xs
xsm
sm
md
lg

“อิรัก” ไล่ล่าหลัง “ไอเอส” ป่วนทั่วประเทศ ขณะกระชับวงล้อม “เมืองโมซุล” พร้อมปฏิเสธข่าว “ตุรกี” ร่วมยุทธการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ขบวนยานยนต์กองทหารอิรักเคลื่อนเข้าสู่หมู่บ้านทอปซาวา ระหว่างการสู้รบกับพวกนักรบ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ที่บริเวณใกล้ๆ เมืองบาชิกา ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองโมซุล เมืองสำคัญที่สุดในภาคเหนือของอิรัก เมื่อวันจันทร์ (24 ต.ค.)  </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ทัพอิรักผจญกับทุ่นระเบิด การลอบยิง คาร์บอมบ์ ขณะรุกจากทางด้านใต้เข้ากระชับพื้นที่รอบเมืองโมซุล ควบคู่กับการไล่ล่านักรบไอเอสที่อยู่เบื้องหลังการลอบก่อเหตุโจมตีทั่วประเทศ สำหรับกองกำลังชาวเคิร์ดที่บุกมาจากด้านเหนือและด้านตะวันออกก็พยายามชิงเมืองบาชิกา จากเงื้อมมือกลุ่มนักรบญิฮาดสุดโต่ง ขณะที่ผู้บัญชาการปฏิบัติการร่วมอิรักออกมาปฏิเสธคำให้สัมภาษณ์ของผู้นำตุรกี ยันไม่มีทัพเติร์กในยุทธการปลดปล่อยโมซุล

กองบัญชาการปฏิบัติการร่วมของอิรักออกคำแถลงในวันจันทร์ (24 ต.ค.) ปฏิเสธว่า ตุรกีไม่ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการปลดปล่อยจังหวัดนีนาวาห์ ที่มีโมซุลเป็นเมืองเอกแต่อย่างใด

คำแถลงดังกล่าวขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับการให้สัมภาษณ์ของบินาลี ยิลดิริม นายกรัฐมนตรีตุรกี เมื่อวันอาทิตย์ (23) โดยเขากล่าวว่า กองทหารตุรกีที่ตั้งอยู่ด้านนอกของโมซุลให้การสนับสนุนปืนใหญ่ รถถัง และปืนใหญ่เบา ตามคำขอของกองกำลังเพชเมอร์กาของเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดในอิรัก ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตุรกีมายาวนาน

ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมากองกำลังเพชเมอร์กาซึ่งส่งนักรบหลายพันคนเข้าร่วมยุทธการชิงคืนเมืองโมซุล โดยบุกจากด้านตะวันออกและด้านเหนือ ได้เข้าโจมตีกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในเมืองบาชิกา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโมซุล และพวกเขาร้องเรียนว่า ได้รับการสนับสนุนจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน ตุรกีย้ำหลายครั้งว่าต้องการมีส่วนร่วมในยุทธการปลดปล่อยโมซุล ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญแห่งสุดท้ายของไอเอสในอิรัก โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามศาสนา เนื่องจากโมซุลนั้นเป็นที่มั่นของมุสลิมนิกายสุหนี่ ซึ่งชนส่วนใหญ่ในตุรกีก็อยู่ในนิกายนี้ด้วย ขณะที่ชนส่วนใหญ่ในอิรัก รวมทั้งทหารในกองกำลังอาวุธจำนวนมากเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์

การที่ทหารตุรกีปรากฏตัวในภาคเหนือของอิรักนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ทว่าเมื่อตุรกีส่งกำลังเสริมเข้ามาที่ค่ายบาชิกาปีที่แล้ว ก็เป็นชนวนทำให้เกิดความไม่พอใจในหลายๆ ภาคส่วนของมติมหาชนชาวอิรัก ตลอดจนในบรรดาพรรคชาวชีอะห์ ซึ่งกุมเสียงข้างมากท่วมท้นในรัฐบาลที่กรุงแบกแดด
<i>นักรบ “เพชเมอร์กา” ของชาวเคิร์ดอิรัก เล็งปืนขณะสู้รบกับพวกไอเอสที่หมู่บ้านทอปซาวา เมื่อวันจันทร์ (24 ต.ค.) หมู่บ้านแห่งนี้ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองโมซุล ตั้งอยู่ใกล้ๆ เขตปกครองของชาวเคิร์ดอิรัก </i>
ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เห็นปืนใหญ่ยิงออกจากค่ายของตุรกีที่บาชิกาและเล็งเป้าหมายไอเอสหลายครั้งนับตั้งแต่อิรักเริ่มการบุกชิงเมืองโมซุลคืนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อบาดีของอิรัก กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากภายในประเทศให้ขับไล่กองทหารตุรกีออกนอกประเทศ ทั้งนี้ ชาวอิรักจำนวนมากเชื่อว่าที่ผ่านมาตุรกีมีบทบาทหนุนการก้าวผงาดของกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)

ด้วยเหตุนี้ อาบาดีจึงออกมาปฏิเสธแนวคิดของแอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่เยือนแบกแดดเมื่อวันเสาร์ (22) และอาร์บิล เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดในอิรักเมื่อวันอาทิตย์ (23)

คาร์เตอร์นั้นเสนอตั้งแต่ก่อนเดินทางเยือนอิรักแล้วว่า ตุรกีควรมีบทบาทในการชิงคืนโมซุล

นอกจากสถานการณ์ในโมซุลแล้ว นายใหญ่เพนตากอนยังกล่าวว่า แนวคิดในการโจมตีโมซุลและร็อกเกาะฮ์ในซีเรียพร้อมกัน เป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่สหรัฐฯ ตรึกตรองมาระยะหนึ่งแล้ว
<i>สมาชิกคนหนึ่งในกองกำลังอาวุธรัฐบาลอิรัก ชูสองนิ้วสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ ขณะที่พวกเขาเคลื่อนเข้าสู่หมู่บ้าน อัล-คูวาย์น ทางด้านใต้ของเมืองโมซุล ภายหลังยึดหมู่บ้านแห่งนี้กลับคืนจากพวก “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ได้ใหม่ในวันอาทิตย์ (23 ต.ค.)  </i>
<i>สมาชิกกองกำลังอาวุธรัฐบาลอิรักสวมหน้ากากกันไอพิษเป็นการป้องกันไว้ก่อนเมื่อวันเสาร์ (22 ต.ค.) ขณะที่มีควันโขมงขึ้นมาตรงบริเวณพื้นที่ด้านหลังของเขา  ทั้งนี้กลุ่มไอเอสได้จุดไฟเผาโรงงานกำมะถัน “มิชรัก” ใกล้ๆ กับค่ายกอยยาเราะห์ ห่างจากเมืองโมซุลลงมาทางใต้ราว 30 กิโลเมตร ขณะที่กองกำลังของอิรักกำลังเปิดการรุก มีรายงานว่าควันพิษกำมะถันทำให้พลเรือนชาวอิรักตายไป 2 คน อีกหลายคนล้มป่วย </i>
ขณะที่เมืองโมซุลกำลังถูกกระชับวงล้อม วันศุกร์ที่ผ่านมา (21) ไอเอสก็ส่งนักรบจำนวนหลายสิบคน พร้อมมือระเบิดฆ่าตัวตาย เข้าโจมตีหลายจุดในเมืองเคอร์คุก ที่อยู่ในความควบคุมของเคิร์ด ทว่าไม่สามารถเข้ายึดอาคารสำคัญของรัฐบาลในเมืองนี้ได้ กระนั้นก็สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างมาก หลังจากปะทะต่อสู้กันอยู่ 3 วัน ผู้ว่าการจังหวัดเคอร์คุกจึงออกมาแถลงในวันจันทร์ (24) ว่าสามารถปราบปรามไอเอสได้หมดสิ้นแล้ว โดยสังหารนักรบญิฮาดเหล่านี้ไป 71 ราย

นอกจากนี้ ผู้บังคับบัญชาทหารในเมืองรัตบา ที่อยู่ในจังหวัดอันบาร์ทางตะวันตกของอิรัก และอยู่ใกล้ชายแดนติดกับจอร์แดน เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (23) ว่า ถูกไอเอสโจมตีด้วยคาร์บอมบ์พลีชีพ 5 ระลอก และนักรบญิฮาดสามารถยึดสำนักงานนายกเทศมนตรีไว้ได้ช่วงสั้นๆ ก่อนถูกกองกำลังความมั่นคงเข้าชิงคืนอย่างรวดเร็ว

ผู้สังเกตการณ์บางคนเตือนว่า ไอเอสที่กำลังสูญเสียพื้นที่ยึดครอง อาจก่อการโจมตีรุนแรงแบบในเคอร์คุกบ่อยขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจไปจากโมซุล

อย่างไรก็ดี ไม่มีสัญญาณว่าการโจมตีเหล่านี้จะมีผลกระทบอะไรนักต่อยุทธการชิงคืนโมซุล

ในวันอาทิตย์ (23) เพชเมอร์กาประกาศว่า สามารถเข้ายึดหมู่บ้าน 8 แห่งในเมืองบาชิกา ขณะที่ทัพอิรักก็กำลังเข้าโจมตีเพื่อชิงเมืองการากอช ทางตะวันออกของเมืองโมซุลที่เคยเป็นเมืองชาวคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในอิรัก

ขณะเดียวกัน พลโท สตีเฟน ทาวน์เซนด์ ผู้บัญชาการกองกำลังพันธมิตรกล่าวเมื่อวันเสาร์ (22) ว่า ไอเอสพยายามต้านทานสุดฤทธิ์ด้วยการลอบยิง การใช้ระเบิดแสวงเครื่อง ระเบิดแสวงเครื่องติดตั้งบนรถยนต์ และกระทั่งจรวดต่อต้านรถถัง

เจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ ยังทบทวนตัวเลขประมาณการจำนวนนักรบไอเอสเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3,000-5,000 คนในโมซุล และ 1,000-2,000 คนรอบๆ โมซุล
<i>หญิงผู้ลี้ภัยชาวอิรักอุ้มลูกน้อยนั่งคอยเวลา เธอและผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ซึ่งหลบหนีออกมาจากเมืองโมซุล ที่อยู่ใต้การควบคุมของไอเอสและกองกำลังฝ่ายรัฐบาลกำลังรุกโจมตีเพื่อชิงเมืองนี้คืนมา  กำลังรอที่จะเข้าไปยังซีเรีย ในเขตทะเลทรายราจัม อัล-ซาลิบา ตรงพรมแดนอิรัก-ซีเรีย เมื่อวันเสาร์ (22 ต.ค.) </i>
<i>ผู้ลี้ภัยชาวอิรัก ซึ่งหลบหนีออกมาจากเมืองโมซุล เดินทางเข้าสู่เขตทะเลทรายราจัม อัล-ซาลิบา ตรงพรมแดนอิรัก-ซีเรีย เมื่อวันเสาร์ (22 ต.ค.) </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น