เอเอฟพี - ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) มีคำพิพากษาวานนี้ (27 ก.ย.) ให้จำคุกนักรบญิฮาดชาวมาลีเป็นเวลา 9 ปี ในข้อหาทำลายโบราณสถานมรดกโลก “ทิมบุกตู” โดยคำพิพากษานี้ถูกมองว่าจะเป็นบรรทัดฐานและคำเตือนว่าใครก็ตามที่กล้าทำลายมรดกของมนุษยชาติจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย
คณะผู้พิพากษาไอซีระบุว่า อะหมัด อัล-ฟากี อัล-มะห์ดี มีความผิดฐานสั่งให้สมุนนักรบทำลายเมืองประวัติศาสตร์ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกให้เป็นมรดกโลก หลังจากที่นักรบญิฮาดบุกเข้ายึดพื้นที่ตอนเหนือของมาลีในปี 2012
ผู้พิพากษา ราอูล ปันกาลันกัน แจ้งต่อศาลที่กรุงเฮกว่า มะห์ดี “เป็นผู้ควบคุมการทำลาย และออกคำสั่งให้บรรดานักรบ” ใช้พลั่วและรถแทรกเตอร์เข้าไปพังศาสนสถานที่มีอายุเก่าแก่หลายร้อยปี
“คณะผู้พิพากษามีมุมมองเป็นเอกฉันท์ว่า ความผิดของคุณมะห์ดี ซึ่งทำลายโบราณสถานที่ได้รับการคุ้มครองนั้น เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม”
ฟาตู เบนซูดา หัวหน้าอัยการไอซีซี ซึ่งได้เรียกร้องให้ศาลลงโทษจำคุก มะห์ดี ระหว่าง 9-11 ปี กล่าวว่า คำตัดสินครั้งนี้จะส่งสัญญาณเตือนไปถึงบรรดาผู้ก่อเหตุว่า การทำลายมรดกทางวัฒนธรรมนั้นถือเป็น “อาชญากรรมร้ายแรง”
“นี่คืออาชญากรรมสงคราม และพวกเขาจะต้องรับผิดชอบที่ทำลายสถานที่สำคัญเหล่านี้” เธอให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
ปัจจุบันมีสถานที่ 55 แห่งทั่วโลกอยู่ในบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่เสี่ยงต่อการถูกทำลาย
มะห์ดี ซึ่งถูกส่งตัวให้แก่ไอซีซีเมื่อปลายปี 2015 เดินทางไปยังศาลโดยสวมสูทสีเทาและผูกเนกไทลายทางสีน้ำเงิน เขานั่งฟังคำพิพากษาด้วยท่าทีตั้งใจ และไม่กล่าวอะไรทั้งสิ้น หลังจากที่รับทราบโทษทัณฑ์ของตัวเอง
คดีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ไอซีซีได้ตัดสินลงโทษอาชญากรรมที่เกิดจากความขัดแย้งในมาลี และยังเป็นครั้งแรกที่นักรบญิฮาดถูกส่งเข้าไปนั่งในคอกจำเลยของศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศ
เดือนที่แล้ว มะห์ดี ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอันซาร์ดีน (Ansar Dine) และมีอายุระหว่าง 30-40 ปี ได้ยอมรับสารภาพข้อหา “จงใจออกคำสั่ง” ทำลายสุสานในทิมบุกตู 9 แห่ง และประตูอายุเก่าแก่หลายร้อยปีของมัสยิดซีดียาเฮีย
คณะผู้พิพากษาระบุว่า อาชญากรรมครั้งนี้นับว่าร้ายแรง “เนื่องจากสิ่งที่ถูกทำลายเป็นศาสนสถานและโบราณสถาน ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์ด้านการทหาร”
อย่างไรก็ตาม คณะผู้พิพากษาได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ยอมรับสารภาพ มีอาการสำนึกผิด และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีต่อกระบวนการไต่สวน
เมืองโบราณทิมบุกตูถูกสร้างขึ้นเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 5-12 โดยชนเผ่าตัวเร็ก (Tuareg) และได้รับสมญานามว่าเป็น “เมืองแห่งนักบุญ 333 องค์” เนื่องจากมีสุสานของปราชญ์มุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก
แม้จะเคยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ศาสนาอิสลามใน “ยุคทอง” ระหว่างศตวรรษที่ 15-16 ทว่านักรบญิฮาดซึ่งแผ่อิทธิพลเข้าไปยังภาคเหนือของมาลีในช่วงต้นปี 2012 กลับมองว่าสุสานเก่าแก่เหล่านี้เป็นการสร้างสถูปและรูปปั้นบูชา ซึ่งขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม