xs
xsm
sm
md
lg

UN เตรียมรับ ‘ผู้อพยพลี้ภัยเรือนล้าน’ ขณะ ‘อิรัก-เคิร์ด’ ใกล้รุกชิง ‘เมืองโมซุล’ คืนจาก ‘ไอเอส’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>กองกำลังความมั่นคงของอิรักรวมตัวกันที่บริเวณชานเมืองกายยาราห์ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา  กองทัพอิรักวางแผนใช้สนามบินที่อยู่ใกล้ๆ เมืองนี้เป็นศูนย์สำคัญในการสนับสนุนการรุกชิงเมืองโมซุลคืน  โดยที่ยูเอ็นแถลงวันอังคาร (23 ส.ค.) ว่าการบุกใหญ่นี้น่าจะทำให้มีผู้พลัดถิ่นเรือนล้าน </i>
รอยเตอร์ - ประชาชนเรือนล้านทั้งที่พำนักอยู่ภายในเมืองโมซุลและรอบๆ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรักแห่งนี้อาจต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นไร้ที่อยู่ เมื่อกองกำลังทหารบุกเข้าโจมตีช่วงชิงนครแห่งนี้คืนจากกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แถลงในวันอังคาร (23 ส.ค.)

“ในโมซุล เราเชื่อว่าสถานการณ์การพลัดถิ่นอาจใกล้ที่จะเลวร้ายลงเป็นอย่างยิ่ง” เอเดรียน เอดเวิร์ดส์ โฆษกของ UNHCR กล่าวในการแถลงข่าวที่นครเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ โดยระบุว่าสำนักงานของเขาจำเป็นที่จะต้องได้ที่ทางเพิ่มขึ้นสำหรับการตั้งค่ายพักรองรับผู้พลัดถิ่น

“ผลกระทบทางมนุษยธรรมจากการรุกของฝ่ายทหารนี้ คาดหมายว่าจะมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร โดยอาจมีประชาชนถึง 1.2 ล้านคนทีเดียวที่จะได้รับความกระทบกระเทือน”

ปัจจุบันมีประชาชนราว 3.4 ล้านคนทั่วทั้งอิรักได้ถูกบังคับจากการสู้รบขัดแย้งให้ต้องละทิ้งบ้านเรือนของพวกเขาอยู่แล้ว โดยต้องหนีไปหลบภัยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาล หรือไม่ก็ในเขตปกครองตนเองของชาวเคิร์ด ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเมืองโมซุล ที่ถือเป็นเมืองหลวงในทางพฤตินัยของกลุ่มไอเอส

ด้วยจำนวนประชากรที่ครั้งหนึ่งมีมากถึงราว 2 ล้านคน โมซุลจึงเป็นเมืองใหญ่ที่สุดที่อยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มนักรบแข็งกร้าวสุดโต่งกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นในอิรักหรือในซีเรียที่เป็นชาติเพื่อนบ้านอยู่ติดกัน
<i>ภาพนิ่งถ่ายจากคลิปวิดิโอเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวของกลุ่มไอเอส แสดงให้เห็นนักรบไอเอสกำลังสู้รบรักษาการควบคุมรอบๆ เมืองโมซุลเมื่อวันอังคาร (16 ส.ค.) ที่แล้ว </i>
กองกำลังอาวุธของอิรักและของชาวเคิร์ดกำลังค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปใกล้เมืองนี้ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงแบกแดดไปทางเหนือราว 400 กิโลเมตร ด้วยการสนับสนุนทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดินจากกลุ่มพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐฯ

หากไอเอสสูญเสียโมซุล ก็จะเป็นหลักหมายแสดงถึงความพ่ายแพ้อย่างชัดเจนของกลุ่มไอเอสในอิรัก นายกรัฐมนตรี ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี ของอิรักระบุเช่นนี้

“โมซุลจะได้รับการปลดปล่อยในปี 2016 นี้แหละ เรามีแผนการที่จะปลดปล่อยนิเนเวห์” เขากล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวในแบกแดดวันอังคาร (23) ทั้งนี้ นิเนเวห์เป็นจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโมซุล ตลอดจนเป็นภูมิลำเนาของกลุ่มศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า ชาวคริสเตียน, ชาวเติร์กเมน, ชาวเคิร์ด นอกเหนือจากชาวอาหรับมุสลิมนิกายสุหนี่แล้ว

อาบาดีกล่าวว่า รัฐบาลของเขาได้ติดต่อกับทุกๆ ฝ่ายเพื่อหาวิธีในการบริหารจัดการโมซุล โดยเขาระบุว่าในการบริหารนี้จะต้องร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกลางอิรัก, รัฐบาลเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ด หรือ “เคอร์ดิสถาน”, ประชาชนในท้องถิ่น และกองกำลังด้านความมั่นคง

เวลานี้กองทหารอิรักกำลังสู้รบบุกขึ้นไปตามแม่น้ำไทกริส และยังเหลืออีกประมาณ 60 กิโลเมตรก็จะถึงชานเมืองโมซุล ส่วนกองกำลังอาวุธ “เปชเมอร์กา” ของชาวเคิร์ดนั้น ตั้งประจันอยู่ห่างจากเมืองนี้ไปทางตะวันออกราว 30 กิโลเมตร

กองทัพอิรักแถลงในวันอังคาร (23) ว่า ทหารของตนได้ปะทะกับนักรบหัวรุนแรงในเมืองกายยาราห์ เมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ฐานทัพอากาศแห่งหนึ่ง ซึ่งตนมีแผนจะใช้เป็นศูนย์สำคัญในการสนับสนุนการบุกตีโมซุล โดยที่กองทัพอิรักได้ยึดสนามบินแห่งนี้เอาไว้ได้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว และกองทหารสหรัฐฯ ก็กำลังช่วยซ่อมแซมอยู่
<i>ประชาชนพลัดถิ่นซึ่งหลบหนีจากความรุนแรงของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) รอคอยเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ ที่บริเวณนอกเมืองกายยาราห์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น