xs
xsm
sm
md
lg

ปินส์แฉภาพสงสัย “จีน” ถมทะเลอีก ปักกิ่งยันข่าวเท็จ-ไทยหนุนหารือสันติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บรรดาผู้นำของ 10 ชาติสมาคมอาเซียน ถ่ายภาพหมู่ในระหว่างการประชุมซัมมิตอาเซียนที่นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในวันพุธ (7 ก.ย.)
เอเจนซีส์ - ฟิลิปปินส์โชว์หลักฐานภาพถ่ายก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ที่เวียงจันทน์ เพียงไม่กี่ชั่วโมง สงสัยปักกิ่งแอบสร้างเกาะเทียมเพิ่มในทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศแดนมังกร แถลงยืนยันไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ในบริเวณแนวปะการังสคาร์โบโร โชล ตามที่ถูกกล่าวหา ด้านอเมริกาดูเหมือนพยายามช่วยกลบข่าวนี้ โดยระบุว่า ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ขณะที่ไทยประกาศสนับสนุนความพยายามของจีนในการรักษาสันติภาพในน่านน้ำที่มีข้อพิพาท

ตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ปักกิ่งยืนยันว่า ไม่ได้เริ่มการก่อสร้างใด ๆ บนแนวปะการังสคาร์โบโร โชล ซึ่งถูกจีนยึดเอาไว้ ถึงแม้ตั้งอยู่ห่างจากเกาะลูซอน ที่เป็นเกาะหลักของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และมีกองกำลังของอเมริกาประจำการอยู่เพียงแค่ 230 กิโลเมตร

ทว่า วันพุธ (7 ก.ย.) ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่เหล่าผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะหารือกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียงของจีน ซึ่งบินไปร่วมการประชุมซัมมิตอาเซียน ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ของลาว กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ได้เผยแพร่ภาพเรือจีนหลายลำซึ่งแล่นเข้าไปในบริเวณดังกล่าว โดยเรือเหล่านั้นมีศักยภาพในการขุดทรายและทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการสร้างเกาะเทียม

อาร์เซนิโอ แอนโดลอง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ แถลงว่า หลักฐานเหล่านี้ทำให้เชื่อได้ว่า จีนกำลังเตรียมการก่อสร้างบางอย่างบนเกาะปะการัง

ทั้งนี้ จีนอ้างสิทธิ์เกือบทั่วทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ามูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้มีกรณีพิพาทแย่งชิงกับฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน

ความขัดแย้งจากข้อพิพาทนี้เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากจีนสร้างเกาะเทียมบนแนวปะการังและเกาะเล็ก ๆ ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่สามารถรองรับปฏิบัติการทางทหารได้

จีนเข้ายึดเกาะปะการังสคาร์โบโร โชล ตั้งแต่ปี 2012 หลังจากเผชิญหน้ากับกองทัพเรือฟิลิปปินส์ และต่อจากนั้นก็ส่งเรือประมงกลุ่มใหญ่เข้าทำกินและกีดกันชาวประมงตากาล็อก

แม้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ตัดสินเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า การอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ไม่มีข้อสนับสนุนทางกฎหมายรองรับ และการสร้างเกาะเทียมถือว่า ละเมิดกฎหมาย แต่ปักกิ่งปฏิเสธคำวินิจฉัยดังกล่าว

พวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า การสร้างเกาะเทียมและใช้เป็นที่มั่นขยายด่านหน้าทางทหาร มีความสำคัญต่อความมุ่งมาดปรารถนาของจีนในการเข้าควบคุมทะเลจีนใต้

อเมริกาก็ตระหนักเรื่องนี้และแสดงความหวั่นเกรงว่า สนามบินทางทหารบนแนวปะการังจะทำให้จีนสามารถบังคับใช้เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนใต้

แม้ วอชิงตัน ซึ่งเป็นพันธมิตรของฟิลิปปินส์ ย้ำว่า ไม่ต้องการทำสงครามจากกรณีแนวปะการัง แต่ระหว่างการพบปะเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วที่หางโจว ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ย้ำกับ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่า อเมริกาสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือและการบินอย่างเสรีเหนือทะเลจีนใต้ และต้องการให้จีนและฟิลิปปินส์เคารพคำวินิจฉัยของศาลกรุงเฮก

กระนั้น เมื่อวันพุธ (7) ผู้ช่วยของโอบามาพยายามลดทอนความสำคัญของภาพที่ฟิลิปปินส์นำออกเผยแพร่ โดยบอกผู้สื่อข่าวว่า อเมริกาไม่พบกิจกรรมผิดปกติบริเวณแนวปะการังสคาร์โบโร โชล แต่อย่างใด

สอดคล้องกับคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศจีนที่ยืนยันว่า สถานการณ์รอบแนวปะการังสคาร์โบโร โชล ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน สำทับว่า มีบางคนพยายามปล่อยข่าวเท็จเพื่อสร้างสถานการณ์ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้วิจารณญาณเมื่อได้รับข้อมูลประเภทนี้

นอกจากนั้น หลิน เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศจีน ยังให้สัมภาษณ์จากเวียงจันทน์ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า จีนและฟิลิปปินส์สามารถร่วมมือกันเพื่อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีได้ และย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัฐบาลชุดใหม่ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต เริ่มต้นขึ้นด้วยดี และสองประเทศกำลังพิจารณาจัดตั้งสายด่วนเพื่อจัดการกับเหตุฉุกเฉินจากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย ที่กล่าวว่า การส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในทะเล เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกฝ่าย และไทยสนับสนุนความพยายามของจีนในเรื่องนี้ รวมทั้งเห็นว่า ต้องมีการหารือเพื่อลดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

สำหรับคำถามที่ว่า ไทยอยูข้างเดียวกับจีนหรือไม่นั้น พลตรีวีรชนตอบเพียงว่า ไทยต้องการสันติภาพและความสงบสุขเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น