เอเอฟพี - รัฐบาลออสเตรเลียกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งเรือออกลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ร่วมกับอินโดนีเซีย จูลี บิชอป รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแดนจิงโจ้ เผยวันนี้ (1 พ.ย.)
แผนการที่ว่านี้ถูกเสนอโดยฝ่ายอินโดนีเซีย ในการประชุมร่วมระหว่าง บิชอป และรัฐมนตรีกลาโหม มารีส เพย์น กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจาการ์ตา ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีกลาโหม เรียมิซาร์ด เรียกูดู เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“เราทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรจะมีการยกระดับความร่วมมือทางทะเล และแน่นอนว่าจะต้องรวมไปถึงการปฏิบัติภารกิจร่วมทั้งในทะเลจีนใต้ และทะเลซูลู” บิชอป ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ออสเตรเลียน บรอดคาสติง คอร์ปอเรชัน
“สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับนโยบายของเราที่มุ่งธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือ และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
หนังสือพิมพ์ซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์อ้างคำพูดของรัฐมนตรีกลาโหมอิเหนา ซึ่งระบุว่า ตนได้เสนอให้มีการ “ลาดตระเวนอย่างสันติ” ร่วมกับออสเตรเลีย
“เราไม่มีเจตนาใดๆ เลยที่จะบั่นทอนความสัมพันธ์กับจีน เราเรียกสิ่งนี้ว่าการลาดตระเวนอย่างสันติ ซึ่งจะก่อให้เกิดสันติภาพ และเป็นการร่วมกันปกป้องทรัพยากรประมงในน่านน้ำของเราทั้งสอง”
รัฐบาลจีนอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งได้นำข้อพิพาทนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ที่กรุงเฮก
ศาลได้อ่านคำพิพากษาในเดือน ก.ค. ว่าการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนไม่มีกฎหมายรองรับ ขณะที่ปักกิ่งก็ยืนกรานไม่ยอมรับคำตัดสินนี้
ออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐฯ ไม่ได้มีอาณาเขตทางทะเลทับซ้อนกับปักกิ่ง แต่ก็ประกาศสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือผ่านน่านน้ำสากล
เมื่อเดือนที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ส่งเรือพิฆาตล่องเข้าไปในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้อีก ซึ่งทำให้จีนออกมาโวยว่าเป็นการ “ละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรง” และ “จงใจยั่วยุ”
แผนลาดตระเวนร่วมระหว่างจาการ์ตาและแคนเบอร์รามีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์อึมครึมในภูมิภาค หลังจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ ไปผูกมิตรกับจีนแทน
ในขณะที่ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับปักกิ่งในทะเลจีนใต้ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียกลับยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เคยมีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตทางทะเลหรือหมู่เกาะใดๆ ก็ตามกับจีน
อย่างไรก็ตาม อาณาเขตทะเลจีนใต้ที่ปักกิ่งตีเส้นอ้างความเป็นเจ้าของนั้นล่วงล้ำเข้าไปถึง “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ” รอบๆ หมู่เกาะนาตูนา ซึ่งเป็นหมู่เกาะทางตอนเหนือของอินโดนีเซีย และเป็นแหล่งปลาชุม
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซียได้ขึ้นเรือรบไปเยือนหมู่เกาะนาตูนาเมื่อเดือน มิ.ย. ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมอิเหนาก็ได้ร่างโครงการก่อสร้างทางวิ่งเครื่องบิน รวมถึงการส่งระบบขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศ โดรน และยุทโธปกรณ์อื่นๆ เข้าไปประจำการที่นั่น
ท่าทีของ วิโดโด ถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนจีนให้เคารพอธิปไตยของแดนอิเหนา
บิชอป ระบุว่า กองทัพเรือออสเตรเลียมีการซ้อมรบร่วมในทะเลจีนใต้กับอินเดียและสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้ว “ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากระทำอยู่เป็นประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีที่เรามีต่อภูมิภาค”