xs
xsm
sm
md
lg

InPics:นายใหญ่เพนตากอนโผล่กะทันหัน “ขอให้ อัล-อาบาดี อนุญาตตุรกีร่วมยึดโมซุล” ก่อนพบ ปธน.เคิร์ด ในเออร์บิล - ก่อการ้าย IS เผาโรงงานเคมี เจ็บร่วมพัน กำลังรบอิรักติดหน้ากากแก๊สพิษรุกคืบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอพี/เอเจนซีส์ - แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บินเข้ากรุงแบกแดดแบบปิดเป็นความลับ พบกับนายกรัฐมนตรีอิรัก ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) ในวันเสาร์ (22 ต.ค.) ได้รับการปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวจากฝั่งแบกแดด “ไม่อนุญาตให้ตุรกีเข้าร่วม” ล่าสุด วันนี้ (23 ต.ค.) เดินทางเข้าเมืองเออร์บิล (Irbil) ฐานใหญ่ชาวเคิร์ด เปิดธงรบเจรจาให้ขอเติร์กเข้าร่วม หลังในวันศุกร์ (21 ต.ค.) บินด่วนพบผู้นำตุรกี เรเจป ทายยิป แอร์โดวาน(Recep Tayyip Erdogan) ล่าสุด ปฏิบัติการยึดเมืองโมซุลคืน มีรายงานว่า โรงงานสารเคมีซัลเฟอร์ใกล้เมืองโมซุล ถูกจุดไฟเผา (22 ต.ค.) ส่งควันขาวคลุ้งไปทั่ว หน่วยรบพิเศษสหรัฐฯแจกหน้ากากกันแก๊สพิษ 24,000 ชิ้น ให้กองกำลังปฏิบัติการอิรักรุกคืบ

เอพีรายงานล่าสุดวันนี้ (23 ต.ค.) ว่า รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) เดินทางต่อไปยังเมืองเออร์บิล (Irbil) ซึ่งเป็นเมืองเอกของเคิร์ด เพื่อตรวจดูสถานการณ์รบในปฏิบัติการยึดเมืองโมซุลคืน และในการเดินทางงมาครั้งนี้ ได้มีกำหนดเข้าหารือประธานาธิบดีเคอร์ดสถาน มาซวด บาร์ซานี (Masoud Barzani) เพื่อขยายขอบเขตกรอบการพูดคุยในการขอให้ตุรกีเข้าร่วมปฏิบัติการยึดเมืองโมซุลคืน และรวมไปถึงรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯจะพบกับบรรดาผู้บัญชาการรบสหรัฐฯในอิรัก เพื่อตรวจความคืบหน้าในปฏิบัติการ

โดยแหล่งข่าวทหารสหรัฐฯ ระบุว่า สำหรับปฏิบัติการยึดเมืองโมซุลคืนในส่วนของกองกำลังเคิร์ดเพชเมอร์กา ทางกองกำลังได้รุกคืบหน้าไปยังโมซุลจากทางตอนเหนือ โดยเคลื่อนคาราวานยานรบหุ้มเกราะจำนวนมาก และมีกองกำลังหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯราว 100 นาย ได้ฝังตัวอยู่กับกองกำลังเคิร์ดเพชเมอร์กา และกองกำลังรบพิเศษอิรัก

ทั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า กองกำลังเคิร์ดเพชเมอร์กาจะหยุดการรุกคืบในระยะ 30 กม. นอกเมืองโมซุล และยึดพื้นที่ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้าย IS สามารถรวมตัวกันติด ซึ่งทางกองกำลังชีอะห์ ประกาศว่า ทางกลุ่มจะเดินหน้าเข้าเมืองโมซุลเอง ทั้งนี้เมืองโมซุลเป็นเมืองอิทธิพลของพวกสุหนี่ และทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงการเข้ามาของกองกำลังของรัฐบาลอิรักสายชีอะห์ แต่กระนั้นยังความวิตกในการเข้ามาของกองกำลังเคิร์ด ที่เกรงว่า อาจจะใช้โอกาสนี้ในการขยายพื้นที่เขตปกครองตัวเองเข้าไปในพื้นที่ของจังหวัดนิเนเวห์ (Ninevah)

ก่อนหน้านี้ ในวันเสาร์ (22 ต.ค.) นายกรัฐมนตรีอิรัก ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) แถลงผ่านล่ามหลังจากพบปะหารือกับคาร์เตอร์ ว่า “ผมรู้ว่าพวกเติร์กต้องการเข้าร่วม เราบอกพวกเขาว่า ขอบคุณ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวอิรักต้องจัดการด้วยตัวเอง และเป็นชาวอิรักที่ต้องทำหน้าที่ปลดปล่อยโมซุลให้เป็นอิสระจากการเข้ายึดครอง และรวมไปถึงพื้นที่ต่าง ๆ”

และ อัล-อาบาดี ยังยืนยันถึงหากต้องขอความช่วยเหลือจากอังการา ว่า “พวกเราไม่มีปัญหาในการร้องขอความช่วยเหลือ” และเสริมต่อว่า “และหากจำเป็น ทางแบกแดดจะร้องขอความช่วยเหลือไปยังตุรกีและชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคอย่างแน่นอน”

นอกจากนี้ ในการพบกับคาร์เตอร์ในกรุงแบกแดด ผู้นำอิรักยังยอมรับว่า ทั้ง 2 ชาติยังได้จัดทำแนวทางแนะนำร่วมกัน และทำให้ทั้งสหรัฐฯและอิรักได้ตกลงที่จะมีการพบปะกันอีกครั้ง โดย อัล-อาบาดี ส่งสัญญาณว่าประตูยังคงเปิดกว้างสำหรับการประนีประนอม

มีรายงานว่า ผู้นำเพนตากอนที่ได้เดินทางมาถึงกรุงแบกแดดเมื่อวานนี้ (22 ต.ค.) แบบปิดลับ ได้พบกับผู้บัญชาการรบสหรัฐฯ และพร้อมกับประเมินสถานการณ์ในช่วงการเปิดปฎิบัติการยึดเมืองโมซุลคืน และได้ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า ปัญหาการเข้าร่วมปฏิบัติการยึดโมซุลของตุรกียังยุ่งยากและซับซ้อน

“บทบาทของสหรัฐฯ คือ ทำงานร่วมกับชาติพันธมิตรในปฏิบัติการผสมชาติพันธมิตรต่อต้านก่อการร้าย IS ในขณะที่หน้าของรัฐบาลอิรักต้องทำ คือ การแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหานี้ และทำให้แน่ใจว่าทุกชาตินั้นยังคงอยู่ในเป้าหมายการต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย IS ซึ่งผมมั่นใจว่า อเมริกาจะสามารถสร้างบทบาทแง่บวกในจุดนี้ได้” คาร์เตอร์แถลง

ซึ่งหนึ่งวันก่อนหน้านี้ คาร์เตอร์ได้บินไปพบกับประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ทายยิป เออร์โดวาน(Recep Tayyip Erdogan) และผู้นำคนอื่นๆของตุรกี พร้อมกับกล่าวว่า “สหรัฐฯได้ตกลงในหลักการร่วมกับตุรกี” สำหรับบทบาทของตุรกี ซึ่งในขณะนั้นผู้นำเพนตากอนย้ำอย่างหนักแน่นว่า ทุกการตัดสินขั้นสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นต้องขึ้นอยู่กับแบกแดดเท่านั้น พร้อมยังกล่าวต่อว่า เชื่อมั่นว่าทางอิรักและตุรกีจะสามารถทำให้ข้อแตกต่างระหว่างกันนั้นยุติลงได้

ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ของคาร์เตอร์ในระหว่างการเยือนตุรกี คาร์เตอร์ได้กล่าวว่า “ทางสหรัฐฯจะหารือถึงปัญหาเหล่านั้นอย่างแน่นอน และใช่สิ่งเหล่านี้ยังถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราทำอยู่ในกรอบของเรา และทางชาติพันธมิตรทำอยู่ในกรอบของพวกเขา โดยยึดถืออำนาจอธิปไตยของอิรักเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นหลักการที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ”

โดยรอยเตอร์ชี้ว่า ผู้นำตุรกีรู้สึกไม่สบอารมณ์ที่ตุรกีซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกนาโต แต่กลับไม่สามารถร่วมในปฎิบัติการยึดโมซุลคืนที่มีสหรัฐฯหนุนหลังมากไปกว่าขอบเขตที่ได้รับ และยังรู้สึกไม่พอใจที่สหรัฐฯยอมให้กองกำลังเคิร์ดทำการขับไล่กลุ่มก่อการร้าย IS ในซีเรีย

และในการตอบคำถามถึงเครื่องบินขับไล่ของตุรกีในการโจมตีกองกำลังเคิร์ดที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนในบริเวณตอนเหนือของซีเรีย คาร์เตอร์ตอบกลับมาว่า “ในขณะนี้ทางเรายังไม่สามารถยืนยันได้ในเรื่องนี้”

โดยแหล่งข่าวเพนตากอนได้เปิดเผยข้อมูลกับรอยเตอร์ในวันพฤหัสบดี(20 ต.ค)ว่า มีกลุ่มกองกำลังถูกโจมตีทางอากาศโดยเครื่องบินรบตุรกี ซึ่งกองกำลังติดอาวุธนี้ไม่ได้อยู่ในการสนับสนุนจากสหรัฐฯ แต่ทว่าเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิด และเป็นพันธมิตรกับกลุ่มติดอาวุธที่ทางวอชิงตันสนับสนุน

อย่างก็ตาม แหล่งข่าวเพนตากอนชี้ว่า ถึงแม้ว่าทางตุรกีมีสิทธิที่จะแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในอิรัก แต่ทางวอชิงตันได้ยืนยันอย่างแน่ชัดว่า “ไม่เห็นควรให้มีปฎิบัติการทางทหารเกิดขึ้นในพื้นที่ของอิรัก หากไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ”

และในวันเสาร์(22 ต.ค)จากการรายงานของรอยเตอร์ เออร์โดวานได้กล่าวตอบโต้กับอัล-อาบาดี โดยอ้างว่าตุรกีเคารพเส้นพรมแดนของทุกชาติ ถึงแม้จะทำให้ตุรกีต้องหนักใจก็ตาม โดยรอยเตอร์ชี้ว่า ดูเหมือนผู้นำตุรกีจะโยงไปถึงในประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิออตโตมันที่เมืองโมซุลเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเติร์ก

“มีพวกโง่เง่าเดินเข้ามาและตั้งคำถามว่า พวกเรามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับประเทศอิรัก แต่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นในขณะนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิญญาณแห่งชาวเติร์ก” เออร์โดวานกล่าว และเสริมต่อว่า “ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะทำให้เราต้องหนักใจก็ตาม แต่ทางอังการายังคงยืนยันในการเคารพต่ออธิปไตยของทุกชาติ”

แต่อย่างไรก็ตาม สื่อเคอร์ดิสถาน 24 รายงานว่า ดูเหมือนว่า ประธานาธิบดีเติร์กจะไม่เต็มใจที่จะยอมรับกับเขตแดนอธิปไตยของตัวเอง โดยในการประกาศกลางฝูงชนในวันเสาร์(19 ต.ค)ในเมืองบูร์ซา( Bursa) ทางตะวันตกของตุรกี เออร์โดวานประกาศว่า เส้นพรมแดนของตุรกีในปัจจุบันหดลงจาก 20 ล้านตารางกิโลเมตร เหลือเพียงแค่ 780 แสนตารางกิโลเมตรเท่านั้น อ้างอิงจากการรายงานของสำนักข่าวตุรกี Dogan

ซึ่งในแถลงการณ์ของเออร์โดวาน ผู้นำตุรกีได้อ้างไปถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมันที่ได้สูญเสียดินแดนลงหลังจากศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา “คนหนุ่มคนสาวชาวเติร์กทั้งหลายจงฟัง สาธารณรัฐแห่งเติร์กนี้ไม่ใช่จักรวรรดิแรกของพวกเราแต่เป็นดินแดนสุดท้าย ขอให้ผมได้บอกที่นี่เลยว่า พวกเราไม่เต็มใจในการต้องยอมรับเส้นแขตแดนเหล่านั้น แต่ขอให้ลืมมันไปถึงแม้ว่าดินแดนบางส่วนเป็นถิ่นกำเนิดของผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐนั้นในปัจจุบันต้องอยู่นอกเส้นอาณาเขตดินแดนของสาธารณรัฐตุรกีในปัจจุบันก็ตาม”

ทั้งนี้ผู้ก่อตั้งและประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk) นั้นเกิดในเทซซาโลนิกี (Thessaloniki) ซึ่งในอดีตเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน

และสื่อเคอร์ดิสถาน 24 กล่าวว่าเป็นอีกครั้งที่เออร์โดวานต้องหยิบยก มิซากี มิลลี (Misaki Milli) หรือคำปฎิญาณแห่งชาติตุรกีเพื่อใช้อ้างว่าเมืองโมซุลของอิรักเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตุรกี เพื่อเป็นเหตุผลในการอ้างขอเข้าร่วมปฎิบัติการยึดเมืองโมซุลคืนจากก่อการร้าย IS “เคอร์คุกและโมซุลเคยเป็นของพวกเรามาก่อน ดูไปที่ประวัติศาสตร์นี่สิ” เออร์โดวานประกาศยืนยันในตอนท้าย พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่จะไม่ปล่อยให้กลุ่มก่อการร้ายที่ปฎิบัติการอยู่ในบริเวณตอนเหนือของซีเรีย ที่มีสหรัฐฯหนุหลังเหล่ากบฎเคิร์ดเหล่านี้สามารถประกาศก่อตั้งอาณาจักรปกครองตนเองสำเร็จได้ในภูมิภาคหลังจากกลุ่มก่อการ้าย IS ได้ถูกขับออกไปจนหมด

ทั้งนี้เอพีรายงานว่า การเดินทางมายังอิรักเกิดขึ้นหลังจากที่มีหน่วยรบพิเศษสหรัฐฯถูกสังหารจากระเบิดแสวงเครื่อง IED ของกลุ่มก่อการร้าย IS ในระหว่างปฎิบัติการยึดโมซุลคืน 2 วันก่อนหน้านี้

โดยเดอะการ์เดียนสื่ออังกฤษได้รายงานความคืยหน้าปฎิบัติการยึดเมืองโมซุลคืนในวันเสาร์(22 ต.ค)ว่า สหรัฐฯได้แจกจ่ายหน้ากากกันแก๊สพิษจำนวน 24,000 ชิ้นให้แก่พันธมิตร ซึ่งแสดงไปถึงความวิตกว่า กลุ่มก่อการร้าย IS อาจจะใช้วิธีการโจมตีด้วยอาวุธเคมี หลังจากที่กลุ่มก่อการร้าย IS ได้จุดไฟเผาโรงงานผลิตสารซัลเฟอร์ใกล้เมืองโมซุล ส่งควันขาวคละคลุ้งเหม็นคลุ้งปกคลุมไปทั่วบริเวณ โดยมีรายงานว่าควันขาวที่คละคลุ้งผสมไปด้วยควันดำที่พวยพุ่งจากบ่อน้ำมันที่ถูกจุดไฟเผาโดยกลุ่มก่อการร้ายเช่นเดียวกัน

และพบว่ามีคนราว 1,000 คนต้องถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาหลังจากสูดดมแก๊สพิษเข้าไป แต่ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่การแพทย์ในโรงพยาบาลเคย์ยารา( Qayyara) ทางใต้ของเมืองโมซุลแถลงในวันเสาร์(22 ต.ค)
แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯบินเข้ากรุงแบกแดดแบบปิดกำหนดการ พบกับนายกรัฐมนตรีอิรัก ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) ในวันเสาร์(22 ต.ค)
แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯพบกับผู้นำตุรกี เรเจป เทยิป เออร์โดวาน (Recep Tayyip Erdogan)ในวันวันศุกร์(21 ต.ค)








กำลังโหลดความคิดเห็น