xs
xsm
sm
md
lg

US Elections: “ทรัมป์” รื้อสัมพันธ์กับยุโรป-เอเชีย-รัสเซีย พันธมิตรสหรัฐฯ “หนาว” ถูกลอยแพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยต่อผู้สนับสนุนในงานชุมนุมคืนวันเลือกตั้งของเขาที่แมนฮัตตัน, นครนิวยอร์ก ช่วงย่างเข้าวันใหม่วันพุธ (9 พ.ย.)  จากที่เขาพูดในระหว่างการหาเสียง หมายความว่าเขาอาจพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย, ฉีกข้อตกลงการค้ากับเม็กซิโก และ กับประเทศในย่านแปซิฟิก, ทอดทิ้งบรรดาพันธมิตรทั้งในยุโรปและเอเชีย หรือไม่ก็อาจจะไม่ทำอะไรในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากทุกฝ่ายต่างยอมรับกันว่า ว่าที่ประมุขคนใหม่ของอเมริกาเป็นผู้ที่คาดเดาได้ยาก และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่บ่อยๆ </i>
รอยเตอร์ - ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย, ฉีกข้อตกลงการค้ากับเม็กซิโก และ กับประเทศในย่านแปซิฟิก, ทอดทิ้งบรรดาพันธมิตรทั้งในยุโรป และเอเชีย ถ้าหากไม่ยอมจ่ายมากขึ้นในด้านการป้องกันประเทศ หรือไม่ก็อาจจะไม่ทำอะไรในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากทุกฝ่ายต่างยอมรับกันว่า ว่าที่ประมุขคนใหม่ของอเมริกาเป็นผู้ที่คาดเดาได้ยาก และเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่บ่อยๆ

รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังไม่แน่ใจว่า ทรัมป์จะนำสิ่งที่เขาพูด ไปสู่การลงมือปฏิบัติได้แค่ไหน เนื่องจากเป็นบุคคลที่พูดขัดขาตัวเอง และให้รายละเอียดเล็กน้อยเหลือเกิน เกี่ยวกับว่าจะลำดับความสำคัญ นโยบายระดับโลกอย่างไร และจะตั้งใครขึ้นกุมตำแหน่งสำคัญหลักๆ ต่างๆ ในรัฐบาลของเขา

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌ็อง-มาร์ค อายโรลต์ ได้ลั่นวาจาจะร่วมทำงานกับทรัมป์ แต่ก็กล่าวว่าบุคลิกส่วนตัวของเขานั้น “ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา” นอกจากนั้น ก็ยังไม่แน่ใจว่า ชัยชนะของนายทรัมป์จะหมายถึงการท้าทายใดๆ เกี่ยวกับนโยบายหลักต่างๆ ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือก็คือ ปัญหาโลกร้อน และกรณีนิวเคลียร์ระหว่างชาติตะวันตก กับอิหร่าน จนถึงสงครามในซีเรีย

ทรัมป์ซึ่งไม่มีประสบการณ์ ทั้งด้านการต่างประเทศ และการทหาร กำลังจะต้องเผชิญกับความไม่เป็นเอกภาพกันในระดับชาติ หรือแม้กระทั่งในพรรครีพับลิกันด้วยกันเอง เกี่ยวกับว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับซีเรีย, กลุ่มติดอาวุธ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส), การเติบใหญ่ของจีน และรัสเซียที่กำลังมีบทบาทโดดเด่นขึ้นมา

“นี่ (ไม่ต่างกับ) ดินแดนที่เราไม่รู้อะไรเลยจริงๆ” เป็นความเห็นของ อารอน เดวิด มิลเลอร์ ผู้เจรจาปัญหาตะวันออกกลาง ที่เคยทำงานสนองประธานาธิบดี ทั้งจากพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ซึ่งปัจจุบันทำงานที่ศูนย์นักวิชาการวูดโรว์ วิลสัน ในวอชิงตัน

“อันตรายใหญ่หลวงที่สุดในการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ ก็คือ การไม่สามารถคาดการณ์ได้ และ ความรู้สึกขาดความมีเสถียรภาพ ไม่ว่าในบรรดาพันธมิตรของเรา รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามกับเราด้วย และ ทรัมป์ยังพูดให้ตัวเองดูดีอีกด้วยว่า เขาเองเลือกที่จะเป็นคนคาดเดายาก” มิลเลอร์กล่าว

ขณะนี้มีหลายชื่อผุดขึ้นมา ในฐานะที่อาจจะได้รับพิจารณาให้กุมบังเหียนงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ ในรัฐบาลทรัมป์ เป็นต้นว่า นิวต์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กับ จอห์น โบลตัน อดีตเอกอัครราชทูตประจำองค์การสหประชาชาติ ที่อาจจะขึ้นคุมกระทรวงการต่างประเทศ และ ไมเคิล ฟลีนน์ อดีตหัวหน้าองค์การข่าวกรองกลาโหมคนหนึ่ง ที่อาจจะได้เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์

ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายรีพับลิกันคนหนึ่ง ที่เคยพูดคุยให้คำปรึกษาแก่นายทรัมป์ ได้แสดงความสงสัยเป็นนัยว่า ทรัมป์อาจจะตัดสินในเรื่องทั้งหลายทั้งปวงด้วยตนเอง หรือผลักดันนโยบายต่างๆ ด้วยตนเอง มากกว่าจะรับฟัง และทำตามคำแนะนำของบรรดาที่ปรึกษา กับบรรดาผู้ช่วยของเขา
<i>เทรดเดอร์ผู้หนึ่งในตลาดหลักทรัพย์แฟรงเฟิร์ต, เยอรมนี แสดงปฏิกิริยาภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ ชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้ชนะ  ทั้งนี้ยุโรปตะวันตกมีความกังวลใจมาก เนื่องจากทรัมป์กล่าวในตอนหาเสียงถึงสิ่งซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับพันธมิตรยุโรปตะวันตก เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากมาย </i>
บรรดาบุคคลระดับนำของฝ่ายรีพับลิกัน ต่างเคยดูหมิ่นดูแคลนทรัมป์ บรรดานักการทูตอาชีพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวและนายทหาร จำนวนมาก ได้เคยออกให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาจะลาออก ถ้าหากทรัมป์คว้าชัยชนะ

“ถ้าหากเขาทำทุกอย่างที่พูดเอาไว้ว่าจะทำ เราก็เตรียมอำลาฐานะของเรา ในการเป็นผู้มีบทบาทนำหน้าของโลกได้เลย” จอห์น แมคลาฟลิน อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) กล่าวกับรอยเตอร์

“ฉะนั้น จึงหวังว่า เขาคงจะไม่ได้หมายความตามที่เขาพูด หรืออาจจะบอกว่าเป็นเรื่องที่คนอื่นพูดถึงตัวเขาทั้งสิ้น” แมคลาฟลิน กล่าว

ทรัมป์เคยพูดเช่นกันว่า เขาอาจจะยอมให้ญี่ปุ่นกับเกาหลี ดำเนินแผนพัฒนานิวเคลียร์ด้วยตนเอง แทนที่จะมัวพึ่งพาสหรัฐฯ อีกทั้งยังจะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน, เข้าเจรจากับเกาหลีเหนือ เกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และหันเข้าหาประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน

ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้ เคยระบุว่า ตนเองจะ “เปิดใจกว้าง” ต่อปูติน บุคคลที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯชุดปัจจุบันจำนวนมากมองว่า ลุแก่อำนาจ, ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามในประเทศ และข่มเหงรังแกประเทศเพื่อนบ้าน, ขยายกำลังทหารออกสู่ภายนอก

รัสเซียผนวกเอาคาบสมุทรไครเมียของยูเครน, หนุนหลังประธานาธิบดี บาชาห์ อัล-อัสสาด ในซีเรีย และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ กล่าวหาว่า รัสเซียยังแฮกอีเมล์ ของผู้นำระดับสูงพรรคเดโมแครต กับองค์การต่างๆ อีกด้วย

“ผมหวังที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย และผมหวังที่จะมีสัมพันธ์ไมตรีที่ดีกับปูติน” ทรัมป์ กล่าวกับรอยเตอร์ ในการสัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้ว

“ถ้าหากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย นั่นจะเป็นเรื่องที่วิเศษมาก” ทรัมป์ กล่าว

เจมส์ ด็อบบินส์ อดีตนักการทูจสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านนโยบาย แรนด์คอร์ป กล่าวว่า เขาเองจะไม่แปลกใจ ที่จะได้เห็นการ “รีเซต” ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับรัสเซียใหม่

แต่สำหรับจีนแล้ว ทรัมป์ แสดงความก้าวร้าวมากกว่า โดยบอกว่า จะตีตราแดนมังกรเป็นประเทศผู้ปั่นค่าเงินตรา และขู่จะใช้มาตรการภาษีต่อสินค้าจีน เพื่อแสดงให้ปักกิ่งได้ตระหนักว่า “สหรัฐฯจะไม่เล่นเกมอีก” ในประเด็นเกี่ยวกับการค้า

กระทรวงการต่างประเทศของจีนนั้น แถลงอย่างเป็นกลางๆ เมื่อวันพุธ (9) นี้่ ว่า จะทำงานร่วมกับทรัมป์ เพื่อรับประกันความต่อเนื่องในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี
<i>ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ถือแก้วเครื่องดื่ม ในพิธีรับสารตราตั้งของเอกอัครราชทูตจากต่างประเทศที่ทำเนียบวังเครมลิน ในกรุงมอสโก เมื่อวันพุธ (9 พ.ย.) ทั้งนี้ รัสเซียแสดงความยินดีมากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคราวนี้ </i>
ทรัมป์ กล่าวเช่นกันว่า เขาเองอาจจะยกเลิกความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ระหว่างเม็กซิโก สหรัฐฯ และ แคนาดา ที่ทำไว้ตั้งแต่เมื่อปี 1994 รวมทั้งขู่จะตั้งกำแพงภาษีถึง 35% สำหรับสินค้าที่ผลิตในเม็กซิโก เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมในสหรัฐฯ

ทรัมป์ยังเล็งไปที่ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่มีประธานาธิบดี บารัค โอบามา เป็นผู้นำ โดยเรียกทีพีพี ว่า “จุดตาย” อุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ

สำหรับทางยุโรป ทรัมป์ได้เสนอความคิดที่จะละทิ้งนโยบายร่วมป้องกันของนาโต เป็นการให้เบาะแสว่า สหรัฐฯจะช่วยเหลือในการป้องกันสมาชิกของกลุ่ม เช่น รัฐบอลติก โดยมีข้อแม้ว่า ประเทศเหล่านั้นจะต้องบรรลุพันธกิจที่มีต่อสหรัฐฯเช่นกัน

เมื่อถูกถามในเดือน มี.ค. เกี่ยวกับว่าจะคัดค้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือไม่ ทรัมป์ บอกนิวยอร์กไทมส์ ว่า อาจจะมีสักวันหนึ่ง ที่สหรัฐฯไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้ เช่นในอดีต และพวกเขาอาจจำเป็นจะต้องพัฒนาอาวุธของตัวเอง

ทั้งสองกรณีข้างต้นล้วนขัดต่อหลักการในนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ยึดถือมาหลายทศวรรษ คือ การโจมตีสมาชิกนาโตชาติหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีทั้งกลุ่ม และการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ เป็นสิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม

จอน อัลท์แมน หัวหน้าโครงการตะวันออกกลาง แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies) ในวอชิงตัน กล่าวว่า การมีแนวโน้มให้ชาติต่างๆ ต้องคาดเดาอยู่ตลอดเวลานั้น อาจจะเป็นสาเหตุความไร้เสถียรภาพในตัวเอง

“ประเทศต่างๆ อาจจะรู้สึกว่ามีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น หรือจะสามารถลดการเผชิญกับความขัดแย้งลงได้ ถ้าหากพวกเขาต้องป้องกันตัวเอง ด้วยตัวเอง” อัลท์แมน กล่าว

ส่วน โรเบิร์ต เซลลิก อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งในเดือน พ.ค. ได้เซ็นชื่อร่วมในจดหมายฉบับหนึ่ง ที่ระบุว่า ทรัมป์ “จะเป็นประธานาธิบดีที่เลินเล่อมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ” กล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า บุคลิกส่วนตัวของทรัมป์ อาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้

“ไม่มีใครรู้ได้ว่า ความหยิ่งผยองของทรัมป์ จะแสดงออกมาเช่นไร ถ้าหากจะมีต่างชาติชาติหนึ่ง ทำให้เขามีความสำคัญน้อยลง” เซลลิก เขียนในไฟแนนเชียลไทมส์ เมื่อเดือนที่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น