เอเจนซีส์ - โฆษกใหญ่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมากล่าวเตือนจีนในวันจันทร์ (26 ก.ย.) อย่าได้ขยายกิจกรรมทางทหารไปยังน่านฟ้าเหนือหมู่เกาะที่สองประเทศพิพาทช่วงชิงกันในทะเลจีนตะวันออก ภายหลังเมื่อวันอาทิตย์ (25) แดนอาทิตย์อุทัยได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นฟ้าเพื่อติดตามฝูงอากาศยานทหารของจีนซึ่งบินเฉียดใกล้บริเวณดังกล่าว โดยที่โฆษกของแดนมังกรระบุว่า ฝูงเครื่องบินรบของตนนี้มีจำนวนกว่า 40 ลำ และเคลื่อนที่ผ่านช่องแคบระหว่างหมู่เกาะของญี่ปุ่นตามเส้นทางการฝึกบินในแปซิฟิกตะวันตก
โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นหัวหน้าโฆษกของรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยโดยตำแหน่ง แถลงที่กรุงโตเกียวในวันจันทร์ (26) ว่า ญี่ปุ่นได้เร่งส่งเครื่องบินขับไล่อย่างน้อย 1 ลำขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังจากฝูงเครื่องบินทหารของจีนได้บินผ่านเหนือช่องแคบมิยาโกะ ระหว่างหมู่เกาะโอกินาวะ กับหมู่เกาะมิยาโกะ เมื่อวันอาทิตย์ (25) ช่องแคบนี้อยู่ใกล้ๆ ทางด้านตะวันออกของหมู่เกาะเซงกากุ ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นครอบครองอยู่ แต่จีนที่เรียกชื่อหมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งไม่มีผู้คนอาศัยแห่งนี้ว่าเตี้ยวอี๋ว์ ก็อ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของตนเช่นกัน
ซูงะแถลงว่า ฝูงเครื่องบินของจีนดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่ามีด้วยกัน 8 ลำ โดยเป็นเครื่องบินขับไล่ 2 ลำ, เครื่องบินทิ้งระเบิด 4 ลำ และเครื่องบินตรวจการณ์ 2 ลำ ไม่ได้ล่วงละเมิดน่านฟ้าของญี่ปุ่นในเที่ยวบินที่มีลักษณะบินไปกลับทางไกลคราวนี้ แต่ก็ถือเป็นครั้งแรกที่อากาศยานทหารของจีนบินในเส้นทางนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อวันอาทิตย์ (25) เสิ่น จินเคอ โฆษกกองทัพอากาศจีนได้ออกคำแถลงโพสต์อยู่บนเว็บไซต์กระทรวงกลาโหมแดนมังกรระบุว่า เครื่องบินรบของจีนจำนวนกว่า 40 ลำซึ่งมีทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิด, เครื่องบินขับไล่แบบ ซู-30, ตลอดจนเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศด้วย ได้บินผ่านช่องแคบมิยาโกะตามเส้นทางฝึกบินในย่านแปซิฟิกตะวันตก
คำแถลงนี้บอกว่า การฝึกบินระยะทางไกลในแปซิฟิกตะวันตก และการออกตรวจการณ์เหนือเขตแสดงตนเพื่อป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ในทะเลจีนตะวันออกอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอเช่นนี้ ก็เพื่อให้กองทัพอากาศสามารถพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงแห่งชาติของจีน
ทั้งนี้ จีนได้ประกาศเขต ADIZ ในทะเลจีนตะวันออกเมื่อปี 2013 ซึ่งกำหนดให้เครื่องบินใดๆ ที่บินเข้ามาต้องแสดงตนเองต่อทางการผู้รับผิดชอบของแดนมังกร ทว่า ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ได้ประณามคัดค้านไม่ยอมรับ ถึงแม้ประเทศทั้งสองก็มีการประกาศ ADIZ ของตนเองเช่นเดียวกัน
คำแถลงของเสิ่นบอกว่า การตรวจการณ์ของกองทัพอากาศจีนนั้นเป็น “การตรวจตราเฝ้าระวังและวินิจฉัยเครื่องบินทหารต่างชาติซึ่งเข้าสู่เขตป้องกันต่อต้านอากาศยาน เพื่อให้สามารถใช้มาตรการตอบโต้ต่อภัยคุกคามเหนือท้องฟ้าที่แตกต่างกันไป รวมทั้งเพื่อพิทักษ์คุ้มครองน่านฟ้าของประเทศชาติ”
ซูงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวระหว่างการแถลงข่าวในวันจันทร์ (26) ยอมรับว่าการบินผ่านช่องแคบมิยาโกะของฝูงเครื่องบินจีน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกของพวกเขา แต่ก็ย้ำว่าญี่ปุ่นจะตอบโต้อย่างหนักแน่นหากมีการละเมิดน่านฟ้าของญี่ปุ่น
“รัฐบาลญี่ปุ่นจะยังคงจับตามองกิจกรรมทางทหารของจีน ซึ่งมีลักษณะมุ่งแผ่ขยายและกระตือรือร้นเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกับที่ดำเนินกิจกรรมตรวจการณ์ของพวกเรา” ซูงะบอก “เรามีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะปกป้องดินแดน, น่านน้ำอาณาเขต และท้องฟ้าของเรา”
ญี่ปุ่นกล่าวหาว่าจีนได้ส่งเรือยามฝั่งจำนวน 3-4 ลำแล่นอยู่รอบๆ หมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ อยู่เป็นประจำ โดยเข้าสู่บริเวณซึ่งญี่ปุ่นถือว่าเป็นน่านน้ำอาณาเขตของตนเดือนละสองสามครั้ง รวมทั้งยังมีการส่งคำเตือนตอบโต้กับเรือยามฝั่งของฝ่ายญี่ปุ่นด้วย
ขณะเดียวกัน กองทัพเรือจีนยังมักแล่นเรือผ่านช่องแคบมิยาโกะอยู่บ่อยครั้ง โดยที่ช่องแคบนี้ถือเป็นช่องทางยุทธศาสตร์ทางทหาร เพราะอยู่ในเส้นทางเดินเรือจากภาคตะวันออกของจีนไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ ฝูงเครื่องบินของจีนที่ประกอบด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด, เครื่องบินขับไล่, เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า, และเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ ได้เคยบินผ่านช่องแคบบาชิ ซึ่งคั่นระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์ เพื่อออกไปฝึกซ้อมในย่านแปซิฟิกตะวันตก
ในอีกด้านหนึ่ง สำนักข่าวเอเอฟพีตั้งข้อสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวของกองทัพอากาศจีนคราวนี้มีขึ้นหลังจากที่รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น โทโมมิ อินาดะ กล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า โตเกียวจะมีส่วนร่วมในทะเลจีนใต้มากขึ้นด้วยการฝึกซ้อมลาดตระเวนร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐฯ, การฝึกซ้อมร่วมกองทัพเรืออื่นๆ ในภูมิภาค, และการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับบรรดารัฐชายฝั่ง