เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ประกาศจะ “กำจัด” พวกที่ชอบร่วมเพศกับเด็กด้วยวิธีตอนทางเคมี (chemical castration) พร้อมยืนยันว่าแดนอิเหนาเคารพในสิทธิมนุษยชน แต่จะไม่รอมชอมกับอาชญากรรมทางเพศ
เมื่อต้นเดือนนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้วิธีตอนทางเคมีกับนักโทษที่ก่อคดีข่มขืนเยาวชน หลังร่างกฎหมายนี้ถูกอภิปรายในรัฐสภาอย่างดุเดือด
“กฎหมายรัฐธรรมนูญของเราเคารพสิทธิมนุษยชน แต่หากเป็นเรื่องอาชญากรรมทางเพศ เราจะไม่ประนีประนอม” วิโดโด ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซี
“เราพร้อมจะใช้มาตรการที่แข็งกร้าว และลงโทษขั้นสูงสุดต่ออาชญากรทางเพศ”
“ในความเห็นของผม การตอนทางเคมี...หากบังคับใช้ให้เป็นรูปธรรม จะช่วยลดการก่ออาชญากรรมทางเพศ จนกระทั่งหมดไปได้ในที่สุด”
ประธานาธิบดีวิโดโด หรือที่ชาวอิเหนาเรียกขานกันว่า “โจโควี” ยังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นร้อนอื่นๆ เช่น ปัญหาทะเลจีนใต้ การทุจริตคอร์รัปชัน การนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร (tax amnesty) รวมถึงจุดยืนของรัฐบาลเกี่ยวกับคนรักร่วมเพศ
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศรับสมัครทูตเยาวชน และระบุอย่างชัดเจนว่าคนที่เป็นเลสเบียน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ (LGBT) ไม่ต้องยื่นใบสมัคร เพราะเปิดรับเฉพาะบุคคลที่ “ไม่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ” เท่านั้น
วิโดโดยืนยันว่า รัฐบาลของเขาไม่ได้กีดกันคนกลุ่มน้อย “เราเป็นชาติมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีบรรทัดฐานทางศาสนาอยู่ คุณต้องเข้าใจในจุดนี้”
ในประเด็นข้อพิพาททะเลจีนใต้ ประธานาธิบดีอิเหนาได้ชี้แจงสาเหตุที่ต้องเพิ่มกำลังทหารป้องกันน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะนาตูนา (Natuna Islands) ว่า กองทัพอินโดนีเซียจำเป็นต้องยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าว
“นี่คือแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติของเรา นี่เป็นสินทรัพย์ของอินโดนีเซีย นับแต่นี้ไปเรือประมงผิดกฎหมายจะมาทำล้อเล่นกับเราไม่ได้อีก”
“ประการที่ 2 หมู่เกาะนาตูนาเป็นดินแดนของเรา นาตูนาอยู่ในเขตแดนอินโดนีเซีย เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะดำเนินกิจกรรมทางทหารหรือซ้อมรบมันก็เป็นสิทธิ์ของเรา ผมจะไม่ประนีประนอมในเรื่องอธิปไตยของชาติ”
ผู้นำอินโดนีเซียยืนยันว่า รัฐบาลของเขาจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้หมดสิ้นไป
“รัฐมนตรี 9 คน, ผู้ว่าการจังหวัด 19 คน, ผู้นำท้องถิ่นราวๆ 300 คน และสมาชิกรัฐสภาอีก 100 คน ถูกส่งเข้าคุกเพราะมีพฤติกรรมคอร์รัปชัน” วิโดโด ระบุ
“เราจะมีบทลงโทษที่เด็ดขาดและเข้มงวดต่อผู้ที่ทุจริต และเราจะใช้มาตรการเด็ดขาดเช่นนี้ต่อไปเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น”
เมื่อเดือน ก.ย. แรงงานอินโดนีเซียหลายพันคนได้ชุมนุมประท้วงในกรุงจาการ์ตาเพื่อคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมทางภาษี ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะช่วยลดการขาดดุลงบประมาณ แต่สหภาพแรงงานกลับมองว่าเป็นการอภัยโทษอย่างไม่เป็นธรรมให้แก่พวกคนรวยที่หลบเลี่ยงภาษี
“ผมไม่ได้คำนึงว่าเราจะได้เงินกลับมาเท่าไหร่... สิ่งสำคัญที่สุดคือการริเริ่มปฏิรูประบบภาษีในอินโดนีเซีย”
“เราต้องการขยายและปรับปรุงระบบการเก็บภาษี ต้องการสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาในหมู่พลเมืองผู้จ่ายภาษี เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เสียภาษีมั่นใจว่า เงินที่พวกเขาจ่ายจะถูกนำไปใช้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ”