เอเจนซีส์ - มิตซูบิชิ รีเจอเนิล เจ็ต (Mitsubishi Regional Jet - MRJ) เครื่องบินโดยสารที่พัฒนาและผลิตในญี่ปุ่นลำแรกในรอบครึ่งศตวรรษ เดินทางถึงสนามบินในรัฐวอชิงตันของสหรัฐฯ อย่างราบรื่นเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) หลังเผชิญเหตุขัดข้องทางเทคนิคจนต้องยกเลิกการเดินทางถึง 2 ครั้ง
เครื่อง MRJ ออกเดินทางจากเมืองแองเคอเรจในรัฐอะแลสกา และร่อนลงจอดที่สนามบินนานาชาติ แกรนต์ เคาน์ตี ในรัฐวอชิงตัน เมื่อเวลา 17.44 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันพุธ (28)
เครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ลำแรกของญี่ปุ่นเริ่มทะยานขึ้นฟ้าจากสนามบินนาโกยาตั้งแต่เวลา 13.28 น.ของวันจันทร์ (26) โดยแวะพักเติมเชื้อเพลิงที่เกาะฮอกไกโด รัสเซีย และรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ
เดือนที่แล้ว เครื่องบิน MRJ ต้องวกกลับไปยังญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง เนื่องจากระบบแอร์คอนดิชันขัดข้อง
มิตซูบิชิ เฮฟวี ซึ่งเป็นผู้ผลิตอากาศยานลำนี้ แถลงว่า MRJ จะต้องผ่านการทดสอบบินในสหรัฐฯ อีกหลายครั้ง เพื่อให้ได้ใบอนุญาตสำหรับทำการบินเชิงพาณิชย์ภายในปี 2018
มิตซูบิชิ มีแผนที่จะส่ง MRJ เดินทางจากญี่ปุ่นข้ามไปยังสหรัฐฯ อีก 3 ลำ เพื่อให้มีชั่วโมงบินทดสอบครบ 2,500 ชั่วโมง
โครงการพัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้เผชิญอุปสรรคซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าหลายต่อหลายครั้ง
เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว มิตซูบิชิ เฮฟวี ได้ประกาศเลื่อนการส่งมอบ MRJ ออกไปอีก 1 ปีจนถึงไตรมาส 2 ของปี 2018 เพื่อทำการอัปเกรดระบบซอฟต์แวร์ และเปลี่ยนแปลงดีไซน์บางอย่าง
โครงการพัฒนา MRJ ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับอุตสากรรมการบินญี่ปุ่น ซึ่งผลิตเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ออกจำหน่ายครั้งล่าสุดในปี 1962 ได้แก่ รุ่น YS-11 เทอร์โบพร็อป และได้เลิกผลิตไปในอีกราวๆ 1 ทศวรรษให้หลัง
MRJ เป็นเครื่องบินโดยสาร 2 เครื่องยนต์ ขนาดลำตัวยาว 35 เมตร และจุผู้โดยสารได้ประมาณ 80 คน
มิตซูบิชิ หวังที่จะนำอากาศยานรุ่นนี้เข้าตีตลาดแย่งส่วนแบ่งจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างเอ็มเบรเออร์ (Embraer) และ บอมบาร์เดียร์ (Bombardier) ซึ่งหลังจากเปิดตัวไปเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2014 ก็ได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 400 ลำ