เอเจนซีส์ / MGR online - สหประชาชาติแสดงความกังวลต่ออัตราการว่างงานที่พุ่งสูงในพื้นที่ฉนวนกาซา หลังถูก “ปิดล้อม” ยาวนานโดยอิสราเอล
โรเบิร์ต ไพเพอร์ ผู้ประสานงานด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการพัฒนาของสหประชาชาติในดินแดนปาเลสไตน์ กล่าวกับสำนักข่าวอนาโดลูของตุรกี ระหว่างการเดินทางเยือนมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งกาซา (Islamic University of Gaza : IUG) ในวันพฤหัสบดี (1 ก.ย.) โดยระบุ ประชาชนในพื้นที่ฉนวนกาซาของปาเลสไตน์ยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต ถึงแม้ว่าชาวปาเลสไตน์จะเป็นกลุ่มประชากรที่มีศักยภาพและมีการศึกษา
ผู้ประสานงานด้านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการพัฒนาของสหประชาชาติในดินแดนปาเลสไตน์ระบุว่า ปัญหาสำคัญที่ทางยูเอ็นกำลังเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ คืออัตราการว่างงานที่พุ่งสูงในเขตพื้นที่ของฉนวนกาซา โดยเฉพาะในหมู่บัณฑิตหนุ่มสาวที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา จากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่เป็นผลพวงมาจากการที่พื้นที่นี้ถูกปิดล้อมจากอิสราเอล
ทั้งนี้ พื้นที่ฉนวนกาซา (Gaza Strip) ถูกอิสราเอลปิดล้อมมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2007 เพื่อเป็นการตอบโต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง “ฮามาส” ที่พุ่งเป้าโจมตีอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการโจมตีด้วยจรวด แต่ทว่าการปิดล้อมของอิสราเอลได้ส่งผลกระทบต่อพลเรือนในพื้นที่ฉนวนกาซาที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อีกทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค
นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมาอิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้เปิดฉากทำสงครามกันมาแล้ว 3 ครั้งซึ่งรวมถึงในปี 2014 ที่ส่งผลให้มีชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเสียชีวิตมากกว่า 2,200 คน และอีกมากกว่า 11,100 คนได้รับบาดเจ็บ
ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน ตามีร์ ปาร์โด อดีตผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับ “มอสสาด” แห่งอิสราเอล ออกโรงสนับสนุนการ “ตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่เป็นเอกราช” โดยระบุ นี่เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะผลักดันให้เกิดสันติภาพในตะวันออกกลางอย่างแท้จริง
ตามีร์ ปาร์โด อดีตผู้อำนวยการหน่วยสายลับมอสสาด กลายเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงรายล่าสุดของอิสราเอลที่ประกาศจุดยืนสนับสนุนการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ โดยเขาระบุว่า รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู จำเป็นต้องเคารพในเอกราชและอธิปไตยของปาเลสไตน์ พร้อมย้ำว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะสำเร็จลุล่วงและมีความยั่งยืนได้นั้นก็ต่อเมื่ออิสราเอลต้องยอมรับแนวทางการแก้ปัญหาแบบ “รัฐต่อรัฐ” เท่านั้น
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของปาร์โด ซึ่งประกาศสละตำแหน่งหัวหน้าหน่วยสายลับมอสสาดตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีขึ้นหลังจากที่กระบวนการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มีอันต้องหยุดนิ่งมานานเกินกว่า 2 ปีแล้ว โดยที่รัฐบาลอิสราเอลของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูเลือกที่จะหันไปสร้างพันธมิตรอันดีกับชาติอาหรับสายกลางอย่างอียิปต์และจอร์แดน ตลอดจนการสานสัมพันธ์กับบรรดานักการเมืองมุสลิมสุหนี่สายเลือดใหม่ในซาอุดีอาระเบียแทน
“ในเมื่อเราเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับปาเลสไตน์ แล้วทำไมเราถึงไม่หันหน้าคุยกับผู้มีอำนาจของฝ่ายปาเลสไตน์ ผมแปลกใจมากที่รัฐบาลของเราเลือกคุยกับอียิปต์ จอร์แดน และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเพียงผู้เกี่ยวข้องวงนอกของความขัดแย้งนี้” อดีตผู้อำนวยการหน่วยสืบราชการลับมอสสาดตั้งข้อสงสัย
ก่อนหน้านี้เมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติ และทางการปาเลสไตน์ออกโรงประณามอย่างรุนแรงต่อแผนของรัฐบาลอิสราเอล ในการเดินหน้าก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวนอย่างน้อย 800 ยูนิต แก่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวยิวในเขตพิพาทเยรูซาเลมตะวันออก-อัล กุดส์
รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีสายแข็งอย่างเบนจามิน เนทันยาฮู เตรียมเดินหน้าสร้างที่พักอาศัยระหว่าง 800-1,200 ยูนิตให้แก่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวยิวในเขตพื้นที่ตอนใต้ของดินแดนพิพาทเยรูซาเลมตะวันออก-อัล กุดส์ ซึ่งทางการปาเลสไตน์อ้างกรรมสิทธิ์มาโดยตลอดว่าพื้นที่นี้เป็นดินแดนในอธิปไตยของตน
แผนการขยายนิคมตั้งถิ่นฐานของชาวยิวเพิ่มเติมในเยรูซาเลมตะวันออก-อัล กุดส์นี้ ถูกระบุว่าถูกริเริ่มโดยรัฐบาลอิสราเอลมาตั้งแต่ 3 ปีก่อน
ด้าน นิก มลาเดนอฟ ทูตพิเศษของสหประชาชาติ ด้านกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง ออกโรงประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวของอิสราเอล โดยระบุว่า การเดินหน้าขยายพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในดินแดนของปาเลสไตน์เป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้
ขณะที่ ซอเอ็บ เอเรกัต เลขาธิการใหญ่องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization : PLO) ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของประชาคมระหว่างประเทศ ในการหยุดยั้งขัดขวางอิสราเอลจากการรุกรานอธิปไตยของปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ บัน คี-มูน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ออกโรงในวันที่ 4 ก.ค. กล่าวประณามการตัดสินใจของรัฐบาลอิสราเอลในการขยายการก่อสร้างนิคมตั้งถิ่น ฐานของชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์และกรุงเยรูซาเลมเพิ่มเติม
สเตฟาน ดูยาร์ริช โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ เผยว่า บันซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้รู้สึกผิดหวังอย่างถึงที่สุดต่อความเคลื่อนไหวของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ที่ตัดสินใจประกาศขยายพื้นที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิวดังกล่าวเพิ่มเติมอีก
“การตัดสินใจนี้จะก่อให้เกิดคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับความจริงใจของฝ่ายอิสราเอลในระยะยาวในการสร้างสันติภาพที่แท้จริงในตะวันออกกลาง ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งถูกสั่นคลอนจากถ้อยแถลงของบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลอิสราเอลบางรายที่ออกมาเรียกร้องให้ใช้กำลังทหารผนวกเขตเวสต์แบงก์เข้ากับอิสราเอล” โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเสริม
ดูยาร์ริชยังระบุด้วยว่า เลขาธิการสหประชาชาติได้เน้นย้ำว่า การกระทำของรัฐบาลอิสราเอลในการขยายการก่อสร้างนิคมตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเขตเวสต์แบงก์ และกรุงเยรูซาเลมเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้งและขอให้อิสราเอลหยุดดำเนินการเรื่องนี้ทันทีเพื่อปกป้องสันติภาพอันเปราะบาง
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของบันมีขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลอิสราเอลเห็นชอบอนุมัติแผนสร้างบ้านเรือนของชาวยิวเพิ่มเติมอีกราว 560 หลังที่นิคม มาอาเล อดูมิมในเขตเวสต์แบงก์ เช่นเดียวกับการสร้างบ้านใหม่อีก 240 หลังสำหรับชาวยิวในเยรูซาเลมตะวันออก
ขณะที่สื่ออิสราเอลหลายสำนักรายงานว่า รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ยังมีแผนเดินหน้าสร้างบ้านเพิ่มอีก 600 หลังคาเรือนสำหรับชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับที่เขตเบอิต ซาฟาฟา ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนของปาเลสไตน์ในกรุงเยรูซาเลม