ซีเอ็นเอ็น - นาซาเตรียมส่งยานสำรวจโอซิริส-เรกซ์ ขึ้นสู่อวกาศในวันพฤหัสบดี (8ก.ย.) เพื่อไล่ตามดาวเคราะห์น้อยดำทะมึนและมีท่าทีเป็นอันตรายนามว่า “เบนนู” พร้อมเก็บตัวอย่างกลับมาศึกษา ท่ามกลางความคาดหมายว่าหากมีการเปลี่ยนเส้นทางมันอาจพุ่งชนโลกได้ในวันใดวันหนึ่งในอนาคต
“ผมตื่นเต้นมาก ผมรอไม่ไหวแล้วที่จะได้เข้าถึงดาวเคราะห์ดวงนี้” เจฟฟรีย์ กรอสมัน นักวิทยาศาสตร์ในโครงการโอซิริส-เรกซ์ บอกกับซีเอ็นเอ็น “เรากำลังได้เรียนรู้อีกมากมายมหาศาลเกี่ยวกับระบบสุริยะจากการศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้และนำเอาตัวอย่างกลับมา”
หากคุณคิดว่ามันฟังดูเหมือนพล็อตเรื่องในภาพยนตร์ชื่อดัง “อาร์มาเกดดอน” ในช่วงปี 1998 มันก็คงจะทำนองนั้น แต่ภารกิจคราวนี้ไม่มี บรูซ วิลลิส (ไม่มีมนุษย์รายใดในยานโอซิริส-เรกซ์) และปราศจากกระสวยอวกาศของนาซา
เรื่องราวในชีวิตจริง โอซิริส-เรกซ์ จะศึกษาและเก็บตัวอย่างของเบนนู หินอวกาศก้อนกลมขนาดใหญ่ที่ถูกบรรจุเข้าบัญชีดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นภัยต่อโลกของนาซา นั่นหมายความว่า เบนนูเป็นหนึ่งในหินอวกาศที่อันตรายที่สุด เพราะวันหนึ่งมันอาจพุ่งเข้าชนโลก
ในการปล่อยจรวดที่กำหนดไว้ในเวลา 19.05 อีที.ของวันพฤหัสบดี (ตรงกับเมืองไทย 06.05 น.ของวันศุกร์) โอซิริส-เรกซ์ ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณด้านบนของจรวดยูไนเต็ด ลอนช์ อลิอันซ์ อัลตาส วี จะถูกส่งขึ้นจากแหลมคานาเวอรัล มลรัฐฟลอริดา
โอซิริส-เรกซ์ มีกำหนดเดินทางถึงเบนนูในเดือนสิงหาคม 2018 และจะออกปฏิบัติการถ่ายภาพ สแกนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ และสร้างแผนที่เป็นเวลาหลายเดือน
จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2020 โอซิริส-เรกซ์ จะคลี่แขนหุ่นยนต์ยาว 11 ฟุต ที่เรียกว่า TAGSAM สัมผัสกับพื้นผิวของเบนนูเป็นเวลาราว 5 วินาที โดยระหว่างนี้แขนหุ่นยนต์จะใช้ระเบิดก๊าซไนโตรเจนเตะหินและฝุ่นให้ลอยขึ้นเพื่อเก็บตัวอย่าง
นาซาหวังว่าจะสามารถเก็บตัวอย่างฝุ่นและก้อนหินเล็กๆ ของดาวเคราะห์น้อยเบนนูให้ได้อย่างน้อยๆ 60 กรัม หรืออย่างมากที่สุดถ้าเป็นไปได้ก็ 2 กิโลกรัม “เราคาดหมายว่าอาจมีทุ่งกรวดอยู่บนดาวเคราะห์น้อยดวงนี้” ดันเต ลอเรตตา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของภารกิจนี้กล่าว พร้อมระบุว่าจากข้อมูลที่รวบรวมโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ เขาคิดว่าก้อนกรวดจะมีขนาดราวๆ ครึ่งนิ้ว
โอซิริส-เรกซ์ จะมุ่งหน้ากลับมาตุภูมิในเดือนมีนาคม 2021 และเดินทางถึงโลกในวันที่ 24 กันยายน 2023 แต่มันจะไม่ลองจอดเหมือนในภาพยนต์ของฮอลลีวูด โดยมันจะบินผ่านยูทาห์และทิ้งแคปซูลที่บรรจุตัวอย่างดาวเคราะห์น้อย จากนั้นร่มชูชีพก็จะนำแคปซูลลงสู่พื้นที่ ณ พื้นที่ฝึกและทดสอบ Utah Test and Training Range
ดาวเคราะห์น้อยเบนนูมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 492 เมตร มีกำหนดมุ่งหน้าหาโลกคราวต่อไปในปี 2135 โดยจะพุ่งผ่านโลกระยะใกล้ภายในวงโคจรของดวงจันทร์
อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะที่เฉียดใกล้เช่นนี้อาจเปลี่ยนเส้นทางโคจรของเบนนู และเหล่านักวิทยาศาสตร์กังวลว่ามันอาจพุ่งเข้าชนโลกช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างปี 2175 ถึง 2199
ถึงแม้ความเป็นไปได้จะมีเล็กน้อย แค่ราวๆ 1 ใน 2,500 แต่นาซาก็ต้องการรับรู้ถึงสัญญาณเตือนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เกี่ยวกับอะไรก็ตามที่เป็นภัยคุกคามต่อโลก
กระนั้น ในขณะที่เรารับทราบถึงภัยคุกคามของเบนนู สิ่งที่ควรตระหนักก็คือทางนาซายอมรับว่าสามารถตรวจพบดาวเคราะห์น้อยขนาดพอๆ กับเบนนูได้แค่ราวๆ 51 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดเท่านั้น นั่นหมายความว่ายังมีภัยคุกคามโลกอีกจำนวนมากที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศโดยที่เราไม่รู้ตัว