xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียกับรัสเซีย ‘ฮันนีมูน’ ครั้งที่ 2 หลัง‘มอสโก’ไปซ้อมรบกับ ‘ปากีสถาน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

India and Russia are enjoying a second honeymoon
By M.K. Bhadrakumar
15/10/2016

ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซียในรอบสิบปีที่ผ่านมา เคยอยู่ในภาวะจืดชืดเหมือนกับชีวิตสมรสอันเย็นชาไร้รสชาติ ทว่ามาในปีนี้ สถานการณ์กลับเปลี่ยนไปเป็นความคึกคักสดใส โดยที่อินเดียทำข้อตกลงสั่งซื้ออาวุธทันสมัยจากรัสเซียจำนวนมาก ระหว่างการประชุมการประชุมซัมมิตของ นเรนทรา โมดี กับ วลาดิมีร์ ปูติน ที่รัฐกัว ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียเมื่อกลางเดือนตุลาคม เหตุผลประการสำคัญของเรื่องนี้ก็คือการที่รัสเซียไปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับปากีสถาน ถึงขั้นจัดการซ้อมรบร่วมกัน

ตลอดช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา การประชุมระดับผู้นำประจำปีระหว่างอินเดียกับรัสเซียมีความโน้มเอียงที่จะกลายเป็นเหตุการณ์อันน่าเบื่อหน่าย --คล้ายๆ กับชีวิตแต่งงานอันแสนเซ็งแห้งแล้งขาดไร้ความโรมานซ์ อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมของปีนี้ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นข้างเคียงการประชุมซัมมิตของกลุ่มประเทศ “บริกส์” (BRICS 5 ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) ในรัฐกัว (Goa) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย ทำท่าว่าจะมีอะไรน่าตื่นเต้นเยอะแยะทีเดียว

ไหนๆ ก็เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซียเป็นคู่แต่งงานแล้ว ก็จะขอใช้การอุปมานี้ต่อไปก็แล้วกัน สาเหตุที่ทำให้มีความตื่นเต้นขึ้นมา เนื่องมาจากฝ่ายหนึ่งในคู่สมรสนี้ ถูกพบเห็นว่ากำลังไปติดพันคบค้ากับบุคคลผู้น่ารังเกียจคนหนึ่ง และการค้นพบเรื่องการเกี้ยวพาราสีดังกล่าวนี่เอง กลายเป็นตัวกระตุ้นให้ชีวิตสมรสแสนจืดชืดนี้กลับตื่นตัวขึ้นมาใหม่ในชั่วเวลาเพียงแค่ข้ามคืน เนื่องจากคู่ครองทั้งสองต่างตระหนักว่ากำลังถูกเรียกร้องให้ต้องตัดสินใจเลือกเพื่อการดำรงคงอยู่ของความสัมพันธ์ระหว่างกัน พวกเขาจึงหวนกลับมาค้นพบความรู้สึกเร่าร้อนถวิลหากันและกันอันเก่าของพวกเขาในท่ามกลางเงื่อนไขความเป็นจริงของสถานการณ์อย่างใหม่

นี่เป็นการสรุปเพียงเพื่อให้มองเห็นความอิหลักอิเหลื่อสองจิตสองใจของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

ไม่ต้องสงสัยเลย การฝึกร่วมทางทหารระหว่างรัสเซียกับปากีสถานเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นตัวกระตุ้นให้เร่งละลาย “น้ำแข็ง” หรือก็คือความเหินห่าง ที่เกาะกุมความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซียเอาไว้ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ นี้

ความเย็นชาดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาอย่างช้าๆ และฝ่ายอินเดียไม่ควรที่จะรู้สึกเซอร์ไพรซ์อะไรหรอก --ยกเว้นแต่ว่าพวกเขามัวแต่หมกมุ่นสาละวนโฟกัสอยู่ที่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับสหรัฐฯ จนกระทั่งละสายตาออกไปจากรัสเซีย ซึ่งเป็นเพื่อนมิตร “ผู้ผ่านการพิสูจน์จากกาลเวลาแล้ว” ของพวกเขา

นับเป็นเรื่องตลกร้ายที่น่าหัวเราะเยาะ เพราะพวกนักล็อบบี้ที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ให้สหรัฐฯ ซึ่งแอบซ่อนอำพรางตัวอยู่ภายในสำนักคลังสมองต่างๆ ของนิวเดลี โดยในนี้บางคนก็เป็นอดีตนักการทูตด้วย พวกนี้แหละที่ทุกวันนี้ดูเหมือนเป็นคนที่ออกมาแสดงความวิตกทุกข์ร้อนมากที่สุด เกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาระบุว่า รัสเซีย “หลอกต้ม” อินเดีย นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรเลย ในเมื่อรัสเซียนั้นได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สมควรนำมาพิจารณากันก็คือ อะไรเป็นแรงกระตุ้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับปากีสถานกระชับสนิทสนมมากขึ้นเช่นนี้? เหตุผลใหญ่ๆ ของเรื่องนี้น่าจะมีอยู่ 3 ประการ

ประการแรกสุด รัสเซียไม่สามารถที่จะละเลยมองข้ามฐานะความเป็นศูนย์กลางของปากีสถาน เมื่อขบคิดพิจารณาถึงการต่อสู้อันยากลำบากที่รัสเซียจะต้องกระทำกับกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในอัฟกานิสถานและในบรรดารัฐแถบเอเชียกลางในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งก็จะมีมิติในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย หากพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่มุ่งจะ “ปิดล้อม” รัสเซีย โดยอาศัยพวกกลุ่มที่มีท่าทีเป็นปรปักษ์ทั้งหลาย

พูดง่ายๆ ก็คือ รัสเซียรู้สึกว่าตนเองถูกบีบบังคับ (ส่วนจะถูกบีบบังคับจริงๆ หรือว่ารู้สึกไปเอง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ให้ต้องหาทางสลายความสามารถของสหรัฐฯในการสร้างภัยคุกคามทางความมั่นคงทั้งหลายขึ้นมา

ขณะที่สำหรับอินเดียแล้ว ไอเอสอาจจะยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะเข้าใจ ทว่าสำหรับรัสเซียนั้น ไอเอสคือปีศาจที่มีเลือดเนื้อมีตัวตนจริงๆ ตามการประมาณการของฝ่ายรัสเซีย พวกผู้ปฏิบัติงานของไอเอสในอัฟกานิสถานได้เพิ่มทวีขึ้นมาอย่างมากมายมหาศาล จากจำนวนเพียง 100 คนกลายมาเป็น 10,000 คนแล้วเพียงแค่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานี้

ซามีร์ คาบูลอฟ (Zamir Kabulov) ผู้แทนพิเศษของวังเครมลิน ชี้ให้เห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “สาขาในอัฟกานิสถานของไอเอสนั้น มีความชำนาญเป็นพิเศษอย่างชัดเจนในการมุ่งเล่นงานเอเชียกลาง กระทั่งภาษารัสเซียกลายเป็นภาษาหนึ่งที่ใช้ในการทำงานของพวกเขา พวกเขากำลังได้รับการฝึกอบรมให้เล่นงานเอเชียกลางและรัสเซีย”

ประการที่สอง ปากีสถานกำลังจะเข้าสู่องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization หรือ SCO) ในฐานะของการเป็นสมาชิกสมบูรณ์ ซึ่งเรียกร้องให้รัสเซียต้องสร้างความสนับสนุนทางด้านความมั่นคงแบบใหม่ๆ กับประเทศนี้ นิวเดลีต่างหากที่เชื่องช้าไม่สามารถยึดกุมทำความเข้าใจว่า การที่อินเดียก็ได้เข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ของ SCO นั้น จะทำให้มีข้อผูกพันทำนองเดียวกันขึ้นมา กล่าวคือ กองทัพอินเดียจะต้องจัดการฝึกทางทหารกับกองทัพปากีสถานอยู่เป็นประจำเช่นเดียวกัน

ประการที่สาม รัสเซียมีประเพณีแต่ไรแต่ไหนที่จะจับจ้องหาทางพัฒนาความผูกพันทางธุรกิจกับปากีสถาน ควรที่จะชี้ให้เห็นว่า โรงงานผลิตเหล็กกล้า การาจี สตีล มิลส์ (Karachi Steel Mills) สร้างขึ้นด้วยคุณูปการของสหภาพโซเวียตในยุคทศวรรษ 1970 ในช่วงที่มิตรภาพระหว่างโซเวียตกับอินเดียกำลังผ่านวันเวลาอันสงบสุขด้วยซ้ำ

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มอสโกไม่ได้ตามืดตามัวจนมองไม่เห็นว่า ปากีสถานกำลังจะกลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรายใหญ่มหึมาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ในทันทีที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor) ซึ่งมีมูลค่าถึง 46,000 ล้านดอลลาร์ เดินหน้าไปถึงระดับทำให้เกิดแรงฉุดกระชากอันคึกคัก และเงื่อนไขทางการตลาดใหม่ๆ ปรากฏขึ้นในภูมิภาคแถบนี้

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ในเรื่องการสร้างสายสัมพันธ์กับปากีสถานนั้น มอสโกมองไม่เห็นว่ามันจะมีอะไรซึ่งเป็นการขัดแย้งกับความสัมพันธ์ที่ตนเองมีอยู่กับอินเดีย ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ไม่ได้เรียกร้องต่ออินเดียให้ลดทอนความเร่าร้อนที่มีต่อสหรัฐฯลงเสียบ้าง เช่นเดียวกับที่รัสเซียจะไม่ยอมรับหากอินเดียมีความพยายามใดๆ ที่จะเพิ่มคำตักเตือนเข้าไปในการดำเนินนโยบายภูมิภาคของรัสเซีย ตรงนี้มีตัวอย่างที่เป็นจริงซึ่งสามารถหยิบยกมาพิจารณาประกอบ

อินเดียกับสหรัฐฯประกาศที่จะสถาปนา “ความเป็นหุ้นส่วนกันอย่างชัดเจนแห่งศตวรรษที่ 21” (defining partnership of the 21st century) ส่วนรัสเซียกับจีนก็ประกาศเดินหน้า “ความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ทั้งสองอย่างนี้ต่างควรถือเป็นความสัมพันธ์ในระดับสูงอย่างเป็นประวัติการณ์ทั้งนั้น

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯกำลังแตะระดับของการเข้าสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนก็ตกอยู่ใน “กลุ่มอาการแข่งขันกันพร้อมๆ กับร่วมมือกัน” (‘competition-cum-cooperation’ syndrome)

เป็นเรื่องดีที่รัสเซียและอินเดียต่างไม่ได้กำลังตั้งข้อเรียกร้องจากกันและกัน ในการที่แต่ละฝ่ายจะเลือกสรรทางยุทธศาสตร์อย่างไรในท่ามกลางสภาพแวดล้อมระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติซึ่งมีความวูบวาบเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรุนแรง

พูดก็พูดเถอะ มันไม่ใช่เป็นเรื่องยากลำบากอะไรนักหรอกที่อินเดียกับรัสเซียจะบรรลุจุดสมดุลกันได้ เพราะภายในประเทศทั้งสอง “พวกนิยมตะวันตก” (westernists) นั่นเองคือพวกที่ครอบงำวาทกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในยุคหลังสงครามเย็น

ถึงแม้จะพูดเช่นนี้ แต่การฝึกทหารร่วมระหว่างรัสเซียกับปากีสถานก็ถือว่าทำให้บรรลุวัตถุประสงค์อันมีประโยชน์ประการหนึ่ง บางทีมอสโกอาจไม่ได้มีเจตนา แต่มันก็เป็นเสมือนการลงมือใช้ “การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า” ต่อชนชั้นนำผู้กำลังปกครองอินเดีย เป็นการเตือนให้พวกเขาระลึกว่า ความผูกพันทางยุทธศาสตร์นั้นจำเป็นที่จะต้องคอยถนอมดูแลรักษาให้มีสภาพดีอยู่เสมอ แม้กระทั่งการละเลยในขนาดแค่เรื่อยเฉื่อยไปบ้าง ก็ยังอาจเกิดผลต่อเนื่องอันตรายขึ้นมาได้ในเวลาต่อไปข้างหน้า

ภายในท้องพระโรงของนิวเดลีนั้น สิ่งที่แน่นอนมากประการหนึ่งก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยการสั่งการจากบนลงล่าง ทันทีที่พระจักรพรรดิทรงฟาดแส้ เหล่าข้าราชบริพารก็จะเร่งรีบกันตัวสั่นงันงก ด้วยเหตุนี้เอง นิวเดลีจึงสามารถรวบรวมจัดหาข้าวของมีราคาเอาไว้ต้อนรับปูตินได้ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วเป็นประวัติการณ์

ข้อตกลงเพื่อซื้อระบบต่อต้านขีปนาวุธนำวิถี เอส-400 (S-400 ABM system) ของรัสเซียมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์นั้น สามารถเห็นชอบกันได้ในขั้นสุดท้ายแล้ว, ขณะที่อาจจะมีลมหายใจสดใหม่เข้ามาเพื่อชุบชีวิตดีลที่อาจจะมีมูลค่าขึ้นไปถึง 6,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการร่วมมือกับรัสเซียเพื่อพัฒนาเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 5 ทั้งนี้ข้อตกลงนี้ทำท่าว่าจะสิ้นชีพเสียแล้วก่อนหน้านี้, ยังมีดีลมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อลงมือผลิตเฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ขนาดเบา คามอฟ 226ที (Kamov 226T light utility helicopter) ในอินเดีย, นอกจากนั้นจะมีการลงนามในข้อตกลงเพื่อให้รัสเซียก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มอีก 2 แห่งซึ่งตีราคากันว่าคงจะอยู่ที่ประมาณสัก 30,000 ล้านดอลลาร์, จะมีการตัดสินใจเพื่อเช่าซื้อเรือดำน้ำโจมตีใช้เครื่องยนต์นิวเคลียร์ ชั้นอาคูลา (Akula-class) ของรัสเซียเป็นลำที่ 2 ในราคาระดับ 1,500 ล้านดอลลาร์, และอาจจะมีดีลอีกฉบับหนึ่งที่มีมูลค่าเรือนหลายๆ พันล้านดอลลาร์ทีเดียว สำหรับเรือฟริเกตเทคโนโลยีสเตลธ์ติดตั้งขีปนาวุธน้ำวิถี (guided missile stealth frigate) ชั้นแอดมิรัล กริโกโรวิช (Admiral Grigorovich-class) จากรัสเซีย (โดยเป็นการซื้อโดยตรง 2 ลำ และร่วมกันผลิตในอินเดียอีก 2 ลำ)

เป็นที่ทราบกันดีว่าปูตินมีความรักความชื่นชอบมากมายมหาศาลในกีฬาประเภทผจญภัย กัวจะเป็นสถานที่อันวิเศษสุดสำหรับการเล่นกระดานโต้คลื่นทีเดียว ถ้ามีการกำหนดจัดประชุมซัมมิตกลุ่มบริกส์ขึ้นในช่วงสองสามเดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นระยะที่มีคลื่นลูกใหญ่ๆ โดยคลื่นยักษ์ๆ อาจจะมีขนาดมหึมา 15 ฟุตหรือโตกว่านั้นอีก --พร้อมกับมีลมพัดออก (offshore winds) สุดยอดนุ่มนวล และคลื่นระดับเวิลด์คลาส

เมื่อถึงเดือนตุลาคม คลื่นหัวเรียบลูกใหญ่ๆ หายไปหมดแล้ว กระนั้นก็ตาม โมดีสามารถมั่นใจได้ว่าการไปเยือนกัวในเดือนตุลาคมนี้ ยังคงมีสิ่งซึ่งสามารถทำให้ปูตินตื่นเต้นได้

อินเดียกำลังห่อแหวนหมั้นให้แก่รัสเซีย อย่างชนิดที่จีนหรือปากีสถานก็ไม่สามารถที่จะแข่งขันด้วยได้

แน่นอนทีเดียว การหมั้นหมายดังกล่าวที่ขีดวงอยู่แค่เรื่องการป้องกันและพลังงานย่อมมีข้อจำกัด เมื่อความบกพร่องเชิงระบบยังคงดำเนินต่อไป สิ่งที่ออกจะเหลือเชื่อก็คือ การค้าทวิภาคีระหว่างรัสเซียกับอินเดียนั้นยังคงกระเสือกกระสนอยู่ใต้ระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์ (การค้าของอินเดียที่ทำกับจีนหรือกับสหรัฐฯ จะมีมูลค่าเป็น 6 เท่าตัว และ 10 เท่าตัวของจำนวนนี้ตามลำดับ)

อย่างไรก็ตาม เรื่องตลกร้ายที่ถือเป็นมารดาแห่งตลกร้ายทั้งหลายทั้งปวงก็คือ ไม่ใช่ปักกิ่งหรืออิสลามาบัดหรอกที่เป็นตัวสร้างความกังวลน่าเป็นห่วงให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซีย หากแต่เป็นวอชิงตันต่างหาก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเอาไว้เมื่อ 10 วันที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีกลาโหม แอชตัน คาร์เตอร์ (Ashton Carter) ของสหรัฐฯ กำลังวางแผนการที่จะเดินทางมาเยือนอินเดียอีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนท้ายๆ ของคณะบริหารโอบามา โดยมี “ความกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่มนุษย์ธรรมดาจะสามารถทำได้” ในเรื่องของข้อตกลงด้านอาวุธ ทั้งนี้เนื่องจากเขาเชื่อในผลการประเมินศึกษาที่ระบุว่า เงื่อนไขต่างๆ และบุคลากรที่อยู่ในเมืองหลวงของทั้งสองฝ่ายในขณะนี้ กำลังอยู่ในสภาพเอื้ออำนวยอย่างพิเศษสุด และกำลังมีความกระตือรือร้นที่จะผนึกรวม ตลอดจนทำให้ความก้าวหน้าในข้อตกลงด้านอาวุธระหว่างสหรัฐฯกับอินเดีย กลายเป็นข้อตกลงอย่างเป็นทางการ

ตามรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า สหรัฐฯ “ขับไล่รัสเซียออกจากฐานะการเป็นผู้ส่งอาวุธอันดับหนึ่งให้แก่อินเดียแล้ว”

นี่เป็นการพูดเร็วเกินไปหรือเปล่า?

สำหรับในขณะนี้ การประชุมซัมมิตระหว่างโมดีกับปูตินที่กัว ยังคงเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าความผูกพันด้านกลาโหมระหว่างอินเดียกับรัสเซีย ยังคงแข็งแกร่งเหมือนที่เคยเป็นมา

สิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ก็คือว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับรัสเซียนั้น ก็เหมือนๆ กับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่าง 2 ประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างกันมากมายรายอื่นๆ นั่นคือมีทั้งช่วงขึ้นและช่วงลงของมัน ทว่าถึงที่สุดแล้วความไว้วางใจกันและความเชื่อมั่นในกันและกันก็ยังคงกลายเป็นรากฐานอันหนักแน่นให้แก่ความสัมพันธ์นี้

ในโลกที่เต็มไปด้วยความหายนะจากความไม่แน่นอนต่างๆ และจากอันตรายอันซ่อนเร้นอำพรางต่างๆ ประเทศทั้งสองต่างมีส่วนได้ส่วนเสียสูงยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ความผูกพันที่อินเดียมีอยู่กับจีนนั้นกำลังมีความเค้นอันรุนแรง ขณะที่ความตึงเครียดซึ่งอินเดียมีอยู่กับปากีสถานก็กำลังแผ่ขยายออกไป

สำหรับรัสเซียก็เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยในการที่อินเดียแสดงความเข้าอกเข้าใจต่อการที่รัสเซียผนวกรวมเอาแหลมไครเมียมาเป็นส่วนหนึ่งของตน หรือในการที่อินเดียแสดงความสนับสนุนต่อสงครามที่รัสเซียมีบทบาทอยู่ในซีเรีย

(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ เอเชียไทมส์จึงไม่ได้รับผิดชอบต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

หมายเหตุผู้แปล

ข้อเขียนเรื่อง “India and Russia are enjoying a second honeymoon” (อินเดียกับรัสเซีย ‘ฮันนีมูน’ ครั้งที่ 2 หลัง‘มอสโก’ไปซ้อมรบกับ ‘ปากีสถาน’) ข้างบนนี้ ผู้เขียนคือ เอ็ม เค ภัทรกุมาร เขียนขึ้นก่อนการประชุมซัมมิตระหว่างนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่รัฐกัว เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ต่อมาเอเชียไทมส์ได้เผยแพร่รายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับผลของซัมมิตคราวนี้ โดยรวบรวมเรียบเรียงจากข่าวของสำนักข่าวต่างๆ จึงขอเก็บความนำมาเผยแพร่ประกอบเพิ่มเติมในที่นี้:

อินเดียจะซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธสุดไฮเทคจากรัสเซีย
โดย เอเจนซีส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

India to buy Russian surface-to-air missile defense system
By Agencies
15/10/2016

โมดีบอกว่า การที่อินเดียมีเพื่อนมิตรเก่าแก่คนหนึ่ง ย่อมดีกว่ามีเพื่อนมิตรใหม่ 2 คนเสียอีก ในขณะที่เขาร่วมพิธีลงนามข้อตกลง 16 ฉบับระหว่างอินเดียกับรัสเซีย ซึ่งเป็นดีลในด้านกลาโหม, พลังงาน, ไฟฟ้า, และการต่อเรือ

อินเดียประกาศจะซื้อ ระบบต่อต้านขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นสู่อากาศ เอส-400 ที่มีมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์จากรัสเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสิบกว่าฉบับซึ่งประเทศทั้งสองลงนามกันเมื่อวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม ในบรรยากาศที่ชาติพันธมิตรซึ่งจับมือกันมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็นทั้ง 2 รายนี้ กำลังเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ทางทหารของพวกเขา

ทั้ง 2 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้รวมทั้งสิ้น 16 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นดีลทางด้านกลาโหม, พลังงาน, และการต่อเรือ ภายหลังการพูดจาหารือกันระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย

ผู้นำทั้ง 2 หารือกันที่ กัว (Goa) รัฐรีสอร์ตชื่อดังทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และก็เป็นสถานที่ซึ่งเหล่าผู้นำของกลุ่ม “บริกส์” (BRICS หรือ 5 ชาติเศรษฐกิจตลาดใหม่ขนาดใหญ่ อันได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) กำลังพบปะประชุมกันอยู่ โมดี กับ ปูติน ยังประกาศเปิดทำการหน่วยที่ 3 และหน่วยที่ 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คูดันคูลัม (Kudankulam) ในรัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) ทางภาคใต้ของแดนภารตะ ซึ่งสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีของฝ่ายรัสเซีย

“พวกเราตกลงกันที่จะทำงานในเรื่องการจัดการประชุมประจำปีของอุตสาหกรรมทางการทหาร ซึ่งจะเปิดทางให้เหล่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งสองฝ่าย ได้พบปะกันอย่างเป็นทางการและผลักดันความร่วมมือกันให้คืบหน้าไปอีก” โมดี แถลง โดยที่เขายังเรียกรัสเซียว่าเป็น หนึ่งใน “เพื่อนมิตรเก่าแก่ของอินเดีย” พร้อมกับบอกว่า เพื่อนมิตรเก่าแก่คนหนึ่งนั้นดีกว่าเพื่อนมิตรใหม่ 2 คนเสียอีก

นอกเหนือจากเรื่องการซื้อระบบป้องกันทางอากาศ เอส-400 ไทรอัมฟ์ (S-400 Triumf air defence systems) แล้ว ประเทศทั้งสองยังตกลงจะร่วมมือกันในการต่อเรือฟริเกตที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าจำนวน 4 ลำ และจะจัดตั้งโรงงานร่วมผลิต เพื่อใช้ผลิตเฮลิคอปเตอร์ทหารแบบ “คามอฟ” (Kamov)

ข้อตกลงเหล่านี้ให้ประโยชน์แก่รัสเซีย ในขณะที่มอสโกกำลังต่อสู้กับการแข่งขันอันหนักหน่วงจากพวกบริษัทแถบอเมริกาเหนือและแถบยุโรป เพื่อรักษาตำแหน่งการเป็นผู้จัดหาจัดส่งอาวุธทางทางทหารรายใหญ่ที่สุดให้แก่อินเดียเอาไว้

ในดีลที่ทำกันคราวนี้ ข้อตกลงที่ทรงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์มากที่สุด ได้แก่การซื้อระบบขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศพิสัยไกลแบบ เอส-400 ซึ่งมีสมรรถนะทำลายทั้งเครื่องบิน, ขีปนาวุธ, และอากาศไร้นักบิน (โดรน) ที่กำลังแล่นเข้ามาด้วยความมุ่งร้าย ในระยะห่างออกไปไกลถึง 400 กิโลเมตร

อินเดียกับรัสเซียได้เจรจาหารือกันมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ในเรื่องที่แดนภารตะจะขอซื้อระบบ เอส-400 อย่างน้อยที่สุด 5 ระบบ

จากความสามารถของ เอส-400 ที่จะยิงขีปนาวุธออกไปสกัดได้ถึง 3 ประเภทด้วยกัน จึงเป็นการสร้างสมรรถนะการป้องกันแบบที่เรียกกันว่า การป้องกันหลายชั้น รวมทั้งยังสามารถยิงใส่เป้าหมายพร้อมๆ กัน 36 เป้าหมาย ทั้งนี้อินเดียจะเป็นผู้ซื้อรายที่ 2 ของระบบขีปนาวุธนี้ หลังจากจีนได้ลงนามในข้อตกลงกับรัสเซียมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ไปเมื่อปีที่แล้ว

ดีลสำคัญอีกฉบับหนึ่งได้แก่ ข้อตกลงเรื่องเรือฟริเกตใช้เทคโนโลยีสเตลธ์ และติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี ชั้น “แอดมิรัล กริโกโรวิช”( Admiral Grigorovich-class guided-missile stealth frigate) จำนวน 4 ลำ ภายใต้ข้อตกลงที่ทำกันคราวนี้ เรือแบบนี้ 2 ลำจะต่อที่รัสเซีย ส่วนอีก 2 ลำจะต่อในอินเดียด้วยความร่วมมือของฝ่ายรัสเซีย ขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจแน่นอนว่าจะเลือกต่อที่อู่ต่อเรืออินเดียแห่งใด

รัสเซียนั้นได้เคยต่อเรือฟริเกตชั้น “ทัลวาร์” (Talwar-class frigate) จำนวน 6 ลำให้แก่กองทัพเรืออินเดีย ในช่วงระหว่างปี 2003 ถึง 2013

สำหรับข้อตกลงเพื่อผลิตเฮลิคอปเตอร์แบบ คามอฟ 226ที (Kamov 226T) จำนวน 200 ลำในอินเดียนั้น มีมูลค่าเกือบๆ 1,000 ล้านดอลลาร์ เฮลิคอปเตอร์เหล่านี้จะเข้าแทนที่ ฮ.แบบชีตาห์ (Cheetah) และแบบ เชตัค (Chetak) ที่ใช้งานมานานแล้วของแดนภารตะ


กำลังโหลดความคิดเห็น