xs
xsm
sm
md
lg

‘ข้อตกลงยานยนต์’เชื่อมเส้นทางบกใน ‘เอเชียใต้’และเข้าสู่ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’

เผยแพร่:   โดย: สุธา รามาจันทรัน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Motor Vehicles Agreement will connect South Asia’s overland dots
BY Sudha Ramachandran
03/07/2015

บังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, และเนปาล ร่วมกันลงนามใน “ความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อกันทางยานยนต์” เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ “ผู้คนและสินค้าสามารถเคลื่อนตัวข้ามชายแดนระหว่างประเทศทั้ง 4 ได้อย่างชนิดไร้รอยตะเข็บ” ยิ่งไปกว่านั้น อินเดียยังได้เจรจาจัดทำข้อตกลงลักษณะทำนองนี้กับพม่าและไทย โดยที่แกนกลางของข้อตกลงดังกล่าวนี้ ก็คือทางหลวงความยาว 3,200 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างเมืองโมเรห์ ในรัฐมณีปุระ ของอินเดีย กับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของไทย

การติดต่อเชื่อมโยงกันทางบกระหว่างบังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, และเนปาล กำลังจะเพิ่มพูนขยายตัวขึ้นอย่างสำคัญ เมื่อทั้ง 4 ประเทศนี้ร่วมกันลงนามใน “ความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อกันทางยานยนต์” (Motor Vehicles Agreement ใช้อักษรย่อว่า MVA) ในกรุงทิมพู เมืองหลวงของภูฎาน เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข้อตกลงฉบับนี้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ “ผู้คนและสินค้าสามารถเคลื่อนตัวข้ามชายแดนระหว่างประเทศทั้ง 4 ได้อย่างชนิดไร้รอยตะเข็บ” ได้รับการคาดหมายว่าจะปรับปรุงยกระดับทั้งในเรื่องการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกัน, ลดต้นทุนด้านการขนส่ง, ส่งเสริมเพิ่มพูนการเดินทางและการค้า, และอำนวยความสะดวกให้แก่การติดต่อในระดับประชาชนกับประชาชนใน 4 ประเทศเหล่านี้

อินเดียนั้นได้จัดทำความตกลงว่าด้วยการติดต่อเชื่อมโยงกันทางยานยนต์แบบทวิภาคีกับเนปาล และกับบังกลาเทศเอาไว้แล้ว แต่ข้อตกลง MVA ลักษณะพหุภาคีฉบับนี้จะยิ่งเพิ่มพูนผลประโยชน์ต่างๆ ขึ้นมาอย่างมหาศาล เนื่องจากถนนสายต่างๆ ซึ่งต่อเชื่อม 4 ประเทศนี้ ได้รับการคาดหมายว่าจะกลายเป็นพื้นที่ระเบียงทางเศรษฐกิจขึ้นมา ดังนั้นจึงเห็นกันว่าความตกลงว่าด้วยการติดต่อเชื่อมโยงกันทางยานยนต์ฉบับนี้จะสามารถเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาคให้สูงขึ้นได้ถึง 60% และเพิ่มพูนการค้าระหว่างเอเชียใต้กับส่วนอื่นๆ ของโลกได้ในระดับ 30% ทั้งนี้ตามคำแถลงร่วมที่นำออกเผยแพร่ภายหลังพิธีลงนาม MVA ฉบับนี้

อันที่จริง มีการวางแผนกันเอาไว้ว่า ข้อตกลง MVA ฉบับที่รัฐสมาชิกทุกๆ รายของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Co-operation ใช้อักษรย่อว่า SAARC) เข้าร่วม จะได้รับการลงนามในระหว่างการประชุมซัมมิตที่กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม แผนการอันทะเยอทะยานนี้กลับไม่สามารถที่จะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ เนื่องจากปากีสถานปฏิเสธไม่ยอมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว

ด้วยความหงุดหงิดผิดหวังจากการที่ปากีสถานคอยสกัดกั้นไม่หยุดไม่หย่อนต่อแผนการริเริ่มต่างๆ ซึ่งวาดหวังและมุ่งเดินหน้าให้ภูมิภาคเอเชียใต้มีการบูรณาการทางเศรษฐกิจกันอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่งกว่าในปัจจุบัน อินเดียจึงดูเหมือนตัดสินใจแล้วว่าจะต้องเดินหน้ากันไปไม่ว่าอิสลามาบัดจะกระโดดขึ้นมาเข้าร่วมด้วยหรือไม่ ดังนั้น นิวเดลีจึงยื่นเสนอความตกลง MVA ระดับพหุภาคี ให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่มีความสนใจได้พิจารณา

ในปฏิญญาของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้บรรดารัฐสมาชิกสำรวจหาลู่ทางในการติดต่อเชื่อมโยงกันภายในอนุภูมิภาคนั้น มีการเปิดช่องทางเอาไว้ให้ประเทศที่มีความสนใจทั้งหลายเดินหน้าแผนการเช่นนี้ได้ ผลลัพธ์ของความพยายามต่างๆ เหล่านี้ ได้รวบรวมสั่งสมเอาไว้จนกระทั่งเกิดเป็นข้อตกลง MVA 4 ประเทศฉบับใหม่นี้ขึ้นมา

อันที่จริงแล้ว อัฟกานิสถานเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมทำข้อตกลง MVA โดยในระหว่างที่ประธานาธิบดีอัชราฟ กอนี (Ashraf Ghani) ของอัฟกานิสถาน เดินทางเยือนกรุงนิวเดลีในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เขากับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ได้เจรจาหารือกันในเรื่องการค้าทางบกระหว่างกัน ตลอดจนเรื่องการลงนามในข้อตกลง MVA แต่เนื่องจากปากีสถานไม่ยอมอนุญาตให้สินค้าอินเดียสามารถขนส่งทางบกข้ามอาณาเขตของปากีสถานเข้าไปจนถึงอัฟกานิสถานได้ รวมทั้งยังคงคัดค้านไม่ยอมทำข้อตกลง MVA ทวิภาคีระหว่างปากีสถานกับอินเดียด้วย ดังนั้น ข้อตกลง MVA ระหว่างอินเดียกับอัฟกานิสถานจึงจะยังไม่สามารถเริ่มเดินหน้าได้จริงๆ จนกว่าปากีสถานจะตกลงเข้าร่วมด้วยเสียก่อน

อย่างไรก็ดี การมุ่งหน้าทำตัวให้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางของปากีสถาน ไม่ได้บั่นทอนความมุ่งมาดปรารถนาอันแรงกล้าที่จะให้มีการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกันในประเทศอื่นๆ ไปด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ นิติน กัดคารี (Nitin Gadkari) รัฐมนตรีกระทรวงถนน, การขนส่ง, และทางหลวงของอินเดีย ประกาศว่าอินเดียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะทำการติดต่อเชื่อมโยงทางถนนระหว่างอินเดียกับศรีลังกา โดยใช้เส้นทางข้ามช่องแคบพาล์ค (Palk Strait) แผนการดังกล่าวนี้จะมีทั้งพื้นที่ระเบียงข้ามทะเล และอุโมงค์ลอดใต้ทะเลด้วย หากแผนการนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมาเมื่อใด ศรีลังกาก็จะสามารถติดต่อเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียใต้โดยทางบกผ่านทางอินเดีย

อันที่จริงแล้ว เอเชียใต้ยังกำลังหมายตาที่จะทำให้การเดินทางของผู้คนและสินค้าสามารถเคลื่อนตัวผ่านเข้าออกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างชนิดไร้รอยตะเข็บอีกด้วย มีรายงานว่าอินเดียได้เจรจาจัดทำข้อตกลง MVA จนถึงขั้นสุดท้ายกับทั้งพม่าและไทยแล้ว ทำให้เป็นที่คาดหมายกันว่าสินค้าอินเดียจะสามารถเข้าสู่ตลาดต่างๆ ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น [1]

การลงนามในข้อตกลง MVA แบบพหุภาคีระหว่างบังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, และเนปาล คราวนี้ ถึงแม้ต้องถือเป็นย่างก้าวอันสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงย่างก้าวแรกในการเดินมุ่งสู่การติดต่อเชื่อมโยงระดับภูมิภาคอย่างกว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน หนทางข้างหน้านั้นใช่ว่าจะราบเรียบ โครงสร้างพื้นฐานด้านถนนในประเทศทั้ง 4 ยังคงอยู่ในสภาพแย่สุดๆ และพวกเขาจำเป็นที่จะต้องทำการลงทุนอย่างขนานใหญ่เพื่อปรับปรุงยกระดับ นอกจากนั้นทั้ง 4 ประเทศยังจะต้องยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานประเภทอื่นๆ ด้วย เป็นต้นว่า โครงข่ายกระแสไฟฟ้า, ทางรถไฟ ฯลฯ จึงจะสามารถดึงเอาศักยภาพของข้อตกลง MVA ออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ คำถามฉกาจฉกรรจ์อีกประการหนึ่งก็คือ พวกเขาจะสามารถเอาชนะระเบียบข้อบังคับของระบบราชการที่เต็มไปด้วยความหยุมหยิม เพื่อทำให้การเดินทางและการขนส่งดำเนินไปอย่างราบรื่นชนิดไร้รอยตะขาบอย่างแท้จริงได้หรือไม่

ในเรื่องงานรายละเอียดก็ยังมีอยู่มากมายที่ต้องติดตามสะสางทำให้เสร็จสิ้น ข้อตกลง MVA 4 ประเทศนี้แทบไม่ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับเรื่องแนวเส้นทาง, สถานที่ซึ่งจะอนุญาตให้ใช้เป็นจุดพักกลางทางและที่หยุดพักเพื่อการนันทนาการ, ด่านเก็บค่าผ่านทางและจุดตรวจต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ต้องทำความตกลงกันให้เกิดความชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ข้อตกลง MVA ยังไม่ได้กล่าวถึงประเด็นอย่างเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ, การเก็บค่าบริการ, และค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกทิ้งไว้เพื่อให้จัดการแก้ไขกันในระดับทวิภาคี

เวลานี้ เสียงแสดงความไม่พอใจกำลังดังก้องให้ได้ยินกันแล้วจากบังกลาเทศ โดยที่คำถามเกี่ยวกับสิทธิในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ถือเป็นหัวข้อซึ่งสามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ทั้งนี้มีหลายภาคส่วนในบังกลาเทศ รู้สึกหวาดเกรงว่า อินเดียกำลังใช้ข้อตกลง MVA เป็นช่องทางไขว่คว้าสิทธิในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ถ้าหากความกังวลใจเช่นนี้เกิดเติบโตขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลายเป็นการชุมนุมประท้วงอย่างกราดเกรี้ยวแล้ว ข้อตกลง MVA นี้ก็จะเสมือนพุ่งชนอย่างจังกับแผงกั้นถนนอันใหญ่โตทีเดียว

ดร.สุธา รามาจันทรัน เป็นนักหนังสือพิมพ์/นักวิจัยอิสระ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในเมืองบังกลาลอร์ ประเทศอินเดีย เธอมีความสนใจในการเขียนถึงประเด็นทางการเมืองและทางด้านความมั่นคงของเอเชียใต้ สามารถติดต่อเธอทางอีเมลได้ที่ sudha.ramachandran@live.in

หมายเหตุผู้แปล

[1] เรื่องที่อินเดียมีการเจรจาจัดทำข้อตกลง MVA จนถึงขั้นสุดท้ายกับทั้งพม่าและไทย และมุ่งให้เป็นช่องทางการติดต่อเชื่อมโยงทางบกระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างราบรื่นไร้รอยตะเข็บนี้ “อินเดียน เอกซ์เพรส” (Indian Express) เครือข่ายสื่อมวลชนด้านข่าวในอินเดีย ได้เผยแพร่รายงานข่าวเอาไว้ในเว็บไซต์ของตนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2015 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Sub-regional road connectivity pacts: From ‘looking East’ to linking East (ข้อตกลงติดต่อเชื่องโยงทางถนนของอนุภูมิภาค: จาก ‘มองตะวันออก’ สู่การเชื่อมโยงตะวันออก) ดูรายละเอียดรายงานข่าวนี้ได้ที่เว็บเพจ http://indianexpress.com/article/india/india-others/sub-regional-road-connectivity-pacts-from-looking-east-to-linking-east/ จึงขอเก็บความนำมาเสนอดังนี้:
ข้อตกลงติดต่อเชื่องโยงทางถนนของอนุภูมิภาค: จาก ‘มองตะวันออก’ สู่การเชื่อมโยงตะวันออก

ข้อตกลงที่อินเดียทำกับภูฏาน, บังกลาเทศ, และเนปาล เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างความสะดวกให้แก่การเดินทางและการขนส่งด้วยยานยนต์อย่างเสรี เมื่อบวกกับเส้นทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-พม่า-ไทย จะสามารถเพิ่มพูนการค้าภายในภูมิภาคขึ้นไปได้ถึงเกือบ 60% อีกทั้งยังเป็นการใช้เส้นทางยุทธศาสตร์อย่างชนิดได้ประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ฉบับที่อินเดียลงนามไปเมื่อไม่นานมานี้ กับ ภูฏาน, บังกลาเทศ, และเนปาล เพื่อให้การเดินทางและการขนส่งด้วยยานยนต์เป็นไปได้อย่างเสรี และข้อเสนอเพื่อเร่งรัดยกระดับงานในการดำเนินการเชื่อมต่อทางถนนความยาว 3,200 กิโลเมตรจากเมืองโมเรห์ (Moreh) ของอินเดีย ไปจนถึงอำเภอแม่สอด ของประเทศไทย ถือเป็นส่วนประกอบอันสำคัญยิ่งยวด 2 ส่วนในแผนการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่นโยบาย “ลงมือทำมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East) ของรัฐบาลพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance ใช้อักษรย่อว่า NDA หมายถึงรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคภารติยะ ชนะตะ ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี -ผู้แปล)

อินเดียได้ลงนามในข้อตกลงติดต่อเชื่อมโยงทางถนนร่วมกับบังกลาเทศ, ภูฏาน, และ เนปาล (BBIN ซึ่งก็คืออักษรตัวหน้าใน Bangladesh, Bhutan, India, Nepal -ผู้แปล) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมองข้ามไม่สนใจใยดีกับการเตะถ่วงของปากีสถาน เพื่อแผ้วถางทางให้แก่ความร่วมมือกันทางการค้าและทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่โตมโหฬารยิ่งขึ้นในอนุภูมิภาคนี้ ข้อตกลงฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะเปิดประตูให้แก่การสัญจรด้วยยานยนต์ –ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร, บุคลากร, และสินค้า— ในระหว่างประเทศที่ได้ร่วมลงนามกัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนความร่วมมือในภูมิภาคไปด้วย

ข้อตกลงฉบับนี้ ซึ่งถูกมองเคียงคู่ไปกับทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-พม่า-ไทย (IMT ย่อจาก India, Myanmar, Thailand) ที่จะเชื่อมโยงอินเดียเข้ากับพม่า และจากนั้นก็ต่อเข้าสู่ส่วนอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ให้ความสำคัญอย่างสูงเป็นลำดับต้นๆ ทีเดียว ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่านายกรัฐมนตรีผู้นี้มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า หากสามารถติดต่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานนี้ได้อย่างทรงประสิทธิภาพแล้ว ก็จะเป็นการส่งเสริมเพิ่มพูนความร่วมมือระดับภูมิภาค ระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เจ้าหน้าที่หลายรายในกระทรวงถนน, การขนส่ง, และทางหลวง (Minister of Road, Transport & Highways ใช้อักษรย่อว่า MoRTH) ของอินเดีย ระบุว่า การผลักดันเพื่อให้มีการดำเนินการตามข้อตกลง BBIN และทางหลวงไตรภาคีความยาว 3,200 กิโลเมตร (ซึ่งจะสามารถส่งเสริมเพิ่มพูนการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงได้อย่างน่าตื่นใจ) ยังน่าที่จะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (game-changer) ให้แก่ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียอีกด้วย รวมทั้งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากในแผนการของรัฐบาลแดนภารตะที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่นโยบาย “มองตะวันออก” (Look East) ของตน และก้าวขึ้นไปสู่ระดับใหม่ที่เรียกขานกันว่า “ลงมือทำมุ่งสู่ตะวันออก” (Act East)

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของกระทรวง MoRTH บอกว่า “ความก้าวหน้าและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้เป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เมื่อการติดต่อเชื่อมโยงกันภายในภูมิภาคมีการเพิ่มพูนยกระดับขึ้นมา ก็จะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการค้าและการพาณิชย์ ทั้งในระหว่างประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาค และกับภูมิภาคอื่นๆ ด้วย” รัฐบาลอินเดียประมาณการเอาไว้ว่า หากเปลี่ยนผ่านจากระเบียงเพื่อการคมนาคมขนส่งซึ่งเสนอแนะและดำเนินการกันอยู่ในเวลานี้ ให้กลายเป็นระเบียงทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้สำเร็จ มีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนการค้าภายในภูมิภาคเอเชียใต้ให้สูงขึ้นร่วมๆ 60% และเพิ่มพูนการค้ากับส่วนอื่นๆ ของโลกได้ถึงกว่า 30% ทีเดียว

ความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อกันทางยานยนต์ BBIN เพื่อจุดชนวนความร่วมมือในอนุภูมิภาค

มีการวางแผนเอาไว้ว่า จะจัดให้มีการแข่งรถแรลลีมิตรภาพ BBIN (BBIN Friendship Motor Rally) ขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะตอกย้ำให้เห็นว่า แผนการริเริ่มนี้สามารถก่อให้เกิดการติดต่อเชื่อมโยงกันขึ้นในอนุภูมิภาค ตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนขนาดขอบเขตและโอกาสของการติดต่อกันระดับประชาชนต่อประชาชน และของการค้าขายระหว่างกัน ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างมโหฬาร
“ข้อตกลง BBIN จัดทำกันขึ้นมาเพื่อสร้างความสะดวกให้แก่การคมนาคมขนส่งทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพในอนุภูมิภาค อีกทั้งจะช่วยให้แต่ละประเทศสามารถสร้างกลไกทางสถาบันสำหรับการบูรณาการของภูมิภาคอีกด้วย การส่งออกและการนำเข้าต่างจะเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนแปรเป็นโอกาสใหม่ๆ สำหรับการค้าและธุรกิจ” เจ้าหน้าที่กระทรวงผู้นี้กล่าวเพิ่มเติม

ข้อตกลงฉบับนี้ยังมีส่วนในการทำให้อินเดียสามารถเข้าถึงดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศได้เพิ่มขึ้นอีกมาก โดยอาศัยการเชื่อมโยงทางถนนที่อยู่ภายในบังกลาเทศเป็นตัวช่วย นอกจากนั้นยังจะทำให้รัฐที่ไม่มีทางออกทางทะเลอย่างภูฏาน และเนปาล ได้มีช่องทางติดต่อกับทะเลเปิดและตลาดทั่วโลกโดยผ่านเมืองท่าจิตตะกอง (Chittagong) ในบังกลาเทศ หลังการลงนามในข้อตกลง BBIN นี้แล้ว ก็ติดตามมาด้วยการหารือเพื่อจัดทำพิธีการและกระบวนวิธีที่จำเป็นทั้งหลาย เช่นเดียวกับที่จะต้องมีการสร้างและปรับปรุงยกระดับ ทั้งในเรื่องถนน, ทางรถไฟ, โครงสร้างการขนส่งทางน้ำ, โครงข่ายด้านพลังงานต่างๆ, การสื่อสาร, และการเชื่อมต่อกันทางอากาศ เพื่อรับประกันให้สินค้า, บริการ, เงินทุน, เทคโนโลยี, และผู้คน สามารถเคลื่อนย้ายข้ามชายแดนกันได้อย่างราบรื่น

อินเดียนั้นได้พยายามผลักดันให้มีการจัดทำข้อตกลงติดต่อเชื่อมโยงกันทางถนน ในระหว่างชาติสมาชิกของ “สมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้” (South Asian Association for Regional Co-operation ใช้อักษรย่อว่า SAARC) ซึ่งประกอบด้วย อัฟกานิสถาน, บังกลาเทศ, ภูฏาน, อินเดีย, มัลดีฟส์, เนปาล, ปากีสถาน, และศรีลังกา ซึ่งก็คือ “ความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อกันทางยานยนต์ของ SAARC” (SAARC Motor Vehical Agreement) ข้อตกลงฉบับนี้ควรจะต้องมีการลงนามกันเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 เคียงข้างข้อตกลงความร่วมมือของภูมิภาคฉบับอื่นๆ อย่าง ความตกลงแม่บทเพื่อความร่วมมือกันทางด้านพลังงานของ SAARC (SAARC Framework Agreement for Energy Cooperation) และความตกลงทางรถไฟภูมิภาคของ SAARC (SAARC Regional Railways Agreement) ทว่าปากีสถานได้คัดค้านการลงนามในข้อตกลงเชื่อมต่อทางยานยนต์ โดยอ้างเหตุผลว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติรับรองจากภายในประเทศปากีสถานเอง ดังนั้น ในเวลาต่อมารัฐบาลอินเดียจึงตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะเดินหน้าจัดทำข้อตกลงการเชื่อมต่อกันทางยานยนต์ เฉพาะใน 4 ประเทศที่แสดงความสนใจ

ปัจจุบัน ได้มีการเปิดบริการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างอินเดีย, เนปาล, และบังกลาเทศ กันแล้ว ในเส้นทางระหว่าง เดลี - กาฐมาณฑุ, เส้นทางพารณสี (Varanasi) – กาฐมาณฑุ, เส้นทางโกลกาตา (กัลกัตตา) – อัครตละ (Agartala เมืองเอกของรัฐตริปุระ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย) โดยผ่านกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ, และ เส้นทางกูวาฮาตี (Guwahati เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐอัสสัม และของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย) – ธากา นอกจากนั้นในเร็วๆ นี้ยังจะมีการเปิดบริการเดินรถโดยสารในเส้นทาง เดลี – โปขรา (Pokhra) ในเนปาล และทันทีที่มีการดำเนินการตามข้อตกลง IMT แล้ว บริการเดินรถโดยสารในอีกหลายๆ เส้นทางก็จะเกิดขึ้นได้ เป็นต้นว่า เส้นทาง อิมผาล (Imphal เมืองเอกของรัฐมณีปุระ ของอินเดีย) – มัณฑะเลย์ ของพม่า

ข้อตกลงทางหลวง IMT เพื่อเชื่อมเศรษฐกิจของอาเซียนกับ SAARC

อินเดีย, พม่า, และไทยก็เช่นเดียวกัน ได้มีการตกลงเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดทำข้อตกลงในทำนองเดียวกันกับ ความตกลงว่าด้วยการเชื่อมต่อกันทางยานยนต์ของ SAARC และระหว่างการประชุมหารือระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่เมืองเบงกาลูรู (Bengaluru ชื่อเดิมคือ บังกาลอร์) ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็สามารถบรรลุข้อสรุปกันได้ โดยมีการเห็นพ้องกันแล้วเกี่ยวกับข้อความของข้อตกลงฉบับนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า หลังจากที่มีการนำเอาข้อตกลงนี้มาปฏิบัติบังคับใช้ อนุภูมิภาคนี้ก็จะสามารถเข้าถึงตลาดอาเซียนอย่างกว้างไกลขึ้นกว่าเดิม โดยที่จะสามารถดำเนินการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างเรียบเนียนไร้รอยตะเข็บ

“การเชื่อมโยงทางถนนระหว่างอินเดีย-พม่า-ไทย นี้ ถือว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ การเชื่อมโยงนี้วางแผนจัดทำขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในอาเซียนและ SAARC เข้าด้วยกัน ข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดที่จะเริ่มดำเนินการกันได้ในเร็วๆ นี้ และเพื่อให้เป็นหลักหมายของวาระดังกล่าว จะมีการจัดรายการแข่งแรลลีรถยนต์ขึ้นมา ในช่วงก่อนเดือนมีนาคม 2016 ด้วย” เจ้าหน้าที่อีกผู้หนึ่งของกระทรวง MoRTH ระบุ

โครงการทางหลวง 3 ประเทศสายนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นจากเมืองโมเรห์ ในรัฐมณีปุระ ไปสิ้นสุดลงที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของไทย โดยผ่านเมืองมัณฑะเลย์ ในพม่านั้น ทำให้กลายเป็นที่แน่นอนทีเดียวว่า พรมแดนด้านตะวันออกของอินเดียจะเปิดกว้างต้อนรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางสายใหม่ระหว่างเมืองอิมผาลกับเมืองมัณฑะเลย์ โดยที่จะทำให้ผู้เดินทางด้วยรถโดยสารเหล่านี้ สามารถออกจากเมืองหลวงของมณีปุระ ไปถึงเมืองมัณฑะเลย์ได้ ภายในเวลาเพียงแค่ 14 ชั่วโมงเศษๆ

สำหรับทางหลวง IMT สายเต็มๆ ซึ่งออกจากเมืองโมเรห์ ไปจนถึงอำเภอแม่สอด นั้น คาดหมายกันว่าจะได้รับการปรับปรุงยกระดับให้ดีขึ้นแล้วเสร็จภายในปี 2018
กำลังโหลดความคิดเห็น