xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์พบ “ผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา” รายแรก งัดมาตรการจำกัดการแพร่ระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - มาเลเซียยืนยันในวันนี้ (1) ว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายแรกในประเทศ ภายหลังผลตรวจหาไวรัสชนิดนี้ของผู้หญิงคนหนึ่งออกมาเป็นบวกหลังจากที่เธอเดินทางไปเยือนสิงคโปร์นาน 3 วันเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม

สตรีวัย 58 ปีรายนี้แสดงอาการผื่นคันและเป็นไข้หลังจากเดินทางกลับมาจากสิงคโปร์ได้หนึ่งสัปดาห์ สุบรามาเนียม สาธาสิแวม รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

“เรากำลังดำเนินมาตรการควบคุมยุงลายใกล้บ้านของสตรีรายนี้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส” เขากล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้ (1) พร้อมเสริมว่า ไวรัสถูกพบในตัวอย่างปัสสาวะของสตรีรายนี้

สุบรามาเนียมกล่าวในตอนแรกว่า ลูกของสตรีรายนี้ก็ถูกตรวจพบไวรัสซิกาในสิงคโปร์เช่นกัน เขาชี้แจงในภายหลังว่า ลูกของเธอเป็นผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ที่ทำงานอยู่ในสิงคโปร์และไม่ได้กลับมายังมาเลเซีย

สุบรามาเนียมกล่าวว่า พวกเขาได้ยกระดับการควบคุมพาหะในเขตทามันโบจานีในเมืองกลังซึ่งบ้านของหญิงผู้ติดเชื้อรายนี้ตั้งอยู่ และขอให้ผู้อยู่อาศัยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปยังบ้านของพวกเขาเพื่อดำเนินการพ่นควันและพ่นสเปรย์ทำลายลูกน้ำยุงลาย

สิงคโปร์ประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาภายในประเทศรายแรกเมื่อค่ำวันเสาร์ (27) และจำนวนของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์นี้

สตรีมีครรภ์รายหนึ่งอยู่ในหมู่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาในสิงคโปร์ ในขณะที่จำนวนของผู้ติดเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะชนิดนี้ในนครรัฐแห่งนี้เพิ่มขึ้นเป็น 115 ราย

ในวันนี้ (1) สุบรามาเนียมกล่าวว่า จนถึงตอนนี้มีชาวมาเลเซียถูกตรวจพบไวรัสซิกาแล้ว 5 คนในสิงคโปร์

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ สรุปไว้ว่า การติดเชื้อไวรัสซิกาในสตรีมีครรภ์อาจทำให้เด็กที่เกิดมามีภาวะศีรษะเล็กซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านพัฒนาการอย่างร้ายแรงในเด็ก

องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์อย่างหนักแน่นว่าไวรัสซิกาอาจทำให้เกิดโรคกีแยง-บาร์เร กลุ่มอาการทางประสาทหายากที่ทำให้เกิดอาการอัมพาตชั่วคราวในผู้ใหญ่

ความเชื่อมโยงระหว่างไวรัสซิกากับภาวะศีรษะเล็กเผยให้เห็นอย่างชัดเจนครั้งแรกเมื่อช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมาในบราซิล ซึ่งตอนนี้ยืนยันมีผู้ป่วยโรคศีรษะเล็กกว่า 1,600 คนที่ทางการพิจารณาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสซิกาในมารดา


กำลังโหลดความคิดเห็น