นับเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกกล่าวขวัญถึงในสัปดาห์นี้ สำหรับการมาเยือนเอเชียครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ บารัค โอบามา พร้อมกับสัญญาณความเป็นเป็ดง่อย (lame duck) ที่ปรากฏให้เห็นชัด ทั้งการไม่ได้รับเกียรติเท่าที่ควรจากจีน ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม G20 มิหนำซ้ำยังถูกผู้นำฟิลิปปินส์ซัดวาทกรรม “ลูกกะหรี่” ใส่จนฮือฮาไปทั้งโลก
ความยุ่งเหยิงเริ่มขึ้นตั้งแต่ โอบามา เดินทางไปถึงสนามบินนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 โดยฝ่ายจีนไม่ได้เตรียมบันไดเทียบเครื่องบินไว้ให้ โอบามา ก้าวลงจาก “แอร์ฟอร์ซ วัน” ลงบนพรมแดงที่ปูไว้ต้อนรับ จน โอบามา ต้องหันไปใช้บันไดสำรองใต้ท้องเครื่องบินแทน ซึ่งผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการหมิ่นเกียรติบุคคลระดับประมุขรัฐ
นอกจากนั้น ฝ่ายรักษาความปลอดภัยของจีน ยังนำเชือกสีน้ำเงินมากั้นไม่ให้ผู้สื่อข่าวที่ติดตามมากับคณะของ โอบามา เข้าไปบริเวณใต้ปีกเครื่องบินเพื่อถ่ายภาพผู้นำสหรัฐฯ ขณะก้าวลงจาก แอร์ฟอร์ซ วัน และเมื่อเจ้าหน้าที่หญิงของทำเนียบขาว แย้งว่า นี่เป็นเครื่องบินอเมริกัน และคนที่มาก็เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงมีสิทธิ์กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับผู้นำของตนเอง ก็ถูกเจ้าหน้าที่จีนซึ่งสวมสูทสีเข้มตะคอกใส่ว่า “นี่คือประเทศของเรา!” และ “นี่คือสนามบินของเรา!”
เหตุการณ์ยังลุกลามต่อไปอีก เมื่อ ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และ เบน โรดส์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาว พยายามจะเข้าไปใกล้ ๆ โอบามา โดยยกเชือกกั้นสีน้ำเงินขึ้น และก้มตัวลอดผ่านเข้าไป ทำให้เจ้าหน้าที่จีนออกอาการโกรธเกรี้ยว และพยายามขัดขวาง สองฝ่ายตอบโต้ใส่กันอย่างเผ็ดร้อน จนกระทั่งหน่วยซีเคร็ตเซอร์วิสของสหรัฐฯ มาช่วยพาตัว ไรซ์ เข้าไปจนได้
มหาเศรษฐีปากเปราะ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนามพรรครีพับลิกัน ออกมาประกาศเมื่อวันจันทร์ (5) ว่า ถ้าตนถูกจีนหยามเกียรติเช่น โอบามา ก็จะไม่ทนเด็ดขาด “ถ้าเป็นผม ผมจะสั่งปิดประตูเครื่องบิน และหันหัวออกจากจีนทันที”
อย่างไรก็ดี โอบามา เองกลับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใจเย็น พร้อมกับเหน็บจีนกลาย ๆ ว่าความตึงเครียดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสหรัฐฯ มีทัศนคติต่อสื่อมวลชนที่แตกต่างจากบางประเทศ
หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ได้อ้างเจ้าหน้าที่จีนคนหนึ่ง ซึ่งระบุว่า รัฐบาลจีนมีการปูพรมแดงต้อนรับผู้นำต่างชาติทุกคนที่เดินทางมาร่วมประชุม G20 “แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอขอเรา และยืนยันว่า ไม่ต้องการบันไดเทียบเครื่องบินที่ทางสนามบินจะจัดให้”
หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงที่กรุงปักกิ่งในวันจันทร์ (5) ว่า จีนไม่มีเหตุผลอะไรที่จะสร้างความขลุกขลักให้แก่คณะของโอบามา “ดิฉันคิดว่าถ้าฝ่ายอเมริกันปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้ตกลงกับเราไว้แต่แรก ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้”
ก่อนเดินทางออกจากนครหางโจว โอบามา ยังได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งภาพที่ทั้งสองประสานสายตากันอย่างไม่เป็นมิตร ก็ได้ถูกสื่อหลายสำนักนำไปตีแผ่
ทั้งสองได้หารือเรื่องข้อตกลงหยุดยิงในซีเรีย รวมถึงเรื่องที่มอสโกเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งในยูเครนตะวันออก แต่การพูดคุยก็ไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งบรรยากาศอึมครึมยังบอกเป็นนัย ๆ ว่า นโยบาย “รีเซต” ความสัมพันธ์กับรัสเซียที่ โอบามา ริเริ่มไว้ตอนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ใหม่ ๆ บัดนี้ได้กลายเป็นเพียงความทรงจำ และ ปูติน เองก็ฉวยโอกาสที่ตะวันออกกลางร้อนระอุด้วยไฟสงครามเข้าไปผูกสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทั้งอิหร่านและซีเรีย
ในประชุมซัมมิตอาเซียนที่ลาวเป็นเจ้าภาพ โอบามามีกำหนดพบปะนอกรอบเป็นครั้งแรกกับประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ในช่วงบ่ายวันอังคาร (6) แต่ทว่าการหารือต้องถูกยกเลิกไปอย่างกะทันหัน หลังจากที่ ดูเตอร์เต ด่าผู้นำสหรัฐฯ ออกสื่อว่า “ลูกกะหรี่”
ดูเตอร์เต แสดงอาการฉุนเฉียว และประกาศว่า ตนจะไม่ยอมให้ โอบามา มาสั่งสอน หลังสื่อมวลชนฟิลิปปินส์เตือนว่า เขาอาจถูกผู้นำสหรัฐฯ ซักฟอกเรื่องสงครามยาเสพติดที่คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 2,400 ศพ ในช่วงเวลาแค่ 2 เดือน
“คุณต้องรู้จักให้ความเคารพ ไม่ใช่เอาแต่โยนคำถามและแถลงอะไร ๆ ออกมา ลูกกะหรี่เอ๊ย! ผมจะสาปแช่งคุณในที่ประชุมนั่น...เราจะฟัดกันอยู่ในโคลนไม่ต่างอะไรจากหมู ถ้าคุณกล้าทำแบบนั้นกับผม”
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ที่วอชิงตันยกเลิกกำหนดการหารือนอกรอบระหว่าง โอบามา กับ ดูเตอร์เต เป็นเพราะคำพูดหยาบคายของผู้นำฟิลิปปินส์ที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่แน่ใจว่าการคุยกันจะมีประโยชน์หรือไม่
ทางการมะนิลาได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อคำพูดของดูเตอร์เต ขณะที่โอบามาก็พยายามแสดงออกว่า ไม่ถือสา และเรียก ดูเตอร์เต ว่า “ชายผู้มีสีสัน”
เจ้าหน้าที่อเมริกันยืนยันว่า เหตุกระทบกระทั่งครั้งนี้ คงไม่ทำลายความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างวอชิงตัน กับ มะนิลา ลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังต้องการเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็งไว้สกัดอิทธิพลจีน
ประเด็นสำคัญที่สะท้อนถึงความง่อยเปลี้ยของรัฐบาลโอบามาในขณะนี้ ก็คือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่รอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่ โอบามา หวังจะให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงในด้านเศรษฐกิจของตน ทว่า สภาคองเกรสสหรัฐฯ กลับมีแนวโน้มว่าจะไม่รับรองข้อตกลงฉบับนี้ และแม้แต่ ฮิลลารี คลินตัน กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นคู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ทำเนียบขาว ก็ประกาศคัดค้านทีพีพีกันทั้งคู่
“ผมมีความตั้งใจที่จะผลักดันทีพีพีให้สำเร็จ... และผมก็อยากจะฟังข้อโต้แย้งจากทุกฝ่าย ว่า ทำไมเราถึงไม่อยากกำหนดกรอบการค้าที่ยกระดับมาตรฐานแรงงาน มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ และลดกำแพงภาษี” โอบามา กล่าวเมื่อวันจันทร์ (5)
โอบามา แสดงออกว่า เข้าใจบรรยากาศไม่เป็นมิตรที่เขาต้องเผชิญ โดยกล่าวว่า “เราทุกฝ่ายต่างทราบดีว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก สถานการณ์ทางการเมืองในหลายประเทศก็อยู่ในช่วงเปราะบาง”
อย่างไรก็ตาม การเยือนเอเชียครั้งสุดท้ายของ โอบามา ยังนับว่ามีความสำเร็จที่น่าชื่นชมอยู่บ้าง เมื่อสหรัฐฯ และ จีน ยอมให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการต่อ “ข้อตกลงภูมิอากาศปารีส” ที่มุ่งบรรเทาปัญหาโลกร้อน โดยคาดว่า สัตยาบันจากสองมหาอำนาจรายใหญ่ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันกว่าร้อยละ 40 ของโลก น่าจะทำให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้