เอเอฟพี - บัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความเชื่อมั่นวานนี้ (11 พ.ย.) ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะลดทอนความก้าวร้าวที่เคยใช้หาเสียงเลือกตั้ง และหันมาร่วมมือกับนานาชาติเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่น ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
บัน ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า ตนอยากจะมีโอกาสพบว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ เพื่ออธิบายว่าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดหวังให้รัฐบาลสหรัฐฯ “ทำงานเพื่อมนุษยชาติ” ต่อไปอย่างไร
มหาเศรษฐีปากเปราะซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันสร้างปรากฏการณ์ช็อกโลกด้วยการเอาชนะตัวเต็งอย่าง ฮิลลารี คลินตัน คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ มาครองได้แบบหักปากกาเซียน ทว่านโยบายต่างๆ ที่ ทรัมป์ เคยหาเสียงเอาไว้กลับสร้างความกังวลอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสานสัมพันธ์แนบชิดกับรัสเซีย, การถอนตัวจากข้อตกลงภูมิอากาศปารีส, การขอให้พันธมิตรทางทหารของสหรัฐฯ รู้จักพึ่งพาตนเองมากขึ้น รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับเงินอุดหนุนที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายให้แก่ยูเอ็น
“นี่คือสิ่งที่เขาเคยพูดเอาไว้ตอนหาเสียง” บัน ให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น
“แต่เวลานี้การเลือกตั้งได้ผ่านไปแล้ว และคุณทรัมป์ได้แต่งตั้งคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและบุคลากรที่มีทั้งวิสัยทัศน์และความเชี่ยวชาญ ผมเชื่อว่าสหรัฐฯ จะยังคงบทบาทผู้นำได้ต่อไป”
ยูเอ็นแถลงว่า บัน ได้สนทนากับ ทรัมป์ ทางโทรศัพท์เมื่อบ่ายวันศุกร์ (11) และทั้งคู่ก็รับปากว่าจะมีการหารืออย่างสม่ำเสมอ
หลังปฏิบัติหน้าที่นักการทูตสูงสุดของโลกมานานถึง 10 ปีเต็ม บัน วัย 72 ปี จะพ้นตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็นในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ในขณะที่ข้อตกลงภูมิอากาศปารีสซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขายังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง
ทรัมป์ เคยพูดขณะหาเสียงว่า “ภาวะโลกร้อน” เป็นคำขู่ที่ “จีน” กุขึ้น และหากตนได้เป็นประธานาธิบดีก็จะเพิกถอนคำมั่นสัญญาที่สหรัฐฯ เคยให้ไว้เกี่ยวกับการลดปลดปล่อยก๊าซเรือกระจก รวมถึงการให้ทุนสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ในระดับนานาชาติ
“เขาเคยพูดอะไรหลายอย่างที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกกังวล แต่ผมมั่นใจว่าคุณทรัมป์จะเข้าใจถึงความสำคัญ ความร้ายแรง และความเร่งด่วนของปัญหาเหล่านี้” บัน กล่าว
“ตำแหน่งประธานาธิบดีอาจมีความสำคัญก็จริง แต่มวลมนุษยชาติและชีวิตของพวกเราทุกคน รวมถึงโลกใบนี้ คือสิ่งที่จะต้องดำรงอยู่ตลอดไป”
บัน ระบุด้วยว่า ประชาชนในสหรัฐฯ และทุกประเทศทั่วโลกต่างเห็นพ้องว่าจะต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของปัญหาโลกร้อน และหาก ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงภูมิอากาศปารีส ก็จะเป็นการกระทำที่ขาดความยับยั้งชั่งใจเกินไป
“ภาคธุรกิจต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันเต็มที่ ภาคประชาสังคมก็ให้ความร่วมมือเช่นกัน แล้วคนๆ เดียวจะมาเปลี่ยนแปลงกระแสที่ยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างไร” บัน ตั้งคำถาม