รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการแคนาดาเผยในวันจันทร์ (31 ต.ค.) ระบุมีเป้าหมายเปิดรับผู้อพยพ-ผู้ลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศของตน ราว 300,000 รายในปี 2017 ถือเป็นระดับเดียวกับในปีนี้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าว การเพิ่มโควตารับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่สูงขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยหาแรงงานมีฝีมือเข้าสู่ภาคธุรกิจ
จอห์น แม็กแคลลัม รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองของแคนาดา เผยต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงออตตาวา โดยยืนยัน ว่าการตั้งเป้ารับผู้อพยพเข้าประเทศที่ราว 300,000 คนในปีหน้าถือเป็นตัวเลขที่มีความเหมาะสม และตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เพียงพอต่อการสร้างการเติบโตในอนาคตแล้ว และว่านอกเหนือจากการกระตุ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว นโยบายการเปิดรับผู้อพยพเข้าประเทศของแคนาดายังช่วยตอบสนองต่อความพยายามในการแก้ปัญหา “ความเบาบาง” ของประชากรในประเทศที่มีประชากรในปัจจุบันเพียง 35 ล้านคน สวนทางกับการมีพื้นที่กว้างใหญ่ถึง 9,984,670 ตารางกิโลเมตร หรือใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของโลก
อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวว่าผู้นำภาคธุรกิจจำนวนหนึ่งรู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลแคนาดาไม่เพิ่มจำนวนการรับผู้อพยพเข้าประเทศเป็นปีละ 450,000 ราย ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตามข้อแนะนะของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
เมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐสภาแคนาดาเพิ่งลงมติเอกฉันท์ รับรองการเปิดรับผู้ลี้ภัยชาว “ยาซิดี” ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในแคนาดา ภายในระยะเวลา 4 เดือนข้างหน้า พร้อมประกาศให้การก่อความรุนแรงของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ทางภาคเหนือของอิรัก เข้าข่ายเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
ด้านโฆษกรัฐบาลแคนาดาออกมาแถลงที่กรุงออตตาวาในวันเดียวกัน หลังทราบผลการลงมติของสมาชิกรัฐสภา โดยระบุว่า รัฐบาลแคนาดาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด จะเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการในการส่งเครื่องบินไปรับตัวผู้ลี้ภัยชาวยาซิดี แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเปิดรับผู้ลี้ภัยชาวยาซิดีเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในแคนาดาเป็นจำนวนเท่าใด ภายในกรอบเวลา 120 วันดังกล่าว
“นี่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเน้นย้ำว่า แคนาดาจะยังคงเป็นประเทศที่เปิดกว้าง ที่เต็มใจจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกที่ประสบกับความทุกข์ยาก” นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา
ในอีกด้านหนึ่ง ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่าจำนวนผู้อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองชาวซีเรียที่ทางการแคนาดาเปิดรับให้เข้าไป “ตั้งถิ่นฐานใหม่” ในประเทศมีจำนวนเพิ่มเป็นกว่า 32,000 รายแล้ว
นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา เป็นผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าว โดยระบุทั้งรัฐบาลและภาคประชาชนของแคนาดาต่างรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงแบ่งปัน “ความรักและมิตรภาพ” แก่ผู้อพยพชาวซีเรียที่หลบหนีชะตากรรมอันโหดร้ายในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตน และปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ที่รัฐบาลเสรีนิยม ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหนุ่มอย่างทรูโดก้าวขึ้นครองอำนาจเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 ทางการแคนาดาได้เปิดรับผู้อพยพชาวซีเรียให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในแคนาดา รวมแล้วทั้งสิ้น 31,919 ราย (ข้อมูลนับถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2016)
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลชุดใหม่ของแคนาดา ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดประกาศรับผู้อพยพชาวซีเรียจำนวน 10,000 รายเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศของตนภายในสิ้นปี 2015 และเปิดรับอีกกว่า 15,000 คนภายในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2016
รายงานข่าวระบุว่า เดิมทีนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ต้องการรับผู้อพยพชาวซีเรียจำนวน 25,000 รายให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ภายในวันที่ 31 ธันวาคมปีที่แล้ว แต่ความพยายามดังกล่าวได้รับการท้วงติงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุก่อวินาศกรรมที่กรุงปารีสของฝรั่งเศสเมื่อ 13 พ.ย. 2015 ทำให้ทางการแคนาดาต้องทบทวนแผนรับผู้อพยพ ซึ่งนำมาสู่การแบ่งรับผู้อพยพเป็น 2 รอบดังกล่าว แทนการรับผู้อพยพทั้งหมดในรอบเดียว
ตามแผนรับผู้อพยพชาวซีเรียเข้าประเทศของรัฐบาลแคนาดานั้น ทางการแคนาดาจะดำเนินมาตรการคัดกรองด้านสุขภาพและความมั่นคงต่อเหล่าผู้อพยพที่ต่างประเทศ และเมื่อกระบวนการคัดกรองนี้เสร็จสิ้น บรรดาผู้อพยพที่ผ่านเกณฑ์ก็จะถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินมายังนครโทรอนโต และมอนทรีออล โดยอาจมีการขอให้กองทัพแคนาดาร่วมจัดส่งเครื่องบินมาเข้าร่วมสนับสนุนภารกิจครั้งนี้ในบางส่วนหากมีความจำเป็น
ท่าทีของรัฐบาลแคนาดาถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งบรรดาผู้ว่าการรัฐที่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันต่างออกมาประกาศจุดยืนไม่ต้อนรับผู้อพยพชาวซีเรียเข้าสู่มลรัฐของตน เพราะหวั่นเป็นภัยคุกคามและอาจเป็นต้นตอของการก่อการร้าย ถึงแม้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะมีแผนรับผู้อพยพชาวซีเรียจำนวน 10,000 รายเข้าประเทศในปี 2016 ก็ตาม
รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลแคนาดาชุดใหม่ที่เป็นพวกเสรีนิยม ประกาศจะทุ่มงบประมาณราว 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐตลอดระยะเวลา 6 ปีข้างหน้าเพื่อสนับสนุนความพยายามในการตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้อพยพจากซีเรีย และถือเป็นจุดยืนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐบาลชุดก่อนหน้า ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี สตีเฟน ฮาร์เปอร์ ที่เป็นพวกอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการรับผู้อพยพอย่างหัวชนฝาและเพิ่งพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมปีก่อน
ทั้งนี้ จำนวนชาวซีเรียที่อพยพออกนอกประเทศของตน ได้เพิ่มเป็นมากกว่า 4 ล้านคนแล้วนับตั้งแต่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองและสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในซีเรียเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011
ในส่วนของแคนาดานั้น ถือเป็นประเทศที่มีประวัติในการรับผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศของตนมายาวนาน ทั้งการรับผู้ลี้ภัยชาวโคโซโวจำนวนมากกว่า 5,000 รายในช่วงปลายทศวรรษ 1990, การรับผู้อพยพชาวยูกันดามากกว่า 5,000 คนเมื่อปี 1972 รวมถึงการรับผู้อพยพชาวเวียดนาม เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวน 60,000 ราย ระหว่างปี1979-80 แต่หากนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยอดผู้อพยพที่แคนาดารับเข้าประเทศของตนได้มีจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านรายแล้ว