รอยเตอร์ - ค่ายรถเมืองเบียร์ “โฟล์คสวาเกน” อาจต้องรับซื้อรถยนต์คืนราว 115,000 คันในสหรัฐฯ โดยเป็นผลสืบเนื่องจากกระแสข่าวฉาวเรื่องอุปกรณ์โกงค่ามลพิษในรถเครื่องยนต์ดีเซล สื่อเยอรมนีรายงานวันนี้ (7 ม.ค.)
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ ซึดดอยตช์ ไซตุง (Süddeutsche Zeitung) ซึ่งไม่อ้างอิงแหล่งข่าว ระบุว่า โฟล์คสวาเกนอาจตัดสินใจรับซื้อคืนรถยนต์ราว 1 ใน 5 ของรถยนต์ทั้งหมดที่พบปัญหา โดยจ่ายเงินคืนให้แก่เจ้าของรถเต็มจำนวน หรือไม่ก็ให้สิทธิ์ซื้อรถยนต์คันใหม่ในราคาลดพิเศษ ส่วนรถยนต์ที่เหลือจำเป็นต้องยกเครื่องขนานใหญ่ ซึ่งจะต้องมีค่าอะไหล่และใช้เวลาเข้าอู่ซ่อมนานพอสมควร เนื่องจากจะต้องปรับปรุงระบบท่อไอเสีย
โฟล์คสวาเกน ยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานชิ้นนี้
เฮอร์เบิร์ต เดียสส์ ซีอีโอโฟล์คสวาเกน เผยเมื่อวันอังคาร(5)ว่า ตนมีความมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้ตรวจสอบสหรัฐฯ เพื่อทำให้รถยนต์เครื่องดีเซลเกือบ 500,000 คันมีคุณสมบัติตรงตามข้อบังคับในกฎหมายว่าด้วยการปลดปล่อยไอเสีย
ในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ เดียสส์ ยอมรับว่า การปรับปรุงแก้ไขรถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 2.0 ลิตร ทำได้ยากกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ
ผู้ตรวจสอบสหรัฐฯ และสมาชิกสภาคองเกรสบางคนเผยว่า โฟล์คสวาเกนอาจจำเป็นต้องรับซื้อคืนรถยนต์รุ่นเก่า ขณะที่ เดียสส์ ไม่ได้ระบุว่าทางบริษัทเคยพูดคุยเรื่องนี้หรือไม่ โดยบอกแต่เพียงว่า มีความมั่นใจว่าจะตกลงกับทางการสหรัฐฯ ได้ในเร็วๆ นี้
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) แถลงเมื่อวานนี้ (6) ว่า “การหารือกับโฟล์คสวาเกนเรื่องเรียกคืนยานพาหนะยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทว่า อีพีเอ จะผลักดันให้ทางบริษัทหาวิธีเยียวยาที่เหมาะสมให้ได้โดยเร็วที่สุด”
เมื่อวันจันทร์(4) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าปรับจากโฟล์คสวาเกนเป็นเงินสูงสุด 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ฐานฝ่าฝืนกฎหมายสิ่งแวดล้อม
ซึดดอยตช์ ไซตุง รายงานด้วยว่า พนักงานโฟล์คสวาเกนราว 50 คนรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าแผนกได้เสนอตัวออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยบริษัทสะสางปัญหา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการยกเว้นความผิดแก่พนักงานภายในบริษัท (internal amnesty program)
ค่ายรถชื่อดังยอมรับว่า ได้ทำการติดตั้งซอฟต์แวร์โกงค่าไอเสียที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษในรถยนต์เครื่องดีเซลประมาณ 11 ล้านคัน โดยที่ซอฟต์แวร์ที่ว่านี้จะไปปิดระบบควบคุมมลพิษระหว่างที่มีการขับขี่ตามปกติ และจะเปิดระบบก็ต่อเมื่อได้ตรวจพบว่ารถยนต์คันนั้นๆ กำลังถูกตรวจสอบการปล่อยไอเสียอยู่เท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า ระหว่างที่ระบบควบคุมไอเสียถูกปิดกั้นการทำงานโดยซอฟต์แวร์อยู่นั้น รถของโฟล์คสวาเกนอาจปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ ซึ่งรวมถึงก๊าซพิษจำพวกไนโตรเจนออกไซด์ ออกสู่อากาศในปริมาณที่สูงถึง “40 เท่า” ของมาตรฐานการปล่อยไอเสียตามปกติเลยทีเดียว
เดียสส์ ระบุว่า โฟล์คสวาเกนจะดำเนินการปรับปรุงระบบไอเสียในรถยนต์ดีเซลราว 8.5 ล้านคันที่จำหน่ายในยุโรปเสร็จสิ้นภายในปี 2016