รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่สอบสวนรัสเซียคุมตัวรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อเล็กไซ อัลยูคาเยฟ และเตรียมตั้งข้อหารับสินบนที่พัวพันกับการซื้อขายหุ้นมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ของรัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ รอสเนฟต์ คาดคดีนี้อาจสะเทือนถึงเหล่าบริวารที่รายล้อมประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน และเป็นหลักฐานฟ้องศึกชิงอำนาจในเครมลิน
อัลยูคาเยฟ นักวิชาการวัย 60 ปีที่ผันตัวมาควบคุมกระทรวงที่ดูแลการขายกิจการของรัฐ ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัสเซียที่ถูกควบคุมตัวขณะดำรงตำแหน่งนับจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991
สถานีทีวีของรัฐประโคมข่าวทันทีว่า เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล ขณะเดียวกัน นี่อาจเป็นหลักฐานบ่งชี้การต่อสู้ของผู้มีอำนาจระดับสูงสุด และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2018
คณะกรรมการสอบสวน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบอาชญากรรมร้ายแรงแถลงในวันอังคาร (15) ว่าอัลยูคาเยฟเรียกรับสินบน 2 ล้านดอลลาร์จากรอสเนฟต์ แลกเปลี่ยนกับการอนุมัติการซื้อหุ้นในแบชเน็ตฟ์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันขนาดกลาง และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการตั้งข้อหากับรัฐมนตรีเศรษฐกิจผู้นี้
แหล่งข่าวในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า โทรศัพท์ของอัลยูคาเยฟถูกดักฟังเช่นเดียวกับอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่สอบสวนได้จัดฉากล่อซื้อโดยมีการมอบสินบนตามที่กล่าวหาเมื่อวันจันทร์ (14)
ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกวังเครมลินเผยว่า ประธานาธิบดีปูตินได้รับแจ้งกรณีการสอบสวนนี้แล้ว ซึ่งถือเป็นข้อกล่าวหาร้ายแรงที่สมควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณาคดี แต่ระบุไม่รู้ว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ต้องมีการตรวจสอบข้อตกลงการซื้อแบชเนฟต์หรือไม่
แหล่งข่าวที่รู้เห็นการทำข้อตกลงนี้ กับแหล่งข่าวในรัฐบาลเผยว่า การซื้อกิจการแบชเนฟต์ของรอสเนฟต์เป็นจุดโฟกัสของศึกชิงอำนาจระหว่างสองฝ่ายในเครมลิน
อิกอร์ เซชิน ประธานรอสเนฟต์ที่เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของรัสเซีย และยังเป็นคนใกล้ชิดของปูติน พยายามล็อบบี้อย่างหนักเพื่อให้รัฐบาลอนุมัติการซื้อแบชเนฟต์
ทว่า ข้อตกลงนี้ถูกคัดค้านเต็มที่จากทีมเศรษฐกิจเสรีนิยมในรัฐบาลที่บางคนมีสายสัมพันธ์กับนายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ ที่เชื่อว่าควรขายแบชเนฟต์ให้นักลงทุนเอกชนมากกว่า
แรกทีเดียวอัลยูคาเฟก็คัดค้านการขายแบชเนสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุดของรัฐที่ถูกนำออกแปรรูปในช่วงหลายปีมานี้ แต่สุดท้ายก็อนุมัติข้อตกลงขายให้รอสต์เนฟต์
อเล็กซานเดอร์ โชคิน ประธานสหภาพนักอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรัสเซีย เผยว่า ตนสงสัยในความถูกต้องและตรรกะในการกล่าวหาอัลยูคาเยฟ เนื่องจากมีฉันทามติอย่างกว้างขวางว่า รอสเนฟต์ซื้อหุ้นแบชเนฟต์ในราคาตลาด จึงค่อนข้างแปลกที่มีการให้สินบนสำหรับราคาที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้ว โชคินสำทับกับเว็บข่าวออนไลน์ Gazeta.ru ว่าเรื่องนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัฐบาล
ทางด้านสำนักนายกรัฐมนตรีรัสเซียแถลงว่า นายกรัฐมนตรีอยากให้มีการสอบสวนคดีนี้อย่างรอบคอบที่สุด
ขณะเดียวกัน มิคาอิล อิออนต์เยฟ โฆษกรอสเนฟต์เผยว่า ข้อตกลงซื้อแบชเนฟต์โปร่งใสตรงไปตรงมา บริษัทจึงไม่คิดว่า มีความเสี่ยงอย่างใด
ทั้งนี้ อัลยูคาเยฟเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจนับจากเดือนมิถุนายน 2013 แต่ไม่ได้เป็นคนวงในรอบตัวปูตินที่ต้องการให้รัฐบาลมีบทบาทในการควบคุมเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งไม่ได้เป็นสมาชิกนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมในรัฐบาล แต่ใกล้ชิดกับ อังเดร คอสติน ซึ่งเป็นผู้ทรงอิทธิพลและเป็นประธานวีทีบี ธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของรัฐบาลรัสเซีย และอัลยูคาเยฟยังเป็นประธานคณะกรรมการกำกับดูแลวีทีบี