รอยเตอร์ - สหรัฐฯ เตรียมขายฝูงบินรบของโบอิ้ง โค มูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์แก่กาตาร์และคูเวต หลังต้องเลื่อนมานานหลายปี และบางทีอาจเริ่มแจ้งต่อเหล่าสมาชิกสภาอเมริกาอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า แหล่งข่าวใกล้ชิดกับประเด็นนี้บอกกับรอยเตอร์
การขายครั้งนี้คาราคาซังมานานกว่า 2 ปี ท่ามกลางความกังวลของอิสราเอล พันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของวอชิงตันในตะวันออกกลาง ว่ายุทโธปกรณ์เหล่านี้จะถูกส่งไปยังเหล่ารัฐอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียที่เป็นปรปักษ์กับพวกเขา
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็เคยวิพากษ์วิจารณ์กาตาร์เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ว่าพวกเขามีความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์
โบอิ้งระบุว่ารู้สึกยินดีที่มีการเดินหน้ากระบวนการและหวังเห็นความเคลื่อนไหวขายเครื่องบินรบ 2 ล็อตใหญ่เร็วๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกาบอกว่าไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขายอาวุธระหว่างรัฐต่อรัฐได้
กระบวนการซื้อขายที่ล่าช้าได้ก่อความผิดหวังแก่เหล่าเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และบรรดาผู้บริหารอุตสาหกรรมอาวุธที่เคยเตือนวอชิงตันว่าปัญหาล่าช้าใดๆ อาจก่อความเสียหายแก่ธุรกิจของพวกเขาหลายพันล้านดอลลาร์ หากผู้ซื้อหมดความอดทนและหันไปหาผู้จัดหารายอื่น
ความคาดหมายเกี่ยวกับการอนุมัติเครื่องบินรบครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ทำเนียบขาวกำลังหาทางส่งเสริมความสัมพันธ์กับพันธมิตรรัฐอาหรับอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งต้องการเสริมแสนยานุภาพทางทหาร ขณะที่ประเทศเหล่านี้กังวลว่าวอชิงตันกำลังใกล้ชิดกับคู่อริของพวกเขาอย่างอิหร่านมากขึ้น หลังจากเตหะรานบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับเหล่าชาติมหาอำนาจเมื่อช่วงต้นปี
เพนตากอนและกระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณาขายเครื่องบินรบ F-15 ของโบอิ้ง 36 ลำแก่กาตาร์ มูลค่าราว 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาขายเครื่องบิน เอฟ/เอ-18อี/เอฟ ซูเปอร์ฮอร์เน็ต 28 ลำ พร้อมออปชันเพิ่มเติม 12 ลำ แก่คูเวต ในข้อตกลงมูลค่าราว 3,000 ล้านดอลลาร์
แหล่งข่าวเผยว่า เจ้าหน้าที่จากทั้ง 2 หน่วยงานเห็นชอบข้อตกลงเหล่านี้มาพักหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากทำเนียบขาวก่อน ซึ่งตอนนี้ใกล้เข้ามาแล้ว “การตัดสินใจของรัฐบาลใกล้มากแล้ว” แหล่งข่าวผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนามระบุ
เมื่อครั้งที่ทำเนียบขาวให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะเริ่มแจ้งต่อ ส.ส.อเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนส่งเอกสารแจ้งต่อสภาคองเกรสอย่างเป็นทางการ 40 วันหลังจากนั้น ซึ่งพอถึงจุดนี้ก็จะมีการเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ
นอกจากนี้แล้ว ข้อตกลงที่ 3 เกี่ยวกับการขายเครื่องบิน F-16 ที่สร้างโดยล็อคฮีด มาร์ติน คอร์ป แก่บาห์เรน ยังอยู่ภายใต้การพิจารณา แต่การอนุมัติอยู่ไม่ไกลนัก
กาตาร์เป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศใหญ่ที่สุดของอเมริกาในตะวันออกกลาง ส่วนคูเวตเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารอย่างมหาศาล หลังเกิดการลุกฮือทั่วโลกอาหรับและท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างเหล่าประเทศอาหรับอ่าวเปอร์เซียกับอิหร่าน
ทั้งคูเวตและกาตาร์ยังเป็นหนึ่งในพันธมิตร 34 ชาติที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย ที่ตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน ซึ่งมีเป้าหมายตอบโต้พวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) และพวกอัลกออิดะห์ ในอิรัก ซีเรีย ลิเบีย อียิปต์ และอัฟกานิสถาน