xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : “ดูเตอร์เต” ขู่นำฟิลิปปินส์ถอนตัวจาก UN จวกยับ “ไร้ผลงาน” ดีแต่วิจารณ์ชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลายเป็นกระแสฮือฮาระดับโลกตั้งแต่ต้นสัปดาห์ เมื่อประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำฝีปากกล้าแห่งฟิลิปปินส์ ขู่จะนำประเทศ “ถอนตัว” ออกจากการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เหตุเพราะไม่พอใจที่ถูกยูเอ็นวิจารณ์เรื่องการทำสงครามกวาดล้างอาชญากร ในขณะที่พี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ก็มีท่าทีหวั่นใจไม่น้อยกับบุคลิกสุดห้าวของผู้นำรายนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างมะนิลาต้องสั่นคลอน

ดูเตอร์เต ที่รั้งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองดาเวามานานกว่า 20 ปี ก่อนจะชนะศึกเลือกตั้งผู้นำแดนตากาล็อกอย่างถล่มทลายเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ยืนยันว่าจะกวาดล้างพวกอาชญากรให้หมดไปจากประเทศ และยังสนับสนุนให้ประชาชนลงมือสังหารคนที่พวกเขาสงสัยว่าเป็นอาชญากรได้ทันที หากคิดว่ามีความจำเป็น

โรนัลด์ เดลา โรซา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ในห้วงเวลาไม่ถึง 2 เดือนที่ ดูเตอร์เต ประกาศสงครามกับยาเสพติด มีผู้ต้องสงสัยถูกล่าสังหารไปแล้วร่วม 2,000 คน หรือประมาณ 36 คนต่อวัน ขณะที่อาชญากรอีกหลายพันคนเข้ามอบตัวต่อทางการเพื่อรักษาชีวิตรอด

ดูเตอร์เตยืนยันว่า 756 ศพที่ถูกตำรวจกระทำวิสามัญฯ เป็นพวกพ่อค้ายาเสพติดที่ขัดขืนการจับกุม ส่วนรายอื่นๆ ถูก “ฆ่าตัดตอน” โดยพวกแก๊งอาชญากรด้วยกันเอง

สื่อท้องถิ่นฟิลิปปินส์ตั้งข้อสังเกตว่า การฆ่าตัดตอนในบางกรณีอาจเป็นฝีมือตำรวจกังฉินซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกับเครือข่ายค้ายาเสพติด และเกรงว่าจะถูกเปิดโปง

นักสิทธิมนุษยชนและสมาชิกรัฐสภาบางคนเตือนว่า หน่วยงานความมั่นคงฟิลิปปินส์กำลังใช้ “ระบบศาลเตี้ย” สังหารคนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็แสดงความ “เป็นห่วงอย่างยิ่ง” ที่มะนิลาไฟเขียวให้มีการฆ่าคนเป็นพัน ๆ โดยไม่พึ่งกระบวนการยุติธรรม

มาร์ก โทเนอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์รับรองว่าการทำงานของตำรวจจะไม่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน

สัปดาห์ที่แล้ว อันเยส คัลลามาร์ด ผู้ตรวจการพิเศษยูเอ็นว่าด้วยการประหารชีวิต ออกมาระบุว่าการที่ ดูเตอร์เต สัญญาจะให้ความคุ้มครองจากการถูกดำเนินคดี และมอบรางวัลแก่กองกำลังความมั่นคงที่สังหารผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติด อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้ผู้นำขาโหดไม่พอใจอย่างยิ่ง

ระหว่างแถลงข่าวเมื่อค่ำวันอาทิตย์ (21) ดูเตอร์เต ขู่จะนำฟิลิปปินส์ถอนตัวจากองค์การสหประชาชาติ และอาจตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ โดยชวนจีนและประเทศในแอฟริกาเข้าร่วม พร้อมทั้งปรามาสยูเอ็นว่าไม่มีปัญญาทำพันธกิจของตนเองให้ลุล่วงแล้วยังบังอาจมาวิจารณ์ผู้อื่น

“ถ้าพวกคุณยังทำตัวไม่น่านับถือแบบนี้ผมจะถอนตัว” ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าว พร้อมเรียกยูเอ็นว่า “ลูกโสเภณี”

ดูเตอร์เต ชี้ว่ายูเอ็นไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความหิวโหยและการก่อการร้าย ไม่สามารถยุติสงครามในซีเรียและอิรัก ทั้งยังนิ่งเฉยเมื่อชาติมหาอำนาจส่งเครื่องบินไปทิ้งบอมบ์สังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์

“ฝากบอกยูเอ็นด้วยว่า ถ้าพวกคุณวิจารณ์ผม 1 เรื่อง ผมก็วิจารณ์พวกคุณได้ถึง 10 เรื่อง พวกคุณมันไร้ประโยชน์ เพราะถ้าพวกคุณปฏิบัติตามที่พูดได้จริง สงครามและการเข่นฆ่าคงจะจบสิ้นไปนานแล้ว”

เปอร์เฟ็กโต ยาซาย รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ พยายามออกมาเบรกผลกระทบจากคำพูดของดูเตอร์เต โดยยืนยันในวันจันทร์ (22) ว่าฟิลิปปินส์ยังเต็มใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของยูเอ็นต่อไป

“เรายังพร้อมที่จะรักษาพันธกรณีที่มีต่อยูเอ็น แม้จะสับสนและผิดหวังกับองค์กรระหว่างประเทศแห่งนี้มาหลายครั้งแล้วก็ตาม” ยาซายระบุ

ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับคำขู่ของผู้นำฟิลิปปินส์

ล่าสุด ดูเตอร์เต ได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันอังคาร (23) ว่า คำขู่ถอนตัวจากยูเอ็นเป็นแค่เรื่อง “ล้อเล่น”

ดูเตอร์เต เคยถูกวิจารณ์อื้ออึงเรื่องที่เขาพูดว่าอยากจะลองข่มขืน “มิชชันนารีสาวสวย” ชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ และฆ่าทิ้งระหว่างที่นักโทษเรือนจำเมืองดาเวาก่อเหตุจลาจลเมื่อปี 1989

เขาชี้แจงภายหลังว่ามันเป็นแค่ “มุกตลก” เท่านั้น และปฏิเสธที่จะเอ่ยขอโทษ

เออร์เนสโต อาเบลลา โฆษกของผู้นำฟิลิปปินส์ ยืนยันกับผู้สื่อข่าวอัลญาซีเราะห์ว่า เรื่องการข่มขืนมิชชันนารีเป็นแค่คำพูดล้อเล่นจริงๆ โดยอธิบายว่า ดูเตอร์เต มาจากชุมชนชาวเซบูอาโน (Cebuano) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ทางตอนกลางและใต้ของฟิลิปปินส์ “และวัฒนธรรมของชาวเซบูอาโนก็มักจะมีมุกตลกที่ค่อนข้างดิบเถื่อนแบบนี้”

นโยบายล่าสังหารผู้ค้ายาเสพติด ตลอดจนการด่าทอเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ว่าเป็น “เกย์-ลูกโสเภณี” ทำให้ ดูเตอร์เต เป็นผู้นำฟิลิปปินส์ที่วอชิงตันกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องประคับประคองความสัมพันธ์ที่ดีกับมะนิลาเอาไว้ เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็งไว้ต้านอิทธิพลของจีน

แพทริก โครนิน นักวิเคราะห์ด้านเอเชีย-แปซิฟิก เคยเอ่ยถึงเหตุผล 3 ประการที่ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของสหรัฐฯ ได้แก่ 1) ที่ตั้งของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหมู่เกาะใหญ่แห่งแรกจากแผ่นดินเอเชียตะวันออก 2) ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรชาติเดียวของสหรัฐฯ ที่อยู่ในกลุ่มผู้อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ และ 3) ความสำคัญของปัญหาทะเลจีนใต้ในระดับภูมิภาค

องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์เรียกร้องให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป “แสดงให้ ดูเตอร์เต รับรู้ว่า การปลุกปั่นความรุนแรงนั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และจะต้องถูกตอบโต้ทั้งในด้านการทูตและเศรษฐกิจ"

แม้จะถูกหลายฝ่ายติเตียนเรื่องสงครามยาเสพติด แต่อีกแง่หนึ่งที่สื่อไม่ค่อยพูดถึงก็คือผลงานในด้านเศรษฐกิจของดูเตอร์เต ยุทธศาสตร์กระตุ้นการเติบโตของเขาได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว

นักธุรกิจบางคนมองว่า การกวาดล้างยาเสพติดด้วยวิธีดุดันแบบ ดูเตอร์เต จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และการที่เขาเป็นคนพูดจริงทำจริงก็ยิ่งทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น

“เวลานี้เรายืนอยู่ในจุดที่ดีมาก” อันโตนิโอ มอนกูปา จูเนียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีสต์-เวสต์ แบงกิง คอร์ป ซึ่งเป็นสถาบันปล่อยกู้ที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของฟิลิปปินส์ ระบุ “การที่รัฐบาลประกาศทุ่มงบก้อนโตเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ลดทอนข้อจำกัดต่างๆ ในการทำธุรกิจ คืนความสงบเรียบร้อยสู่บ้านเมือง... สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับอนาคตของประเทศ”

กำลังโหลดความคิดเห็น