รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรี ดมิตรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซียยืนยันรัฐบาลหมีขาวไม่มีนโยบายพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง และไม่เห็นด้วยกับการใช้จ่ายงบประมาณแบบประชานิยม
จากการเปิดเผยวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจครั้งแรกหลังพรรคของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ชนะศึกเลือกตั้ง และได้ครองเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเมื่อวันอาทิตย์ (18 ก.ย.) เมดเวเดฟ ยืนยันว่า รัฐบาลจะยังคงนโยบายรัดเข็มขัดเข้มงวด แต่ไม่ละเลยเรื่องความมั่นคงและความจำเป็นต่าง ๆ ในสังคม
“เราจะหันไปใช้แนวทางประชานิยมไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณ” เมดเวเดฟ เขียนไว้ในบทความซึ่งเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ของรัฐ Rossiyskaya Gazeta
บริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจซึ่งมีความใกล้ชิดกับเครมลินเรียกร้องให้รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลุดจากภาวะถดถอย
รัสเซียต้องเผชิญพิษเศรษฐกิจจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก ซึ่งมุ่งลงโทษที่มอสโกแทรกแซงความขัดแย้งในยูเครน ขณะที่น้ำมันซึ่งเป็นสินค้าออกอันดับหนึ่งของแดนหมีขาวก็ราคาตกต่ำ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจีดีพีรัสเซียจะติดลบ 0.5% ในปีนี้
พรรคยูไนเต็ดรัสเซียของ ปูติน และ เมดเวเดฟ กวาดที่นั่งในสภาดูมาได้ถึงร้อยละ 76 จากผลการเลือกตั้งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ เพิ่มจากเมื่อปี 2011 ซึ่งมีที่นั่งเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย
“เราจะไม่ใช้วิธีกดปุ่มเปิดเครื่องพิมพ์ธนบัตร ซึ่งจะทำลายสมดุลทางเศรษฐกิจ และอาจก่อให้เกิดผลเสียร้ายแรงตามมา” เมดเวเดฟ ระบุ
“ต่อให้ในคลังไม่มีเงินสด เราก็ไม่คิดที่จะพิมพ์ธนบัตรใหม่เพื่อมาโปะเงินที่หายไป ทุกคนคงเข้าใจอยู่แล้วว่า การพิมพ์ธนบัตรแบบไม่มีโลหะค้ำประกัน (fiat money) นั้น จะยิ่งกระตุ้นปัญหาเงินเฟ้อ และทำให้รายได้ เงินเดือน และเงินบำนาญของประชาชนมีค่าน้อยลง”
กระทรวงการคลังรัสเซียเสนอให้รัฐบาลคงระดับการใช้จ่ายงบประมาณในช่วงปี 2017 - 2019 เอาไว้เท่า ๆ กับปี 2016 ซึ่งเมื่อคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อ ก็หมายความว่า รัฐจะต้องใช้เงินให้น้อยลง
รัสเซียมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณ 3.2% ในปี 2016 จากเดิมที่ประเมินไว้ไม่เกิน 3.0%
รัฐบาลหมีขาวตั้งเป้าลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ 1% ภายในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า
“การคาดหวังว่าปัญหาเศรษฐกิจจะแก้ไขได้ด้วยภาคการคลังของรัฐบาลเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นไปได้ยาก... รัฐบาลมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านความมั่นคง การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ การช่วยเหลือกลุ่มพลเมืองที่ยังเปราะบาง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโครงสร้างงบประมาณจะต้องตอบสนองความจำเป็นเหล่านี้ได้”
นายกฯ หมีขาว ย้ำว่า ไม่ว่าสภาพภูมิศาสตร์การเมืองจะเป็นอย่างไร รัสเซียก็จะยังมุ่งไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด ส่วนที่บางคนเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง (centrally-planned economy) นั้น เมดเวเดฟ ยืนยันว่า “ทำไม่ได้”
“การควบคุมเศรษฐกิจแบบไร้ความยืดหยุ่น คือ ปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต” เมดเวเดฟ กล่าว