xs
xsm
sm
md
lg

นิตยสารฟอร์บส์ชี้ ‘ท่องเที่ยวไทย’ ยังสามารถฟื้นตัวเร็วจาก ‘เหตุโจมตีหัวหิน-ภูเก็ต’ แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


MGRออนไลน์ - นิตยสารฟอร์บส์เสนอรายงานชี้ว่า การท่องเที่ยวของไทยทำท่าว่ายังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวหวนกลับคืนสู่สภาพปกติ ภายหลังมีผู้ก่อเหตุโจมตีรีสอร์ตชื่อดังของไทยหลายจุดต่อเนื่องเป็นระลอกเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยที่พวกบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ต่างบอกว่าไม่ต้องทบทวนแก้ไขแผนการเป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้ ขณะที่ทางการไทยก็ยังเดินหน้าขึ้น “ค่าธรรมเนียมออกวีซ่าเมื่อมาถึง” จากผู้เดินทางเป็นสองเท่าตัวตามกำหนดเดิม

รายงานเรื่อง Can Thailand Keep Counting On Tourism's 'Resilience'? (ไทยยังสามารถวางใจ ‘ความยืดหยุ่น’ ของการท่องเที่ยวได้ไหม?) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (22 ส.ค.) ทางเว็บไซต์ของนิตยสารธุรกิจชื่อดังฉบับนี้ บอกว่า นับถึงเวลานี้ประเทศไทยมีความคุ้นเคยกับการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของตนดีดตัวกลับขึ้นมาจากวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว พอๆ กับที่มีความคุ้นเคยการทำรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารทีเดียว

รายงานซึ่งเขียนโดย ไรนี ฮัมดี (Raini Hamdi) ชิ้นนี้เล่าว่า ไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุระเบิดประสานกันเป็นระลอกโจมตีเมืองรีสอร์ตต่างๆ ของไทย รวมทั้งหัวหิน และภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 และ 12 สิงหาคมแล้ว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ออกมาประมาณการว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกการเดินทางมาเยือน 100,000-200,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเอเชีย และทำให้เงินรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงหลายๆ เดือนจากนี้ไปต้องสูญเสียเป็นมูลค่าราว 294 ล้านดอลลาร์

ผู้เขียนรายงานนี้บอกว่า ตัวเลขนี้ถือว่าเล็กน้อยมากสำหรับไทยซึ่งดึงดูดผู้มาเยือนได้เกือบๆ 30 ล้านคนในปีที่แล้ว และกำลังตั้งเป้าว่าจะมีผู้เดินทางมา 32 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวก็จะอยู่ในระดับ 69,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

กระทั่งทางการไทยยังคงเดินหน้าที่จะขึ้นค่าธรรมเนียมการขอประทับตราวีซ่าเมื่อเดินทางถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองของไทยแล้ว (Visa On Arrival) จาก 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติไปในเดือนมกราคม ทั้งนี้ การขึ้นค่าธรรมเนียมนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน โดยผู้มาเยือนที่ไทยให้สิทธิขอวีซ่าเมื่อมาถึงนี้มีด้วยกัน 19 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือจีน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเป็นตลาดที่มาของนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งใหญ่ที่สุดของไทย โดยมีจำนวนเกือบ 8 ล้านคนในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน พวกบริษัทด้านการท่องเที่ยวรายใหญ่ๆ ซึ่งผู้เขียนไปสัมภาษณ์ก็บอกว่าไม่ได้มีการทบทวนปรับเปลี่ยนแผนการเงินของพวกตนแต่อย่างใดภายหลังเกิดวิกฤตล่าสุดคราวนี้แล้ว เป็นต้นว่า บิลล์ ไฮเน็ค ประธานและซีอีโอของไมเนอร์กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า พวกโรงแรมต่างๆ ที่อยู่ในไทยของทางกลุ่มคือตัวที่มีบทบาทสำคัญในการหนุนให้กำไรสุทธิของไมเนอร์ โฮเท็ล เพิ่มขึ้น 73% ในครึ่งแรกของปี 2016 นี้ “เราไม่คาดหมายว่านี่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในระยะหลายๆ เดือนจากนี้ไป” ไฮเน็คกล่าว

“เราไม่มีแผนการจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป้าหมายต่างๆ ในช่วงตลอดปีนี้ของเรา” เขากล่าวต่อ “ไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการยืดหยุ่นกลับคืนสู่สภาพปกติได้เป็นอย่างยิ่ง และได้เคยเอาชนะการท้าทายต่างๆ นานามาแล้วในอดีต”

ในทำนองเดียวกัน ลอเรนต์ คูเอนเซิล ซีอีโอของเอเชียน เทรลส์ ไทยแลนด์ บริษัททัวร์ขาเข้ารายใหญ่รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ล่าสุดนี้ก็คล้ายคลึงกับคราวเกิดเหตุระเบิดศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นั่นคือ มีการยกเลิกเดินทางอยู่บ้างภายในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นก็มีการชะลอตัวของรายใหม่ๆ ที่มาจอง แต่ “เราเชื่อว่าภายในเดือนกันยายนปริมาณการจองจะกลับคืนมาสู่ระดับปกติ สรุปก็คือ เสมือนกับไม่ได้มีผลกระทบใดๆ และเมื่อถึงตอนสิ้นปีเราก็จะไล่ทันตัวเลขที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน หรือกระทั่งได้เห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ” เขาบอก

ผู้เขียนรายงานนี้ตั้งคำถามต่อไปว่า ไทยกำลังตกอยู่ในอันตรายเพราะทึกทักคิดไปว่าการท่องเที่ยวจะต้องฟื้นตัวอย่างแน่นอนหรือเปล่า?

แล้วผู้เขียนตอบเองว่า ในด้านหนึ่ง ชายหาด, ธรรมชาติ และวัฒนธรรม, ร้านรวงและตรอกซอย, อาหาร, ผู้คนที่เป็นมิตร, อากาศดี และความคุ้มค่าเงินอย่างน่าทึ่ง เหล่านี้เป็นหลักประกันว่าไทยยังคงเป็นที่นิยมและต้องการมาเยือนของนักท่องเที่ยวเป็นล้านๆ คน ยิ่งไปกว่านั้นไทยยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องการเดินทางเข้ามาได้สะดวก ทั้งนี้รายงานได้อ้างอิงคำพูดของ บิลล์ บาร์เนตต์ กรรมการผู้จัดการ ซี9 โฮเท็ลเวิร์กส์ ไทยแลนด์ บริษัทที่ปรึกษาด้านโรงแรม ที่กล่าวว่า “ที่ตั้งอันโดดเด่นของไทยซึ่งอยู่ตรงหน้าประตูของประชากรครึ่งโลกและการเดินทางทางอากาศแบบโลว์คอสต์ที่กำลังพุ่งพรวด เป็นตัวเร่งให้เกิดดีมานด์ซึ่งมีผลลึกซึ้งกว้างไกลตัวหนึ่ง”

ทั้งหมดเหล่านี้เอง รวมทั้งการมีโชคดีช่วยเอื้ออำนวยด้วย คือเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมประเทศไทยจึงสามารถดีดตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วครั้งแล้วครั้งเล่าจากภัยพิบัติความหายนะต่างๆ เป็นต้นว่า คลื่นยักษ์สึนามิในวันบ็อกซิ่งเดย์ (26 ธันวาคม) ปี 2004, การบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเดือนพฤศจิกายน 2008, การยึดครองย่านดาวน์ทาวน์กรุงเทพฯ จากเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2010, น้ำท่วมใหญ่รุนแรงกว้างขวางในไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2011, การก่อรัฐประหารยึดอำนาจของคณะทหารในไทยในเดือนพฤษภาคม 2014 และเหตุระเบิดศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ ในเดือนสิงหาคม 2015

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนชี้ว่า “ความสามารถในการยืดหยุ่นกลับคืนสู่สภาพปกติ” ของการท่องเที่ยวไทยนั้น เวลานี้กำลังต้องพึ่งพาอาศัยการรักษาภาพลักษณ์ที่ว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางซึ่งปลอดภัยและมั่นคงเอาไว้ให้ได้ยิ่งกว่าเวลาใดๆ ในอดีต เนื่องจากเวลานี้ความสามัคคีทางการเมืองของไทยยังคงเป็นงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีข่าวจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการจมน้ำเสียชีวิต, อุบัติเหตุต่างๆ และการโจมตีก่อเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ถูกรายงานเผยแพร่เอาไว้ในสื่อมวลชนระหว่างประเทศ กระทั่งมีผู้คนบางส่วนกำลังรู้สึกกันแล้วว่า คำบรรยายในโบรชัวร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่วาดภาพประเทศไทยเป็นสถานที่ “สงบสุขและงดงาม” นั้น เป็นแค่ “แฟนตาซี” แท้ๆ ดังที่ข้อเขียนซึ่งโพสต์กันบนเฟซบุ๊กแสดงให้เห็นกันอยู่ในระยะหลังๆ นี้

“ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวนั้นต้องถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ แต่นั่นไม่ได้หยุดลงเพียงแค่เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองเท่านั้น จำเป็นที่จะต้องขยายไปถึงเรื่องที่เกิดอุบัติเหตุทางน้ำมีผู้จมน้ำเสียชีวิต และอุบัติเหตุอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนมากทีเดียว” ผู้เขียนอ้างความคิดเห็นของบาร์เนตต์ โดยที่กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านโรงแรมผู้นี้กล่าวต่อไปด้วยว่า “ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และพวกเขาจำนวนมากมาจากตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ เรื่องความปลอดภัยจะต้องเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในตลอดแวดวงทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ด้านการเมือง”

ผู้เขียนรายงานนี้ยังอ้างอิงความเห็นของไฮเน็ค แห่งไมเนอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ที่บอกว่า ประเทศจำนวนมากและตลอดทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ต่างเผชิญปัญหาท้าทาย ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัย และความมั่นคง ฯลฯ “จึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะเกิดการสรุปเหมารวม และพูดกันว่าประเทศไทยมีปัญหาต่างๆ ทางการเมือง แล้วก็ประณามความเลวร้ายต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ว่ามาจากเรื่องนี้” ไฮเน็คบอก

เขาเรียกร้องให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยหันมาโฟกัสเน้นหนักที่อนาคต “ดูว่าเราสามารถสร้างกรอบโครงที่ดีขึ้นสำหรับต้อนรับแขกที่จะมายังประเทศไทยกันได้อย่างไร ส่งเสริมเพิ่มพูนพวกโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, เพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศซึ่งติดต่อเชื่อมโยงถึงพวกเมืองใหญ่ระดับแถวสอง, พัฒนาโครงการริเริ่มทางด้านการอนุรักษ์ ฯลฯ โดยสรุปแล้ว เราควรที่จะมองไปยังอนาคต และนั่นก็หมายถึงการวางแผนและการดำเนินกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่วันนี้” เขาบอก

ผู้เขียนลงท้ายรายงานชิ้นนี้โดยบอกว่า เวลานี้จึงไม่ใช่เวลาที่การท่องเที่ยวไทยจะนิ่งนอนใจได้

กำลังโหลดความคิดเห็น