xs
xsm
sm
md
lg

‘ตัวเก็ง’ รัฐมนตรี-จนท.ตำแหน่งใหญ่ ในรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ - แวดวงการเมืองในกรุงวอชิงตัน กำลังสนุกกับเกมการทายทักคาดเดาว่าตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะบริหารของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะตกเป็นของใคร

ในคำปราศรัยประกาศชัยชนะของเขา ว่าที่ประธานาธิบดีสังกัดพรรครีพับลิกันผู้นี้ ได้โปรยปรายคำยกย่องชมเชยอย่างฟุ่มเฟือย ให้แก่พวกผู้จงรักภักดีที่เป็นตัวทำงานให้แก่เขาจำนวนหนึ่ง และคนเหล่านี้ก็ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าจะได้นั่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเขา

อันที่จริงพวกผู้ช่วยของทรัมป์ได้ทำการแจกจ่ายรายชื่อผู้ที่เป็นตัวเก็ง ตั้งแต่ในวันท้ายๆ ของการแข่งขันช่วงชิงทำเนียบขาวแล้วด้วยซ้ำ

ต่อไปนี้คือบุคคลบางคนซึ่งเป็นที่คาดเก็งกันว่าน่าจะได้รับแต่งตั้งให้รับตำแหน่งสำคัญทางฝ่ายบริหารใน “ทีมทรัมป์”

**นิวต์ กิงกริช (Newt Gingrich) - รัฐมนตรีต่างประเทศ**

นักอนุรักษนิยมผู้นิยมการต่อสู้, ผู้สนับสนุนทรัมป์มาตั้งแต่ต้นๆ จนกระทั่งติดอยู่ในชอร์ตลิสต์ของผู้ที่อาจลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดีเคียงคู่กับเขาผู้นี้ ได้รับการระบุคาดการณ์ว่าจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนต่อไป ซึ่งก็คือเป็นนักการทูตระดับท็อปของอเมริกา

เมื่อตอนที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในปี 1994 นั้น กิงกริชเป็นเสนาธิการใหญ่ซึ่งวางแผนจนทำให้พรรครีพับลิกันชนะงดงามในการเลือกตั้ง จนกระทั่งสามารถชิงฐานะเสียงข้างมากในสภาล่างจากพรรคเดโมแครตได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี อดีตนักนิติบัญญัติจากรัฐจอร์เจียวัย 73 ปีผู้นี้ ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานสภาล่างด้วยความมัวหมองเพราะพฤติการณ์ละเมิดจริยธรรม

กิงกริชเคยลงแข่งขันเพื่อเป็นผู้สมัครของรีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2011 ทว่าประสบความล้มเหลว

**รูดี จูเลียนี (Rudy Giuliani) - รัฐมนตรียุติธรรม**

จูเลียนีเป็นหนึ่งในผู้ทำหน้าที่ปากเสียงให้ทรัมป์อย่างแข็งขันกระตือรือร้นที่สุด เวลานี้เขาถูกอ้างอิงว่ามีโอกาสสูงที่จะขึ้นเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ซึ่งในระบบของสหรัฐฯแล้วหมายถึงการทำหน้าที่เป็นอัยการสูงสุดของอเมริกาด้วย

เหตุการณ์วินาศกรรม 9 กันยายน 2001 เกิดขึ้นในตอนที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก และเขาก็กลายเป็นหน้าตาที่แสดงออกซึ่งความไม่ยอมจำนนและความยืดหยุ่นฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ของมหานครแห่งนี้ ท่ามกลางเศษปรักหักพังของอาคารแฝด “เวิลด์เทรดเซนเตอร์”

จูเลียนียังเป็นผู้ที่สั่งการให้สำนักงานตำรวจนครนิวยอร์ก (เอ็นวายพีดี) ใช้นโยบาย “หยุดและค้นตัวอย่างรวดเร็ว” (stop-and-frisk) ซึ่งพวกนักวิจารณ์ติเตียนว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางเชื้อชาติ (racial profiling)

ในฐานะที่ทรัมป์วางจุดยืนของตนเองว่าเป็นผู้สมัครที่ต้องการสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม เขาจึงยกย่องเชิดชูยุทธวิธีเช่นนี้เป็นอย่างสูง

จูเลียนี ซึ่งเคยเป็นอดีตอัยการนิวยอร์กด้วย ได้เคยลงแข่งขันเพื่อเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันในปี 2008 ทว่าต้องยอมถอนตัวหลังได้รับคะแนนนิยมตามห่าง จอห์น แมคเคน และ มิตต์ รอมนีย์ ในการเลือกตั้งขั้นต้น

**เรนซ์ พรีบัส (Reince Priebus) - ประธานเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว**

พรีบัสซึ่งปัจจุบันอายุ 44 ปี และหน้าตาอ่อนกว่าอายุ ได้รับการระบุคาดเก็งอย่างกว้างขวางว่าจะกลายเป็นที่ปรึกษาใหญ่ในทำเนียบขาวของทรัมป์

ในช่วงการรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา พรีบัสซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างทรัมป์ กับบรรดาขาใหญ่ภายในรีพับลิกัน ซึ่งรู้สึกอับอายจากการได้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งก็คือผู้ถือธงนำของพรรคที่มีลักษณะแบบนี้

พรีบัสนั้นเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับ พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยที่เป็นชาวมลรัฐวิสคอนซินเหมือนกัน และนี่อาจทำให้เขากลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเบิกช่องนำทางให้วาระทางด้านนิติบัญญัติของคณะบริหารใหม่ของทรัมป์

**คริส คริสตี (Chris Christie) - รัฐมนตรีพาณิชย์

หลังจากความพยายามที่จะเป็นผู้สมัครของรีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาเองพังครืนลงไปในปีนี้แล้ว ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ผู้นี้ก็หันมารับรองสนับสนุนทรัมป์อย่างรวดเร็ว

คริสตี วัย 54 ปี ในเวลานี้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะผู้ติดตามดูแลการรับมอบตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ และได้รับการอ้างอิงว่าจะได้รับตำแหน่งต่างๆ หลายตำแหน่งในคณะบริหารชุดใหม่ หนึ่งในนั้นคือรัฐมนตรีพาณิชย์

ทว่าเขาเองก็มีมลทินจากกรณีอื้อฉาวในเรื่องการปิดสะพานใหญ่ที่เชื่อมมลรัฐนิวเจอร์ซีย์กับนครนิวยอร์ก โดยที่กล่าวหากันว่าเพราะคริสตีแค้นและต้องการลงโทษนายกเทศมนตรีในท้องถิ่นผู้หนึ่ง

เนื่องจากการแต่งตั้งตำแหน่งระดับรัฐมนตรีของประธานาธิบดี จำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา การที่คริสตีจะได้รับการรับรองจึงอาจมีปัญหาในขณะที่เมฆดำก้อนนี้ยังคงทอดเงาทะมึนอยู่เหนือศีรษะของเขา

**เจฟฟ์ เซสซันส์ (Jeff Sessions) - รัฐมนตรีกลาโหม**

วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐแอละแบมาผู้นี้ กำลังถูกจับตามองว่าอาจได้เป็นนายใหญ่ของเพนตากอน

ในการปราศรัยประกาศชัยชนะที่นิวยอร์ก ทรัมป์พูดถึงเซสชันส์ว่า “เขาได้รับความนับถือยกย่องอย่างสูงในวอชิงตัน เพราะเขาเป็นคนฉลาดหลักแหลมที่สุดเท่าที่คุณจะสามารถหาได้”

วุฒิสมาชิกวัย 69 ปีผู้นี้ เป็นผู้หนึ่งซึ่งให้การสนับสนุนการที่สหรัฐฯเข้ารุกรานอิรักในปี 2003 ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์กล่าววิจารณ์เอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า เป็น “สิ่งที่ย่ำแย่และโง่เขลา”

เซสชันส์ปัจจุบันเป็นกรรมาธิการอยู่ในคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาหลายชุด ทั้งคณะกรรมาธิการกิจการทหาร, คณะกรรมาธิการยุติธรรม, และคณะกรรมาธิการงบประมาณ

**ไมเคิล ฟลินน์ (Michael Flynn) - ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ**

ฟลินน์ ซึ่งเป็นนายทหารเกษียณอายุยศพลโท เป็นผู้ที่ช่วยเหลือทรัมป์ในเรื่องการต่อสายสัมพันธ์กับพวกทหารผ่านศึก ในขณะที่ตัวทรัมป์เองนั้นไม่เคยรับราชการทหารเลย

ฟลินน์อ้างว่าเขาถูกบีบให้ต้องออกจากการเป็นผู้อำนวยการของสำนักงานข่าวกรองกลาโหมที่เขานั่งมาตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2014 เนื่องจากทัศนะความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับอิสลามหัวรุนแรง

ระหว่างการรณรงค์หาเสียงคราวนี้ เขากล่าวหาวิจารณ์แหลกลาญเกี่ยวกับวิธีการที่คณะบริหารโอบามาใช้ ในการรับมือกับภัยคุกคามจากกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส)

**สตีเวน มนูชิน(Steven Mnuchin) - รัฐมนตรีคลัง**

ตัวทรัมป์เองได้ระบุชื่อประธานด้านการเงินของเขาผู้นี้ว่าจะเป็นรัฐมนตรีคลัง

ทว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าพวกผู้สนับสนุนแนวทางประชานิยมของทรัมป์จะยอมรับแนวความคิดในการมอบหมายงานดูแลยกเครื่องนโยบายภาษีของประเทศชาติ ให้แก่บุคคลซึ่งเป็นอินไซเดอร์ของวอลล์สตรีทอย่างเต็มตัวเช่นนี้

มนูชินสั่งสมความมั่งคั่งระหว่างระยะเวลา 17 ที่เขาทำงานในวาณิชธนกิจโกลด์แมนแซคส์ จากนั้นจึงก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ ที่อยู่เบื้องหลังหนังฮิตทำรายได้ถล่มทลายอย่างเช่นชุด X-Men และเรื่อง American Sniper

กำลังโหลดความคิดเห็น