หนทางไปสู่เก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ของมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มมีสัญญาณร้ายปรากฏชัดเจนขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะกระแสต่อต้านจากคนในพรรครีพับลิกันเองซึ่งรับไม่ไหวกับคำพูดก้าวร้าวและกลยุทธ์หาเสียงแบบไร้กึ๋นของเขา ว่ากันว่าผู้นำรีพับลิกันเริ่มพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างจริงจังในเรื่องที่จะหันหลังให้กับผู้แทนของพรรครายนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ “แกรนด์ โอลด์ ปาร์ตี” ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างยับเยินในศึกเลือกตั้ง
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งสังกัดพรรครีพับลิกันมากกว่า 200 คน รวมถึงผู้ทรงอิทธิพลภายในพรรค ต่างออกมาประกาศว่าไม่สามารถสนับสนุน ทรัมป์ ได้อีกต่อไป เพราะเอือมระอากับกลยุทธ์สร้างความแตกแยก นโยบายที่ไร้ทิศทาง และมุมมองด้านการต่างประเทศที่สุดโต่งเกินไปของเขา หลายคนถึงกับยอมรับตรงๆ ว่าจะเลือก “ฮิลลารี คลินตัน” ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป
ผู้สันทัดการเมืองในสหรัฐฯ ชี้ว่า การที่สมาชิกรัฐสภา 2-3 คนจะไปกาบัตรลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคตรงข้ามนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ทว่าการที่คนในพรรครีพับลิกันทยอยตบเท้าออกมาคว่ำบาตร ทรัมป์ นับร้อยๆ คนเช่นนี้ถือว่า “ผิดปกติ” และ “ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
การแสดงมุมมองของ ทรัมป์ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมายังนับว่าเป็น “หายนะ” สำหรับตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นการดูหมิ่นครอบครัวทหารที่ตายในสงคราม ยุให้แฮกเกอร์รัสเซียเจาะบัญชีอีเมลของ ฮิลลารี คลินตัน หรือเสนอให้อเมริกาปลดปล่อยตัวเองจากพันธกรณีที่มีต่อนาโต
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่สร้างความหนักใจแก่พรรครีพับลิกันก็คือ การที่ ทรัมป์ ละเลยฐานเสียงชาวอเมริกันผิวสี ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาไม่เคยจัดปราศรัยในชุมชนคนผิวสีแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยเข้าไปเยี่ยมเยียนโบสถ์ วิทยาลัย หรือห้างร้านของคนผิวสี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการหาเสียงของผู้สมัครชิงบัลลังก์ทำเนียบขาวทุกยุคสมัย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทรัมป์ มักจะเลือกหอประชุมหรือสนามกีฬาขนาดใหญ่เป็นสถานที่จัดปราศรัย หรือไม่ก็เชิญสื่อไปพูดคุยที่อาคาร “ทรัมป์ ทาวเวอร์” ในย่านแมนฮัตตัน มากกว่าการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนคนผิวสีในรัฐซึ่งฐานเสียงแกว่งไปมาไม่แน่นอน (swing states) ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาจะต้องชนะให้ได้ หากต้องการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“สิ่งที่เขาทำทุกวันนี้เป็นการผลักไสคนกลุ่มน้อยให้หันไปหาคู่แข่ง ซึ่งก็เห็นได้ชัดจากตัวเลขคะแนนนิยมที่ต่ำมาก” ทารา วอลล์ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารซึ่งเคยวางยุทธศาสตร์เข้าถึงคนผิวสีให้กับอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และ มิตต์ รอมนีย์ ผู้สมัครของรีพับลิกันเมื่อปี 2012 ระบุ
แกนนำรีพับลิกันยังกังวลด้วยว่า พฤติกรรมของ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมโดยรวมของพรรค จนทำให้รีพับลิกันสูญเสียเสียงข้างมากในสภาคองเกรสไปในที่สุด
ผลโพลของ มาริสต์ เอ็นบีซี/ วอลล์สตรีทเจอร์เนิล ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ทรัมป์ มีคะแนนนิยมตามหลัง คลินตัน อยู่ 5% ที่รัฐฟลอริดา, 9% ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา, 13% ที่รัฐเวอร์จิเนีย และ 14% ที่รัฐโคโลราโด
เอ็ด โกส ผู้บริหารสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ The Terrance Group ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนพรรครีพับลิกัน ระบุว่า แนวโน้มเช่นนี้เป็นสัญญานเตือนว่า ทรัมป์ อาจจะพ่ายแพ้ให้ คลินตัน อย่างยับเยินในรัฐสวิงสเตตส์
“ถ้าแพ้แค่ 4-5 หรือ 6 แต้ม เราอาจหาส่วนอื่นมาชดเชยได้... แต่ถ้าแพ้ 8-10 แต้ม คุณไม่มีทางแก้สถานการณ์ได้เลย”
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า ผู้ที่เคยบริจาคเงินตั้งแต่ 200 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปให้แก่ผู้สมัครสายรีพับลิกันในช่วงเลือกตั้งไพรแมรี เช่น เจบ บุช, จอห์น เคซิก และ คริส คริสตี ได้หันไปทุ่มเทเงินบริจาคให้แก่ ฮิลลารี คลินตัน เป็นเงินถึง 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่การแข่งขันระหว่าง 2 พรรคได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในเดือน มิ.ย. ในขณะที่ ทรัมป์ ได้รับเงินบริจาคจากคนกลุ่มนี้เพียง 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หลายชาติที่เคยพึ่งพาสหรัฐฯ ในการป้องกันประเทศก็รู้สึกหวั่นใจไม่น้อยกับสโลแกน “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) ของ ทรัมป์ ซึ่งเคยถูกใช้มาแล้วเมื่อทศวรรษ 1930 โดยกลุ่มชาวอเมริกันที่ไม่ปรารถนาให้สหรัฐฯ เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี “อเมริกาต้องมาก่อน” ในทัศนะของ ทรัมป์ นั้นหมายถึงการปลดเปลื้องอเมริกาจากภาระในการปกป้องชาติอื่น โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการอยู่อย่างถาวรราวๆ 47,000 นาย และ 30,000 นาย ตามลำดับ
ทรัมป์ เสนอให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาป้องกันตนเองจากจีนและเกาหลีเหนือ แทนที่จะรอพึ่งใบบุญสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังแขวะคนญี่ปุ่นว่าคงนั่งดู “ทีวีโซนี” สบายใจหากสหรัฐฯ ถูกโจมตี ในขณะที่วอชิงตันมีพันธกรณีต้องปกป้องโตเกียว
ทรัมป์ เปรียบเปรยเรื่องที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมาตลอดว่าไม่ต่างอะไรกับการ “ถูกข่มขืน” ซึ่งทำให้ปักกิ่งไม่สบอารมณ์ แต่ถึงกระนั้นจีนก็ยังมองว่า ความเป็นนักธุรกิจของ ทรัมป์ น่าจะทำให้เขาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่เจรจาต่อรองได้ง่ายกว่า และคงไม่ยกปัญหาสิทธิมนุษยชนมาโจมตีจีนมากเท่า คลินตัน
คิม ซุง-ฮาน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกาหลีในกรุงโซล ชี้ว่า ทรัมป์ อาจเป็น “ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกซึ่งนิยมลัทธิโดดเดี่ยวตนเอง ในขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ ทุกคนตั้งแต่ยุคหลังสงครามเป็นต้นมาล้วนแต่ส่งเสริมความสัมพันธ์กับนานาชาติ ไม่มากก็น้อย”
“การออกมาพูดว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมถูกเอาเปรียบจากชาติพันธมิตรอีกต่อไปนั้น ไม่ต่างอะไรกับการเพิกถอนความเป็นพันธมิตร... และถ้าเป็นเช่นนั้นแน่นอนว่าจะเกิดกระแสต่อต้านอเมริกาขึ้นทั่วโลก”
ในโลกอาหรับ หลายประเทศก็กำลังหวาดหวั่นที่อิหร่านกลับมามีอิทธิพลสูงขึ้นจากการทำข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์กับมหาอำนาจ P5+1 เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งการที่ ทรัมป์ มีจุดยืนต่อต้านข้อตกลงกับอิหร่านคงเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดารัฐอาหรับสุหนี่มากกว่านี้ หากว่าเขาไม่เคยประกาศว่าจะห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าอเมริกา
“เขาเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติและคลั่งชาติ ซึ่งไม่มีวันจะได้รับการยอมรับอย่างเต็มใจจากผู้นำโลกอาหรับ” อับดุลคอลิก อับดุลเลาะห์ นักวิเคราะห์การเมืองในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ความเห็น
ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียซึ่งเคยทำงานให้กับรัฐบาลรีพับลิกันชุดก่อนๆ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกในสัปดาห์นี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีที่ทำให้สหรัฐฯ หมดความสำคัญในภูมิภาคนี้ และในห้วงเวลาที่การแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับจีนกำลังร้อนระอุ “อเมริกาไม่ควรจะได้ผู้นำซึ่งเป็นมือสมัครเล่น ขาดความสุขุมรอบคอบ และไร้วิสัยทัศน์ในการรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21”
ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้เตือนอีกว่า ถ้านโยบายสุดโต่งของ ทรัมป์ ถูกนำมาปฏิบัติจริง หลายประเทศในเอเชียอาจหันไปพึ่งพาศัตรูของสหรัฐฯ อย่างจีน หรืออาจถึงขั้นแสวงหา “อาวุธนิวเคลียร์” มาเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงของตนเอง