เอเจนซีส์ - หนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่นรายงานในวันจันทร์ (7 พ.ย.) ว่า ค่ายรถ “โตโยต้า มอเตอร์” กำลังมองไปถึงการผลิตรถไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลสำหรับตลาดคนหมู่มาก โดยจะทำออกสู่ตลาดประมาณปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นการสวนทางยุทธศาสตร์เดิมของยักษ์ใหญ่ธุรกิจรถยนต์รายนี้
ก่อนหน้านี้ แม้คู่แข่งอย่าง นิสสัน มอเตอร์, โฟล์กสวาเกน, เทสลา มอเตอร์ ล้วนพากันบอกว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือ ยานยนต์แห่งอนาคตที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ แต่ถึงกระนั้นโตโยต้าก็ไม่เอาด้วย เพราะเดินทางได้แค่ระยะสั้นๆ แบตเตอรีราคาแพง แถมยังใช้ระยะเวลาในการชาร์จที่ยาวนาน
ด้วยการเพิ่มรถพลังงานไฟฟ้าที่วิ่งได้ระยะทางไกลเข้าสู่กลุ่มสินค้า โตโยต้าจึงน่าจะเปลี่ยนจากการโปรโมตรถไฮบริด และรถไฮโดรเจน มาเป็นทางเลือกใหม่นี้ แบบที่หลายค่ายกำลังเดินหน้ากันอยู่
นิกเกอิรายงานโดยไม่มีการอ้างอิงถึงแหล่งข่าวใดๆ ว่า โตโยต้าจะตั้งทีมใหม่ขึ้นในช่วงต้นปี 2017 เพื่อทุ่มเทพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถเดินทางได้ 300 กิโลเมตร ด้วยการชาร์จไฟเต็มถังครั้งเดียว
สื่อญี่ปุ่นระบุอีกว่า โตโยต้าจะเริ่มวางจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล็อตแรกที่ญี่ปุ่นในปี 2020 เช่นเดียวกับที่ตลาดอื่นๆ อย่างแคลิฟอรฺ์เนีย และจีน อันเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่สุดในโลก ซึ่งกำลังโปรโมตเรื่องการเปลี่ยนแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า
โตโยต้าไม่ได้ยอมรับ หรือปฏิเสธรายงานข่าวนี้ โดยบอกว่า ไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนการพัฒนาสินค้า แต่จะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์สำหรับเชื้อเพลิงหลากหลายชนิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพลังงานไฟฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์ ระบุว่า กฎระเบียบด้านมลภาวะในแคลิฟอร์เนีย ถูกใช้เป็นมาตรฐานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก แถมจีนยังผลักดันให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เรื่องพวกนี้น่าจะอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนใจของโตโยต้า
“โตโยต้าเคยเป็นพวกเล่นแง่ไม่ยอมเอาด้วยในเรื่องพลังงานไฟฟ้า แต่ดูเหมือนตอนนี้คงตระหนักแล้วว่า การไม่มีรถพลังงานไฟฟ้าอาจทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตอบโจทย์กฎระเบียบอันเข้มงวด การไม่มีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจอกับการถูกจำกัดการขายในบางพื้นที่” กล่าวโดย ทาเคชิ มิยาโอะ กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา คาร์โนรามา
ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นไป แคลิฟอร์เนียกับอีกหลายรัฐในอเมริกา จะกำหนดให้ค่ายรถยนต์ต้องผลิตรถที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ออกมามากขึ้น โดยคิดตามสัดส่วนของยอดขายรวม
ที่ผ่านมา โตโยต้าเคยโปรโมตรถยนต์ไฮโดรเจน อย่าง Mirai แต่ก็ยังมีอุปสรรคที่สำคัญในเรื่องการขาดแคลนสถานีเติมเชื้อเพลิง