิมีร์ ปูติน ณ ท้องพระโรงเซนต์จอร์จ ของพระราชวังเครมลิน (the Kremlin’s St George Hall) ต่อหน้าผู้ฟังอันคึกคักแน่นหนาถึง 1,000 คนซึ่งต่างเป็นชนชั้นนำของประเทศ ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษ
แน่นอนทีเดียวว่าสภาพแวดล้อมในเวลานี้มีความผิดแผกกว่าธรรมดา ฝ่ายตะวันตกนั้นกำลังบังคับให้รัสเซียกดปุ่มรีเซต ทำการปรับเปลี่ยนตั้งเข็มทิศแห่งยุทธศาสตร์ระดับชาติทั้งหลายของตนเสียใหม่ ดังนั้นนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติต่างๆ ของรัสเซียจึงเสมือนกับกำลังยืนอยู่ตรงทางแยก และประเทศชาติต้องตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะเลือกเดินทางในหนทางไหน
ปกติแล้วในการกล่าวปราศรัยประจำปีเพื่อแสดงสถานะของประเทศและแถลงนโยบายประจำปีเช่นนี้ เรื่องนโยบายการต่างประเทศมักถูกจัดให้เป็นเรื่องลำดับรองๆ แต่ปรากฏว่าในคราวนี้กลับเป็นตรงกันข้าม โดย ปูติน กล่าวแจกแจงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ช่วงแรกๆ ทีเดียว ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะวาดทัศนียภาพอย่างกว้างไกล เพื่อปูทางให้มองเห็นกันอย่างชัดเจนแต่เนิ่นๆ ว่า ทำไมยุทธศาสตร์ระดับชาติต่างๆ ของรัสเซียจึงจำเป็นต้องทำการปรับเปลี่ยนยกเครื่องกันครั้งใหญ่
ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่ข้อสังเกตการณ์เหล่านี้ของปูติน มีจุดโฟกัสอยู่ที่พัฒนาการต่างๆ ในยูเครนตลอดช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ และเกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” ที่ได้รับการอุปถัมภ์หนุนส่งจากฝ่ายตะวันตก ซึ่งได้โค่นล้มรัฐบาลในกรุงเคียฟที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องชอบธรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ภายหลังที่ วิกตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) ประธานาธิบดียูเครนในตอนนั้น ได้ประกาศเลื่อนเวลาการลงนามใน “ข้อตกลงแม่บทเพื่อความร่วมมือกัน” (Association Agreement) กับสหภาพยุโรป (อียู) ออกไปก่อน
เมื่อมองย้อนหลังกลับไป เราจะพบว่าถึงแม้ฝ่ายตะวันตกจะได้ชัยชนะจากการเปลี่ยนแปลงในยูเครนคราวนั้น แต่ก็เป็นชัยชนะที่ต้องใช้ต้นทุนสูงเหลือเกินจนไม่น่าจะคุ้มกับกำไรที่ได้มา เพราะถึงแม้อียูประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบปกครองใหม่ที่เป็นบริวารของพวกเขาขึ้นในกรุงเคียฟ นำโดยตัวบุคคลซึ่งพวกเขาคัดเลือกมากับมือ และระบอบปกครองนี้ก็ได้ลงนามประกาศใช้ข้อตกลงแม่บทเพื่อความร่วมมือกันกับบรัสเซลส์ ฉบับที่ยานูโควิชได้ชะลอเอาไว้ ทว่ายูเครนเองกลับตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอย่างหนัก ถึงขนาดหมดหวังที่อียูจะสามารถบังคับให้นำเอาข้อตกลงฉบับนั้นมาปฏิบัติกันอย่างจริงจังได้เสียแล้ว มิหนำซ้ำบรัสเซลส์ยังเผชิญกับความเป็นจริงอันหนักแน่นที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างเสถียรภาพขึ้นมาในยูเครน ถ้าหากไม่หวนกลับไปต่อ “สายสะดือ” ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศที่แสนจะเคราะห์ร้ายอับโชคแห่งนี้ เข้ากับ “รัสเซียผู้เป็นมารดา”
ระหว่างการแถลงครั้งสำคัญคราวนี้ ปูตินใช้ท่าทีโผงผางตรงไปตรงมา ด้วยการชี้นิ้วไปที่ “ผู้อุปถัมภ์อุ้มชูชาวอเมริกัน” ว่าเป็นพวกที่วางแผนชักใยอยู่เบื้องหลังการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งในยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินก้อนมหึมา 33,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัสเซียได้ใช้จ่ายไปเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเศรษฐกิจของยูเครนในวาระและในลักษณะต่างๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายตะวันตกกลับยังไม่ได้หยิบยื่นความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจให้แก่ยูเครน เพื่อให้ประเทศนั้นสามารถเดินหน้าดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ นอกเหนือจากการหลอกล่อให้หลงใหลยึดติดอยู่ในการเมืองแบบคับแคบคิดเล็กคิดน้อย และการคอยให้คำมั่นสัญญาอย่างคุยโม้โอ้อวดแก่ระบอบปกครองใหม่ในกรุงเคียฟแล้ว สหรัฐฯก็ปฏิเสธมาโดยตลอดไม่ยอมเปิดกระเป๋าควักเงินออกมาค้ำจุนประคับประคองเศรษฐกิจของยูเครน
ไม่ใช่เป็นแค่การเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก
อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญโดดเด่นสะดุดตาที่สุดในการตั้งข้อสังเกตของปูตินคราวนี้ ยังไม่ใช่อยู่แค่ที่ตรงนี้ หากแต่อยู่ล้ำลึกลงไปอีก นั่นก็คือ ยูเครนเป็นเพียงอาการปรากฏอีกอย่างหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่อเมริกันวางแผนประสานงานชักใยขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศเพื่อนบ้านของตนทั้งหลาย บังเกิดความยุ่งยากสับสน ขณะที่ยูเครนคือประจักษ์พยานของการที่ฝ่ายตะวันตกมุ่งจ้องเล่นงานรัสเซีย วาระอันแท้จริงของฝ่ายตะวันตกในตลอดหลายสิบปีหลังๆ มานี้ มีความลึกซึ้งกว้างไกลยิ่งกว่านั้นมาก เพราะมันคือ “ความพยายามที่จะปิดล้อมจำกัดศักยภาพแห่งการเจริญเติบโตของรัสเซีย”
ในทางเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ปูตินแจกแจงก็คือการเปิดแบให้เห็นประเด็นปัญหาระดับแก่นๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก ซึ่งอยู่ในภาวะลำบากยุ่งยากแทบจะตลอดระยะเวลาร่วมเสี้ยวศตวรรษที่ผ่านมา เขาพูดอย่างไม่ไว้หน้าเกี่ยวกับการที่พวกหน่วยข่าวกรองของฝ่ายตะวันตกเข้าไปยุ่มย่ามก่อความวุ่นวายขึ้นในเชชเนีย (Chechnya) เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนพวกต้องการแบ่งแยกดินแดนในสาธารณรัฐปกครองตนเองของสหพันธรัฐรัสเซียแห่งนั้น ให้บังเกิดความหวังล้มๆ แล้งๆ ขึ้นมาว่า รัสเซียเองก็กำลังจะดำเนินไปตามรอยของ “สถานการณ์แห่งการแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ และการล่มสลายของสหพันธรัฐอย่างที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวีย”
สิ่งที่ปรากฏออกมาจากคำปราศรัยของเขาคราวนี้ ก็คือ มอสโกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงไม่ยอมรับสิ่งที่สหรัฐฯบรรยายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในยูเครน และก็แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า รัสเซียไม่ได้ครั่นคร้ามระย่อต่อมาตรการแซงก์ชั่นลงโทษทั้งหลายของฝ่ายตะวันตก รวมทั้งยังเตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาอันยาวนานที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯจะตกอยู่ในความหนาวเหน็บยะเยือกเย็นชา
มาตรการลงโทษคว่ำบาตรนั้น ใช้ไม่ได้ผลหรอกกับชาติมหาอำนาจขนาดใหญ่เฉกเช่นรัสเซีย ซึ่งเป็นทั้ง “ผู้ผลักดันกระบวนการโลกาภิวัตน์” (globalizer) ที่กระตือรือร้น, เป็นสมาชิกถาวรรายหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ, และเป็นประเทศซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรมนุษย์ สติปัญญา หรือทรัพยากรทางวัตถุ
แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงการประจันหน้าตรึงกำลังกันระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกเท่านั้นหรือ? ในสายตาของรัสเซียนั้น แท้ที่จริงแล้วมันเป็นการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเองทีเดียว เป็นการต่อสู้ที่จะต้องเผชิญกับความโหดเหี้ยมทารุณและความลำบากยากเย็น ไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งที่ถูกรุกรานโดยฮิตเลอร์ “ผู้มุ่งหวังที่จะทำลายรัสเซีย และผลักดันเราให้ถอยกรูดออกไปจากดินแดนส่วนที่เลยล้ำจากเทือกเขาอูราล (Urals)” ปูตินกล่าวเตือนด้วยน้ำเสียงท้าทายว่า ยุทธศาสตร์ปิดล้อมขีดวงจำกัดเขตรัสเซียของฝ่ายตะวันตกเช่นนี้ ก็จะต้องพบกับชะตากรรมแห่งความปราชัยยับเยินอย่างเดียวกับการรุกรากของพวกนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายืนยันซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า รัสเซียจะไม่ยอมรับอย่างเด็ดขาดที่จะต้องถูกบงการจากมหาอำนาจผู้ครองฐานะเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจใดก็ตามที
หัวข้อสำคัญหัวข้อหนึ่งซึ่งปูตินหยิบยกขึ้นมาพูดในครั้งนี้ ได้แก่ความพยายามของสหรัฐฯที่จะติดตั้งประจำการระบบป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งกำลังส่งผลในทางก่อกวนทำลายสมดุลทางยุทธศาสตร์ของพลังฝ่ายต่างๆ ในระดับโลกเวลานี้ ตลอดจนสั่นคลอนเสถียรภาพของโลก ปูตินตอกย้ำว่า รัสเซียจะไม่ตกลงไปในกับดักแห่งการแข่งขันด้านอาวุธกับสหรัฐฯ หากแต่จะใช้ศักยภาพของตนเพื่อค้นหา “หนทางออกที่เน้นการสร้างนวัตกรรม” ขึ้นมา ซึ่งจะ “เป็นหลักประกันอันน่าเชื่อถือและสามารถพึ่งพิงได้” สำหรับการป้องกันประเทศรัสเซียภายใต้สถานการณ์ใหม่ของโลก
มอสโกนั้นไม่คาดหวังอีกต่อไปแล้วว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯจะรักษาคำพูดของเขา และนำเอาประเด็นเรื่องระบบป้องกันขีปนาวุธนี้เข้าสู่โต๊ะเจรจาหารือกับรัสเซีย และนั่นจึงทำให้รัสเซียไม่มีหนทางเลือกอื่นอีกแล้ว นอกจากต้องหันไปหามาตรการตอบโต้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้แก่สหรัฐฯ ผู้ซึ่งกำลังพยายามมุ่งเสาะแสวงหา “ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์” และการมีฐานะทางทหารเหนือชั้นกว่ารัสเซีย
กล่าวในทางด้านนโยบายการต่างประเทศ ในท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้ รัสเซียยังมีทางเลือกอื่นๆ อย่างไรบ้าง? ปูตินให้คำตอบโดยพูดสรุปว่าจะเป็นทางเลือกซึ่งมุ่งเดินหน้าในช่องทางต่างๆ หลายๆ ช่องทางพร้อมๆ กันไป ประการแรกทีเดียว รัสเซียจะมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศอย่างเป็นอิสระชนิดที่กำลังกระทำอยู่ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมและพิทักษ์ปกป้อง “ความแตกต่างหลากหลายของโลก” เอาไว้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายต่างๆ ของรัสเซียนั้น มุ่งหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นให้เกิดระเบียบโลกแบบที่มีขั้วอำนาจหลายขั้ว (multipolar world order) ขึ้นมา โดยระเบียบโลกดังกล่าวจะต้องยึดมั่นเคร่งครัดในหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ และก็เป็นการตอบโต้กับระเบียบโลกแบบที่สหรัฐฯเป็นผู้วางตัวเป็นเจ้าไปทั่วโลก
ประการที่สอง รัสเซียจะไม่ตกลงไปในกับดักของสงครามเย็นครั้งใหม่ และจะระมัดระวังป้องกันขัดขวางความพยายามของสหรัฐฯ “ที่จะสร้างม่านเหล็กอันใหม่ขึ้นมาปกคลุมรอบๆ รัสเซีย” นี่หมายถึงว่าจะต้องทำ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ รัสเซียจะไม่หันไปยึดถือลัทธิอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือบังเกิดสภาพความคิดจิตใจแบบเป็นศัตรู ไม่ว่าจะเป็นศัตรูต่อยุโรปหรือต่ออเมริกาก็ตามที และอย่างที่สอง รัสเซีย “จะใช้ความพยายามอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างเครือข่ายอันกว้างขวาง และพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนต่างๆ ขึ้นมาทั้งในโลกตะวันตกและในโลกตะวันออก”
แต่ภายในกรอบโครงโดยภาพรวมดังกล่าวนี้ รัสเซียจะรวมศูนย์ให้น้ำหนักไปที่การขยายการไปปรากฏตัวในภูมิภาคอย่างเช่น เอเชีย-แปซิฟิก, แอฟริกาและตะวันออกกลาง หรือ ละตินอเมริกา ทั้งนี้ปูตินกล่าวย้ำเป็นพิเศษไปที่เอเชีย-แปซิฟิก และนึกถึงจีนอยู่ในใจ ถึงแม้เขาจะมิได้เอ่ยอ้างอิงออกมาอย่างเป็นการเฉพาะเจาะจงก็ตาม
ยุโรปจะต้องหยุดยอมเป็นเบี้ยล่าง
คำถามข้อใหญ่ที่ปูตินไม่ได้ตั้งปุจฉาออกมาอย่างเปิดเผยทว่าแผ่ซ่านไปทั่วคำปราศรัยของเขาคราวนี้มีอยู่ว่า ทำไมทางฝ่ายสหรัฐฯจึงมีความตั้งใจที่จะต่อต้านรัสเซียเช่นนี้ขึ้นมา อะไรคือสาเหตุรากเหง้าของยุทธศาสตร์มุ่งต่อต้านคัดค้านรัสเซียของสหรัฐฯ? ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “ยุทธศาสตร์ปิดล้อม” ดังกล่าว บังเกิดขึ้นมาตั้งแต่นมนานแล้วก่อนจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในยูเครนช่วงหลังๆ มานี้ อย่างที่ ปูติน ก็ได้ชี้เอาไว้ให้เห็น ยุทธศาสตร์นี้ของอเมริกาสามารถสาวย้อนกลับไปได้ถึงยุคเยลต์ซิน (Boris Yeltsin บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซียภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เขาดำรงตำแหน่งนี้ในระหว่างปี 1991-1999 จากนั้นจึงเข้าสู่ยุคของ วลาดิมีร์ ปูติน –หมายเหตุผู้แปล) ทั้งนี้ ปูตินดูจะหมายถึงการที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization หรือ NATO นาโต้) เริ่มต้นการแผ่ขยายตัวไปทางตะวันออก โดยรับเอาพวกชาติที่เคยสังกัดกับองค์การกติกาสัญญาวอร์ซอว์ (Warsaw Pact) ในสมัยสงครามเย็น เข้ามาเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือทางทหารของฝ่ายตะวันตกแห่งนี้
หัวใจของสาเหตุรากเหง้าที่ทำให้เกิดยุทธศาสตร์การปิดล้อมนั้น อยู่ที่ว่ารัสเซียคือตัวอุปสรรคตัวใหญ่ ซึ่งกำลังขวางกั้นอยู่บนเส้นทางแห่งการเป็นเจ้าใหญ่นายโตระดับโลกของสหรัฐฯ ทั้งนี้มีแต่รัสเซียเท่านั้นซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสหรัฐฯในสมดุลทางยุทธศาสตร์ระดับโลก โดยสามารถสร้างความไม่สมหวังให้แก่ความทะเยอทะยานของอเมริกาในการเข้าครอบงำระเบียบโลกและระบบระหว่างประเทศแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความพยายามในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาของสหรัฐฯที่จะหาทางสถาปนา “ความเหนือล้ำในทางนิวเคลียร์” และเข้าครอบงำโลก ทำให้ต้องเกิดปะทะกับรัสเซียซึ่งกำลังฟื้นคืนขึ้นมาบนเวทีระดับโลกอีกครั้ง
ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯอยู่ในฐานะของมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงช่วงเสื่อมโทรม ดังนั้น ถ้าหากปราศจาก “ความเหนือล้ำในทางนิวเคลียร์” แล้ว อเมริกาก็ยิ่งจะต้องสูญเสียอิทธิพลของตนในเวทีระหว่างประเทศลงเรื่อยๆ และอยู่ในสภาพขาดไร้ศักยภาพมากขึ้นทุกขณะในการบังคับประกาศเจตนารมณ์ของตนให้ประชาคมโลกกระทำตาม แม้กระทั่งพวกประเทศเล็กๆ อย่าง อิรัก, ซีเรีย, อียิปต์, และเยเมน ในตะวันออกกลาง เวลานี้ยังกล้าที่จะท้าทายสหรัฐฯ ขณะที่ละตินอเมริกาไม่ใช่สนามเด็กเล่นหลังบ้านที่อเมริกาจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบอีกต่อไป สหรัฐฯยังถูกบังคับให้ต้องยอมเจรจากับพวกประเทศในแอฟริกา ส่วนยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชียที่มีการโหมประโคมกันเหลือเกิน ก็อยู่ในอาการโยกเยกโงนเงน ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯจึงอยู่ในสภาพที่เกิดความขัดแย้งภายในตัวเอง โดยไม่ปรารถนาเลยที่จะต้องเผชิญหน้ากับภาวะอิหลักอิเหลื่อ ซึ่งเพื่อความดำรงคงอยู่ของตนเองสหรัฐฯมีความจำเป็นจะต้องรอมชอมยอมรับให้ประเทศอื่นๆ กลายเป็นหุ้นส่วนที่มีฐานะเท่าเทียมกัน
สหรัฐฯนั้นพยายามดึงลากยุโรปให้เข้าไปร่วมหัวจมท้ายอยู่ใน “ปัญหารัสเซีย” ของสหรัฐฯเอง ความยุ่งเหยิงวุ่นวายในยูเครนคงจะต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะสะสางกันได้ และแต่ละคนคงได้แต่คาดเดาเอาว่าประเทศนี้ยังจะหลงเหลืออะไรอยู่บ้างในช่วงเวลาสองสามปีต่อจากนี้ ทว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน นั่นก็คือวอชิงตันกำลังหาทางดึงลากยุโรปให้ยังคง “ถูกล็อกอยู่ข้างในของปัญหา” ตราบเท่าที่วิกฤตการณ์ยูเครนยังคงดำเนินอยู่
ในคำปราศรัยของเขาคราวนี้ ปูตินแทบไม่ได้พูดอะไรที่เป็นการอ้างอิงถึงยุโรปโดยตรงเลย แต่ก็นั่นแหละ สิ่งที่เรียกว่ายุโรปในทุกวันนี้มีอะไรที่ควรแก่การกล่าวถึงอยู่บ้างล่ะ ยุโรปยังคงมีบุคลิกภาพของตนเองอยู่ไหม? ยุโรปยังคงมีปากมีเสียงอยู่ไหม? อันที่จริงแล้ว สิ่งที่เป็นเรื่องดีเพียงประการเดียวที่ยังเหลืออยู่ในเวลานี้ ก็คือ ความหวังที่อ้อยอิ่งรอคอยกันมายาวนานแล้วว่า เมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งยุโรปที่ตกเป็นเบี้ยล่างมายาวนานเต็มทีนี้จะกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
ยุโรปกำลังสร้างความเสียหายให้แก่ตนเองในสถานการณ์ของการวางตัวเหินห่างบาดหมางกับรัสเซียในปัจจุบัน เมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งยุโรปอาจจะถูกบังคับให้ต้องคิดทบทวนกันใหม่ และเริ่มต้นที่จะยอมรับยอมเข้าใจว่ารัสเซียนั้นมีผลประโยชน์อันชอบธรรมอยู่ในยูเครน และการทำให้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับมอสโกกลับเป็นปกติ คือผลประโยชน์แกนกลางของยุโรป เพราะมันก่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพขึ้นในภูมิภาค ประเด็นที่จะต้องมองให้เห็นก็คือ ยุโรปนั้นไม่เหมือนกับสหรัฐฯ สหรัฐฯนั้นไม่ได้มีการค้าหรือสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีค่าอะไรมากมายอยู่กับรัสเซีย ทว่าตลาดใหญ่ของรัสเซียกลับมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับยุโรป
มาถึงตอนนี้สหรัฐฯกำลังประสบความลำบากมากขึ้นทุกทีในการตะล่อมกดดันให้ยุโรปดำเนินการแซงก์ชั่นลงโทษรัสเซียเพิ่มขึ้นอีก แม้กระทั่งมาตรการลงโทษรัสเซียที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ก็ยังมีการก่อกบฎเล็กๆ ขึ้นในยุโรปกลางแล้ว คงเป็นไปได้ยากมากที่ยุโรปจะถึงขั้นยอมจัดส่งอาวุธให้แก่ยูเครน และกระตุ้นยุยงให้เกิดสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
ทว่าส่วนที่แย่ที่สุดก็คือ สหรัฐฯไม่ได้แสดงความโน้มเอียงใดๆ ให้เห็นเลยว่าจะยินยอมยกเลิกยุทธศาสตร์การปิดล้อมจำกัดเขตที่กระทำต่อรัสเซีย แม้กระทั่งหลังจากเกิด “การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครอง” ขึ้นในทำเนียบขาวในปี 2017 แล้ว และคำปราศรัยของปูตินก็อยู่ในลักษณะที่มุ่งตระเตรียมประเทศชาติของเขาให้รับมือกับความหนาวเย็นยะเยือกอย่างยืดเยื้อในความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับโลกตะวันตก แนวคิดโดดเด่นที่สุดในคำปราศรัยคราวนี้ก็คือ รัสเซียควรที่จะผนึกความเข้มแข็งภายในของตนให้มั่นคงแน่นหนา เหมือนกับที่ได้เคยทำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เพื่อพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและมรดกทางอารยธรรมของตนเอง
ในช่วงตอนที่ชวนให้จดจำระลึกถึงช่วงหนึ่งของคำปราศรัยคราวนี้ ปูตินได้กล่าวตอกย้ำอย่างกระแทกใจว่า การต่อสู้ในเรื่องเกี่ยวกับยูเครนเป็นการต่อสู้ซึ่งลึกซึ้งถึงขั้นแตะต้องสัมผัสกับส่วนลึกภายในจิตวิญญาณของคนรัสเซียทีเดียว เขาบอกว่าแหลมไครเมียเป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับประชาชาติรัสเซีย พอๆ กับที่พระวิหาร “เทมเปิลเมาต์” (Temple Mount) ในนครเยรูซาเลม เป็นดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ศรัทธานับถือศาสนาอิสลามและศาสนายิว “และเราจะพิจารณาเรื่องนี้ในลักษณะเช่นนี้เสมอไป” ปูตินย้ำ
ฝ่ายอเมริกันจะไม่รู้จักอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้เลยหรือ? พวกเขาย่อมจะต้องรู้จักจะต้องเข้าใจอย่างแน่นอนอยู่แล้ว ถ้าหากว่าพวกเขาเข้าไปยุ่มย่ามก่อวิกฤตการณ์ขึ้นในยูเครนอย่างชนิดหุนหันพลันแล่นไม่ทันขบคิดให้รอบคอบ มันก็เป็นด้วยพวกเขามีวัตถุประสงค์อันชัดเจนที่จะทำให้รัสเซียจนมุม, ต้องการปิดล้อมรัสเซียด้วยแถวแนวของชาติเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตร, สร้างความยุ่งยากสับสนให้แก่ความสัมพันธ์ที่รัสเซียมีอยู่กับยุโรป, และหาทางบังคับให้รัสเซียต้องยินยอมอ่อนน้อม
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตอาชีพประจำกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ระหว่างช่วงเวลา 3 ทศวรรษอันยาวนานที่อยู่ในอาชีพนี้ของเขา ส่วนใหญ่แล้วเป็นการทำงานที่โต๊ะปากีสถาน, โต๊ะอัฟกานิสถาน, และโต๊ะอิหร่าน ของกระทรวงแห่งนั้น รวมทั้งการได้รับแต่งตั้งให้ไปประจำอยู่ในดินแดนของอดีตสหภาพโวเวียต ภายหลังออกจากตำแหน่งหน้าที่ทางการทูตแล้ว เขาหันมาเขียนหนังสือและมีผลงานปรากฏเป็นประจำอยู่ใน เอเชียไทมส์, เดอะฮินดู (The Hindu), เคคคันเฮรัลด์ (Deccan Herald) ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงนิวเดลี