เอเจนซีส์ - ประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ถูกชักใยเข้าสู่ที่ประชุมความมั่นคงเอเชียตะวันออกอีกครั้ง หลังโอบามาเตือนปักกิ่งอย่าเพิกเฉยต่อคำตัดสินของศาลกรุงเฮก ขณะที่ปักกิ่งร่อนแถลงการณ์เรียกร้องให้อเมริกาเป็นกลางและยุติธรรมเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ ขณะที่ก่อนหน้านั้นนายกรัฐมนตรีจีนประกาศเป็นนัยกับผู้นำอาเซียนว่า ปักกิ่งจะไม่ยอมให้ “คนนอก” เข้าไปจุ้นจ้านกับกรณีพิพาท
วันพฤหัสบดี (8) ระหว่างการประชุมกับผู้นำสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เวียงจันทน์ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรกรุงเฮกที่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสิทธิทางทะเลในทะเลจีนใต้
ผู้นำเมืองลุงแซมออกตัวว่า รู้ว่าการพูดเช่นนี้จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น แต่ก็ต้องการให้ที่ประชุมหารือเพื่อหาวิธีลดความตึงเครียดและส่งเสริมเสถียรภาพอย่างสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ศาลกรุงเฮกวินิจฉัยว่าการอ้างสิทธิ์ของจีนเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการถมที่สร้างเกาะเทียมในน่านน้ำดังกล่าว ทว่า ปักกิ่งปฏิเสธคำตัดสินและเดินหน้ากิจกรรมในทะเลจีนใต้ต่อ
วันเดียวกันนั้น หัว ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงจากปักกิ่งว่า จีนหวังว่าอเมริกาจะมีทัศนคติที่เป็นกลางและยุติธรรมเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียงของจีน เดินทางไปร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนที่ลาวด้วยเช่นกัน และมีกำหนดพบกับโอบามาช่วงเย็นวันพฤหัสฯ ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
ร่างแถลงการณ์ที่สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รับระบุว่า ผู้นำ 10 ชาติอาเซียน รวมถึงอีก 8 ชาติจากนอกกลุ่ม เช่น อเมริกา และจีน ยืนยันความสำคัญของการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ นอกจากนั้นผู้นำหลายคนยังกังวลอย่างมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ในน่านน้ำดังกล่าว อย่างไรก็ดี แถลงการณ์งดเว้นกล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลกรุงเฮก
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เผยว่า การหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับนายกรัฐมนตรีจีนเมื่อวันพุธ (7) ราบรื่นด้วยดี
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ระบุว่า หลี่กล่าวกับผู้นำอาเซียนว่าจีนยินดีร่วมมือกับอาเซียนในการ “ขจัดการแทรกแซง” และจัดการกับปัญหาในทะเลจีนใต้อย่างเหมาะสม
แม้หลี่ไม่ได้แจกแจงชัดเจน แต่ผู้นำจีนมักใช้ถ้อยคำเหล่านี้เพื่อประกาศว่าจีนจะไม่ยอมให้ประเทศนอกภูมิภาคและไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีพิพาท อย่างเช่นสหรัฐฯ เข้าไปจุ้นจ้านกับเรื่องดังกล่าว
นอกจากนั้น จีนยังล็อบบี้อย่างหนักจนกระทั่งแถลงการณ์การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันพุธไม่มีการพาดพิงถึงคำวินิจฉัยของศาลกรุงเฮกเช่นเดียวกัน เพียงแต่ระบุว่า ที่ประชุมกังวลอย่างมากกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ทั้งที่ก่อนหน้าการประชุมไม่กี่ชั่วโมงกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่กรณีกับจีนในทะเลจีนใต้ และเป็นผู้ที่ร้องเรียนต่อศาลกรุงเฮก ได้นำภาพถ่ายและแผนที่ออกเผยแพร่เพื่อฟ้องว่าจีนยังคงซุ่มสร้างเกาะเทียมในบริเวณแนวปะการังสการ์โบโรห์ก็ตาม
แต่ไหนแต่ไรมาอาเซียนมักละเว้นการเลือกข้างในประเด็นขัดแย้งทางการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นประเด็นที่ปักกิ่งกังวล เนื่องจากอิทธิพลภายในภูมิภาคของพญามังกร และความจำเป็นในการถ่วงดุลความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
เล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า ทั้งจีนและอเมริกาต่างเป็นหุ้นส่วนสำคัญที่สุดของอาเซียน และอาเซียนไม่อยากที่จะต้องเลือกระหว่างชาติใดชาติหนึ่ง