xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทจีนทำดีลกับเอกชนบังกาเทศมูลค่า $13,600 ล้าน ตามติดภาครัฐที่ปล่อยกู้และลงทุน $20,000 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(เก็บความจากเอเอฟพี, รอยเตอร์)

Bangladesh, China firms ink multi-bln deals as Xi ends tour
15/10/2016

ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไปเยือนบังกลาเทศช่วงสั้นๆ เมื่อวันที่ 14-15 ต.ค.ที่ผ่านมา ภาครัฐของจีนได้ลงนามข้อตกลงให้เงินกู้และทำการลงทุนในบังกลาเทศมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐวิสาหกิจและบริษัทของทั้งสองประเทศก็ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าและการลงทุนรวมเป็นมูลค่า 13,600 ล้านดอลลาร์

เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เข้าร่วมในการลงนามข้อตกลงให้เงินกู้และทำการลงทุนในบังกลาเทศหลายฉบับที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ (15 ต.ค.) ถัดจากนั้นอีก 1 วัน เจ้าหน้าที่ด้านการค้าแถลงว่า รัฐวิสาหกิจและบริษัทของประเทศทั้งสอง ยังได้ลงนามในข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนรวมเป็นมูลค่า 13,600 ล้านดอลลาร์

สี ซึ่งแวะเดินทางเยือนบังกลาเทศเป็นช่วงสั้นๆ ก่อนเดินทางต่อไปเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม “บริกส์” ( BRICS 5 ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ของโลก ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้) ที่รัฐกัว ทางภาคตะวันตกของประเทศอินเดีย แถลงภายหลังหารือกับนายกรัฐมนตรี ชัยค์ ฮาซีนา ของบังกลาเทศ ที่กรุงธากาว่า “เราตกลงเห็นพ้องต้องกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับบังกลาเทศ จากการเป็นหุ้นส่วนกันอย่างรอบด้านที่มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น (closer comprehensive partnership) ให้กลายเป็นหุ้นส่วนแห่งความร่วมมือกันในทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership of cooperation)

เขาระบุด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองได้มาถึง “จุดพลิกเปลี่ยนแห่งประวัติศาสตร์” ขณะที่นายกรัฐมนตรีหญิงของบังกลาเทศกล่าวว่า “เราได้บรรลุฉันทามติในการทำงานร่วมกันในด้านการค้าและการลงทุน ตลอดจนในด้านที่สำคัญอื่นๆ เป็นต้นว่า โครงสร้างพื้นฐาน, เกษตรกรรม, พลังงานและไฟฟ้า, เทคโนโลยีสารสนเทศ, และการคมนาคมขนส่ง”

ยังไม่มีการแจกแจงรายละเอียดของข้อตกลงฉบับต่างๆ ระหว่างประเทศทั้งสองในคราวนี้ แต่สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างการเปิดเผยของรัฐมนตรีอาวุโสผู้หนึ่งซึ่งเข้าร่วมการเจรจาแบบปิดประตูคุยกันคราวนี้ว่า ข้อตกลงด้านเงินกู้จากปักกิ่งฉบับต่างๆ เหล่านี้ซึ่งรวมมูลค่าทั้งสิ้นอยู่ในราว 20,000 ล้านดอลลาร์ จะใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนโครงการสำคัญๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐานของบังกลาเทศ เป็นต้นว่า ถนนหนทางและทางรถไฟ ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่

“บังกลาเทศกับจีนยังได้มีการระบุถึงโครงการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ยอดเงินกู้และเงินลงทุนสูงเกินระดับ 50,000 ล้านดอลลาร์” รัฐมนตรีอาวุโสผู้นี้กล่าวโดยขอให้สงวนนาม

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีสีกล่าวอีกว่า ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกันที่จะศึกษาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของประเทศทั้งสอง รวมทั้งแสดงความหวังว่าการเยือนของเขาคราวนี้จะ “เป็นการจัดวางเส้นทางสำหรับการเติบโตขยายตัวในอนาคต ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับบังกลาเทศ”

เท่าที่ผ่านมา ธากามีท่าทีลังเลไม่อยากจะลงนามในข้อตกลงเอฟทีเอกับจีน ทว่ามุ่งจะขอให้ปักกิ่งยินยอมให้สิทธิพิเศษในรูปของการงดเว้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรแก่ผลิตภัณฑ์ของบังกลาเทศ ตลอดจนการจัดสรรโควตาให้สินค้าบังกลาเทศสามารถเข้าสู่ตลาดแดนมังกรได้อย่างเสรี

ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศทั้งสองกำลังอยู่ในสภาพที่จีนได้เปรียบบังกลาเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ในปีที่แล้ว บังกลาเทศส่งสินค้าไปขายจีนเพียงแค่ประมาณ 808 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าสินค้าจากจีนถึง 9,640 ล้านดอลลาร์

หลังจากการทำความตกลงของภาครัฐในวันศุกร์ (14 ต.ค.) ต่อมาในวันเสาร์ (15 ต.ค.) อับดุล มัตลับ อาหมัด (Abdul Matlub Ahmad) ประธานของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบังกลาเทศ (Federation of Bangladesh Chambers of Commerce and Industry หรือ FBCCI) เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ระหว่างการเยือนของประธานาธิบดีแดนมังกรครั้งนี้ รัฐวิสาหกิจและบริษัทภาคเอกชนของจีนได้ลงนามทำข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับบริษัทภาคเอกชนของบังกลาเทศ รวมแล้วเป็นมูลค่า 13,600 ล้านดอลลาร์

อาหมัดป่าวร้องว่า ข้อตกลงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงของบังกลาเทศกำลังกระเตื้องดีขึ้นมาแล้ว หลังจากทางการเปิดการกวาดล้างเล่นงานพวกสุดโต่งอิสลามิสต์แบบเอาถึงตาย ภายหลังที่เกิดเหตุโจมตีร้านอาหารหรูหราแห่งหนึ่งในเมืองหลวงธากา ซึ่งคนร้ายที่คาดกันว่าเป็นพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงได้สังหารผู้คนไป 22 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ถูกคนร้ายจับเป็นตัวประกัน

“ข้อตกลงเหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณด้านบวกให้แก่ทั่วทั้งโลกว่า บังกลาเทศเป็นดินแดนปลอดภัยซึ่งเหมาะสมแก่การเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุน และพวกนักลงทุนชาวจีนมีความพึงพอใจกับสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศนี้” เขากล่าวต่อ

ข้อตกลงต่างๆ เหล่านี้ลงนามกันหลังจากที่ FBCCI ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ด้านการค้าและธุรกิจระดับท็อปของบังกลาเทศ และสภาเพื่อการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China Council for Promotion of International Trade ใช้อักษรย่อว่า CCPIT) ร่วมกันจัดการสนทนาพูดจากันแบบตัวต่อตัว ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจของ 2 ประเทศเป็นเวลา 2 วันในช่วงการเยือนของประธานาธิบดีสี

ทางด้าน เฉิน โจว (Chen Zhou) รองประธานของ CCPIT กล่าวว่า “เราจะลงทุนในนิคมเพื่อการลงทุนด้านต่างๆ มีผู้ประกอบการจำนวนมากในคณะผู้แทนของเราซึ่งต้องการลงทุนในประเทศนี้” ทั้งนี้ตามรายงานของ bdnews.com เว็บไซต์ศูนย์รวมข่าวท้องถิ่น

โดยที่มีการระบุว่า พวกนักลงทุนจีนกำลังพิจารณาที่จะทำการลงทุนในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, เครื่องหนัง, เสื้อผ้าสำเร็จรูป, เวชภัณฑ์, รถยนต์, และภาคอื่นๆ

บังกลาเทศนั้นได้ตกลงโอเคเรียบร้อยแล้วให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อรองรับพวกนักลงทุนชาวจีนโดยเฉพาะ โดยจะตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองจิตตะกอง อันเป็นเมืองท่าสำคัญทางยุทธศาสตร์ ด้วยความหวังว่าจะสามารถดึงดูดพวกโรงงานอุตสาหกรรมจีนที่กำลังมองหาแหล่งผลิตซึ่งมีราคาค่าแรงถูกกว่าที่พวกเขาต้องจ่ายอยู่ในบ้านเกิด

“ค่าแรงในจีนเวลานี้สูงกว่าในบังกลาเทศอยู่ 6-7 เท่าตัว เพียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (นิคมอุตสาหกรรม) เช่นนี้แห่งเดียว ก็จะสามารถนำเอาเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามาได้ในระหว่าง 5,000 – 7,000 ล้านดอลลาร์แล้ว” อาหมัดกล่าว

บังกลาเทศซึ่งยังคงเป็นประเทศยากจนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องได้เม็ดเงินลงทุนจำนวนเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์เช่นนี้ เพื่อฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่ และสร้างตำแหน่งงานให้แก่ประชากรจำนวน 160 ล้านของตน

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์บอกว่า นายกรัฐมนตรีฮาซินาจำเป็นที่จะต้องวางตัวเป็นนักกายกรรมเลี้ยงตัวบนเส้นลวด โดยต้องคอยสร้างความสมดุลด้วยความระมัดระวัง ระหว่างการบ่มเพาะบำรุงเลี้ยงสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีอยู่กับจีน ซึ่งมีฐานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศไปเรียบร้อยแล้ว และขณะเดียวกันก็ต้องธำรงรักษาความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่กับอินเดีย

นิวเดลีนั้นให้การหนุนหลังฮาซินามาอย่างยาวนาน และทำเฉยเมยไม่เข้าร่วมกระแสวิพากวิจารณ์เธอในกรณีที่เธอได้รับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือนมกราคม 2014 ซึ่งกลายเป็นการแข่งขันที่ฝ่ายค้านบอยคอตต์ และเหล่าชาติตะวันตกก็ตราหน้าว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “เชื่อถือไม่ได้”

“บังกลาเทศนั้นอยู่ในเขตอิทธิพลของอินเดีย” อาลี ริอัซ อาจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์สเตท, สหรัฐฯ กล่าวให้ความเห็นกับเอเอฟพี

“เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่อินเดียกำลังจับตามองสายสัมพันธ์ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างบังกลาเทศกับปักกิ่ง ทว่าเวลานี้บังกลาเทศก็กำลังปรับปรุงสายสัมพันธ์กับจีนด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับอินเดีย”

อันที่จริง ฮาซินาก็ประกาศท่าทีเช่นนี้เมื่อถูกสื่อมวลชนอินเดียสอบถามว่า การเข้ามาลงทุนอย่างมหาศาลของจีนจะเป็นภัยต่อความผูกพันที่ธากามีอยู่กับนิวเดลีหรือไม่ ซึ่งเธอตอบว่าบังกลาเทศจะธำรงรักษา “ความสัมพันธ์ที่ดีที่มีอยู่กับทุกๆ คน”

เธอกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “เดอะ ฮินดู” ของอินเดียว่า การลงทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเธอเติบโตขึ้น “อำนาจซื้อของประชาชนของเราจะเพิ่มพูนขึ้น แล้วใครล่ะในภูมิภาคของเรานี้ ที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์มากกว่าคนอื่นๆ จากเรื่องนี้? อินเดียนั่นเอง อินเดียคือผู้อยู่ในฐานะดีที่สุดที่จะได้ประโยชน์จากตลาดบังกลาเทศ” นายกรัฐมนตรีฮาซินาแจกแจง

ทางด้านนักวิชาการของจีนก็พยายามอธิบายในแนวทางนี้เหมือนกัน เจ้า กานเฉิง (Zhao Gancheng) ผู้อำนวยการด้านเอเชียใต้ศึกษา ณ สถาบันเพือการระหว่างประเทศศึกษาแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Institute for International Studies) ให้ความเห็นว่า มีที่ว่างสำหรับให้ทั้งอินเดียและจีนเข้าสนับสนุนการพัฒนาในบังกลาเทศ

“ผมคิดจริงๆ นะว่านี่ไม่ใช่เป็นเกมแบบใครชนะกินรวบ (zero sum game) บังกลาเทศนั้นยินดีต้อนรับการลงทุนของทั้งฝ่ายจีนและทั้งฝ่ายอินเดีย” เจ้า กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น