xs
xsm
sm
md
lg

“อังเกลา แมร์เคิล” ดอดเยือนไนเจอร์ ลั่นพร้อมลงทุนในแอฟริกาเพื่อสร้างการเติบโต-แก้ปัญหาความมั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากรอยเตอร์
เอเจนซีส์ / MGR online - นายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีเดินทางเยือนไนเจอร์อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (10 ต.ค.) ตั้งเป้ามองหาโอกาสใหม่ด้านการลงทุนที่เยอรมนีจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในทวีปแอฟริกา

รายงานข่าวระบุว่า แมร์เคิลได้เข้าพบหารือที่กรุงนิอาเมย์ กับประธานาธิบดีมาฮามาดู อิสซูฟู และนายกรัฐมนตรีบริกี ราฟินี แห่งไนเจอร์ ทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจในทวีปแอฟริกาจะถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการหยุดยั้งวิกฤตผู้อพยพแอฟริกันที่มุ่งหน้าสู่ยุโรปเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

นอกเหนือจากประเด็นด้านการพัฒนาแล้ว นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนียังได้เน้นย้ำกับผู้นำรัฐบาลไนเจอร์ว่า เยอรมนีพร้อมช่วยเหลือไนเจอร์ยกระดับการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งปัญหาภัยคุกคามของกลุ่มติดอาวุธ “โบโกฮารัม” จากไนจีเรีย รวมถึงการเคลื่อนไหวของพวกขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งในไนเจอร์ และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาลี ตลอดจนการลักลอบเข้ามากบดานและซ่องสุมกำลังในไนเจอร์ของพวกนักรบอิสลามิสต์จากลิเบีย

ข่าวการเดินทางเยือนไนเจอร์ของนางแมร์เคิล มีขึ้นไม่นานหลังจากที่รัฐบาลไนเจอร์ไฟเขียวเปิดทางให้เยอรมนีเข้ามาใช้ดินแดนของตนเป็นที่ตั้ง “ฐานทัพ”

โดยรายงานข่าวซึ่งอ้างถ้อยแถลงของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงนิอาเมย์ ระบุว่า รัฐบาลไนเจอร์อนุมติคำขอของเยอรมนีในการเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ เพื่อสนับสนุนภารกิจในการรักษาสันติภาพและการต่อสู้กับภัยก่อการร้ายตลอดจน การเดินทางอพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายของผู้คนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้เป็นผลพวง จากการเดินทางเยือนไนเจอร์เมื่อ 5 เดือนก่อนของฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเยอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งเดินทางไปพร้อมกับฌ็อง-มาร์ก อายโรลต์ รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศส

ทั้งนี้ ไนเจอร์ถือเป็นหนึ่งในประเทศแอฟริการอบทะเลสาบชาดที่กำลังเผชิญภัยคุกคามใหญ่หลวงทางด้านความมั่นคงจากกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์สุดโต่งโบโกฮารัมจากไนจีเรีย ที่แผ่ขยายขอบเขตการก่อความรุนแรงออกไปยังหลายประเทศในแถบนี้ทั้งไนจีเรีย ไนเจอร์ แคเมอรูน และชาด ดังนั้น การตัดสินใจของรัฐบาลไนเจอร์ในการเปิดรับการเข้ามาตั้งฐานทัพของชาติตะวันตก จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงของดินแดนแห่งนี้

อย่างไรก็ดี เยอรมนีมิใช่ประเทศตะวันตกประเทศแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาตั้งฐานทัพในไนเจอร์ได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทั้งอดีตประเทศเมืองแม่อย่างฝรั่งเศส รวมถึงสหรัฐอเมริกา ต่างได้รับไฟเขียวให้ตั้งฐานทัพในไนเจอร์มาแล้วทั้งสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น