xs
xsm
sm
md
lg

ท่าจะวุ่น! “เวเนฯ-เอกวาดอร์-โบลิเวีย” แห่เรียกทูตกลับจากบราซิล ประท้วง “รุสเซฟฟ์” ถูกถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ แห่งบราซิล
เอเจนซีส์ - รัฐบาลฝ่ายซ้ายของเวเนซุเอลา เอกวาดอร์ และโบลิเวีย มีคำสั่งเรียกทูตกลับจากกรุงบราซิเลียทันที หลังจากประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ แห่งบราซิล ถูกวุฒิสภาลงมติถอดถอนอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (31 ส.ค.) โดยประธานาธิบดี ราฟาเอล คอร์เรีย แห่งเอกวาดอร์นั้นถึงกับติเตียนมติของวุฒิสภาแซมบ้าว่าเป็นเพียง “ข้ออ้างเพื่อล่วงละเมิดและก่อกบฏ”

กลุ่มความร่วมมือ ALBA ซึ่งมีเวเนซุเอลาเป็นผู้นำรัฐสมาชิกในละตินอเมริกา 11 ประเทศ ได้แถลงประณามสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “การรัฐประหารโดยรัฐสภา”

อย่างไรก็ดี เพื่อนบ้านอื่นๆ ของบราซิล เช่น อาร์เจนตินา ชิลี และปารากวัย ยืนยันว่าจะ “เคารพ” การตัดสินใจของวุฒิสภาบราซิล

ชิลีแสดงความ “เชื่อมั่นว่าบราซิลจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านสถาบันประชาธิปไตย”

วุฒิสภามีมติ 61-20 เสียงตัดสินว่า รุสเซฟฟ์ วัย 68 ปี ได้กระทำผิดกฎหมายโดยการนำเงินจากธนาคารของรัฐไปอุดรูรั่วด้านงบประมาณในปี 2014 ทำให้ช่วงเวลา 13 ปีที่พรรคแรงงาน (PT) ฝ่ายซ้ายได้ปกครองชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของละตินอเมริกาต้องสิ้นสุดลง

กระทรวงการต่างประเทศเวเนซุเอลาแถลงว่า รัฐบาลการากัส “ตัดสินใจถอนเอกอัครราชทูต” ออกจากบราซิล “และจะระงับความสัมพันธ์ทั้งในด้านการเมืองและการทูตกับรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการก่อรัฐประหารโดยรัฐสภาครั้งนี้”

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา บราซิลก็ประกาศเรียกทูตของตนกลับจากเวเนซุเอลาเช่นกัน

กระทรวงการต่างประเทศบราซิลยังแสดงความเสียใจที่ได้ยิน “คำแถลงที่แสดงถึงความเข้าใจคลาดเคลื่อน” จากรัฐบาลโบลิเวีย เอกวาดอร์ และคิวบา

การที่ รุสเซฟฟ์ หลุดจากตำแหน่งทำให้เวเนซุเอลาและประเทศใกล้เคียงที่ปกครองด้วยรัฐบาลฝ่ายซ้ายต้องขาดพันธมิตรสำคัญไปอีกหนึ่ง

ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ระบุว่า เหตุที่ต้องเรียกทูตกลับเพราะบราซิล “กำลังมีรัฐบาลที่มาจากการช่วงชิงอำนาจ และไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง” และตนได้โทรศัพท์พูดคุยกับ รุสเซฟฟ์ แล้ว

มาดูโร กล่าวด้วยว่า กระบวนการกำจัด รุสเซฟฟ์ ครั้งนี้เป็นแผนการของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเดินหน้า “รุกรานภาคพื้นทวีป” (continental offensive)

มาดูโร พยายามนำเรื่องการถอดถอนผู้นำหญิงบราซิลมาเชื่อมโยงกับปัญหาที่ตนเองเผชิญอยู่ เนื่องจากสภาแห่งชาติที่ฝ่ายค้านเวเนซุเอลาครองเสียงข้างมากก็พยายามใช้กลไกประชามติปลด มาดูโร ออกจากตำแหน่งเช่นกัน

ด้านประธานาธิบดี คอร์เรีย แห่งเอกวาดอร์ ก็ใช้สื่อทวิตเตอร์ระบายความคั่งแค้น

“เราจะไม่มีวันให้อภัยการกระทำเช่นนี้ ซึ่งทำให้นึกถึงเมื่อครั้งที่อเมริกาตกอยู่ในความมืดมนที่สุด” เขากล่าว โดยมีนัยยะถึงการปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารในอดีต

ประธานาธิบดี อีโว โมราเลส แห่งโบลิเวีย ก็ได้โพสต์ทวิตเตอร์ประณาม “การก่อรัฐประหารโดยรัฐสภาเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยในบราซิล”

“เราจะยืนหยัดเคียงข้าง ดิลมา, ลุลา (อดีตประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลุลา ดา ซิลวา ซึ่งโดนข้อหาคอร์รัปชัน) และประชาชนชาวบราซิล ในเวลาที่ยากลำบากนี้” โมราเลส กล่าว
ตำรวจปราบจลาจลบราซิลปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟฟ์ ที่นครเซาเปาลู เมื่อวันที่ 31 ส.ค.
ตำรวจปราบจลาจลยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนประธานาธิบดี รุสเซฟฟ์ ในนครเซาเปาลู เมื่อวันที่ 31 ส.ค.

กำลังโหลดความคิดเห็น