xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น “นุก” 50 ลูกที่ตุรกี ถูกก่อการร้ายยึด นักวิชาการเร้าเพนตากอนเร่งขนออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) เอเอฟพี - ทหารอากาศสหรัฐฯกำลังโหลดขีปนาวุธเอไอเอ็ม-9 ไซด์ไวน์เดอร์ เข้าติดตั้งบนเครื่องบินเอฟ-16ซี ที่ท่าอากาศยานอินซีร์ลิคของตุรกี ขณะที่สนามบินแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่จัดเก็บระเบิดนิวเคลียร์ของอเมริกา
เอเอฟพี - กลุ่มคลังสมองในวอชิงตัน เตือน ระเบิดนิวเคลียร์อเมริกันราว 50 ลูก ที่จัดเก็บอยู่ในฐานทัพอินซีร์ลิก ของตุรกี ใกล้ชายแดนซีเรีย เสี่ยงถูกผู้ก่อการร้าย หรือกองกำลังฝ่ายตรงข้ามกลุ่มอื่นยึด และนำไปใช้

คำเตือนนี้ซึ่งอันที่จริงมีการพูดถึงกันมาพักใหญ่แล้ว ยิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นอีกครั้ง หลังเหตุการณ์พยายามก่อการรัฐประหารยึดอำนาจที่ล้มเหลวในตุรกี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้บัญชาการทหารตุรกีที่ดูแลฐานทัพอากาศอินซีร์ลิกถูกจับกุมด้วย เนื่องจากสงสัยว่าพัวพันกับความพยายามยึดอำนาจคราวนี้

รายงานจาก “สทิมสัน เซนเตอร์” กลุ่มคลังสมองที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและส่งเสริมสันติภาพ ที่ออกมาในวันจันทร์ (15 ส.ค.) ระบุว่า คำถามที่ว่า อเมริกาสามารถหรือไม่ที่จะคงการควบคุมอาวุธในฐานทัพดังกล่าว ซึ่งอยู่ทางใต้ของตุรกี ห่างจากชายแดนซีเรีย เพียง 110 กิโลเมตร หากเกิดความขัดแย้งด้านพลเรือนยืดเยื้อในตุรกีนั้น ยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ

ฐานทัพอินซีร์ลิกเป็นฐานทัพสำคัญสำหรับกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยอเมริกา และสำหรัฐการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอิรัก และซีเรีย เนื่องจากตั้งอยู่ในจุดยุทธ์ศาสตร์ที่อากาศยานไร้นักบิน (โดรน) และเครื่องบินรบสามารถเข้าถึงเป้าหมายกลุ่มไอเอสอย่างรวดเร็ว

ทว่า เดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สั่งให้ครอบครัวทหาร และเจ้าหน้าที่พลเรือนอเมริกันที่ประจำอยู่ทางใต้ของตุรกีอพยพออกจากพื้นที่ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย

ไลซี ฮีลีย์ ผู้ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ ชี้ว่า ในมุมมองด้านความมั่นคง การที่อเมริกายังคงเก็บรักษาระเบิดนิวเคลียร์ 50 ลูกในฐานทัพอินซีร์ลิกถือเป็นความเสี่ยง แม้ว่าจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอยู่ก็ตาม เนื่องจากไม่สามารถมั่นใจได้ว่า จะสามารถคงการควบคุมฐานทัพแห่งนั้นได้ตลอดไป

ทั้งนี้ แม้เพนตากอนไม่ได้ระบุว่า จัดเก็บสินทรัพย์นิวเคลียร์ไว้ที่ใด แต่เชื่อกันว่า น่าจะอยู่ที่อินซีร์ลิกเพื่อป้องปรามรัสเซีย และยืนยันความมุ่งมั่นของอเมริกาที่มีต่อองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหารที่มีสมาชิก 28 ชาติ รวมถึงตุรกี

สตีฟ แอนเดรียเซน อดีตผู้อำนวยการนโยบายกลาโหมและการควบคุมอาวุธของสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวระหว่างปี 1993 - 2001 เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทมส์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แม้หลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ได้จนถึงขณะนี้ แต่มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า ความปลอดภัยของอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาที่จัดเก็บอยู่ในตุรกีอาจเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในชั่วข้ามคืน

อย่างไรก็ดี โคริ เชค นักวิชาการจากสถาบันฮูเวอร์ในแคลิฟอร์เนีย ตั้งข้อสังเกตในบทความในนิวยอร์ก ไทมส์ ว่า อาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาไม่สามารถนำไปใช้ได้หากไม่มีรหัส ดังนั้น อาวุธนิวเคลียร์ในตุรกีจึงไม่มีความเสี่ยงในการถูกยึด และนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ตุรกีกลับลำเป็นปฏิปักษ์กับอเมริกาก็ตาม

ด้านเพนตากอนงดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำถามที่จุดประเด็นโดยรายงานของสติมสัน แต่แถลงยืนยันว่า ได้ดำเนินมาตรการอย่างเหมาะสมในการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของบุคลากร ครอบครัว และฐานทัพอเมริกัน และจะดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไป

ความกังวลเกี่ยวกับฐานทัพอินซีร์ลิกได้รับการตอกย้ำ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารว่าด้วยโครงการปรับปรุงระบบนิวเคลียร์ให้ทันสมัยของเพนตากอน ซึ่งจะมีการทุ่มงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ปรับปรุงหัวรบปรมาณู

ทว่า ผู้จัดทำรายงานของสทิมสัน เซนเตอร์ค แสดงความเห็นว่า ควรนำระเบิดนิวเคลียร์แรงโน้มถ่วง บี61 ออกจากยุโรปทันที โดยขณะนี้มีการจัดเก็บ “นุก” ชนิดนี้ในเบลเยียม อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และ ตุรกี รวม 180 ลูก


กำลังโหลดความคิดเห็น