xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่ง-อาเซียนคืบหน้า จัดทำกรอบ “แนวปฏิบัติทะเลจีนใต้” เสร็จกลางปีหน้า ด้านโตเกียวเต้น จีนไม่เลิกรุกล้ำน่านน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) หวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน(ที่3จากขวา) และเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศจากสมาชิกอาเซียน หารือกัน ณ ที่ประชุมพิเศษรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-อาเซียน เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา
เอเจนซีส์ - จีนกับอาเซียนตั้งเป้าร่างกรอบโครง “แนวปฏิบัติว่าด้วยการลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้” ให้แล้วเสร็จภายในกลางปีหน้า โดยที่ปักกิ่งย้ำความคืบหน้านี้บ่งชี้ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่า ความรับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ทะเลจีนใต้เป็นกิจการในภูมิภาค ไม่ควรปล่อยให้ “คนนอก” เข้าแทรกแซง ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อจีนในวันพุธ (17 ส.ค.) โดยที่ในวันเดียวกันนี้ ญี่ปุ่นก็ได้ยื่นประท้วงจีนซ้ำอีก พร้อมย้ำว่าการที่แดนมังกรรุกล้ำน่านน้ำของตนในทะเลจีนตะวันออกเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

จีนและ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เริ่มหารือกันมาตั้งแต่ปี 2010 เพื่อวางกฎกติกาขึ้นมาชุดหนึ่งจะได้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งในหมู่ผู้อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

กระทั่งในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ได้ตัดสินว่าจีนไม่มีกรรมสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์เหนือทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังละเมิดสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์ในน่านน้ำดังกล่าว สร้างความขัดเคืองอย่างยิ่งให้แก่ปักกิ่งที่ปฏิเสธอำนาจการพิจารณาคดีนี้ของศาลแห่งนี้มาตั้งแต่ต้น

ทว่า นับแต่นั้นมาปักกิ่งก็ดูมีความพยายามรื้อฟื้นเดินหน้ากระบวนการทางการทูตขึ้นมาใหม่

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี ของทางการจีนเมื่อวันพุธ (17) ปักกิ่งและอาเซียนได้ประชุมหารือกันทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และตกลงที่จะร่างกรอบโครงของแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ให้ลุล่วงภายในกลางปีหน้า พร้อมกันนั้นยังตกลงเห็นชอบเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับสายด่วนจีน-อาเซียน ที่จะใช้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินทางทะเล

ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ข้อตกลงการเผชิญหน้าทางทะเลอย่างไม่คาดฝันที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ลงนามไปในปี 2014 ควรนำมาบังคับใช้ในทะเลจีนใต้ด้วย

หลิว เจิ้นหมิน รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ระบุว่า จะมีการนำเสนอเอกสารเกี่ยวกับสายด่วนและการเผชิญหน้าอย่างไม่คาดฝัน ให้ระดับผู้นำของทั้งสองฝ่ายอนุมัติขั้นสุดท้ายในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนที่ลาวเดือนหน้า

ไชน่า เดลียังรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของหลิวว่า จีนกีลอาเซียนมีความคืบหน้าอีกขั้นในการบรรลุฉันทามติในการผลักดันการเจรจาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้

“ทุกฝ่ายเห็นพ้องในการเพิ่มความถี่ในการเจรจาเกี่ยวกับสถานการณ์ทะเลจีนใต้โดยปราศจากการแทรกแซง (จากภายนอก) และการจัดทำร่างกรอบโครงแนวปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายในกลางปีหน้า

“ความคืบหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ขณะที่สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก ชาติอาเซียนและจีนตระหนักว่า เราต้องยึดกุมกุญแจไขปัญหาทะเลจีนใต้ไว้ในมือพวกเราเอง” หลิวกล่าวในการประชุมกับอาเซียนคราวนี้ ซึ่งเป็นการประชุมว่าด้วยแนวปฏิบัติสำหรับทะเลจีนใต้ครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้

นอกจากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ปักกิ่งยังมีปัญหาพิพาทกับญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก

ในวันพุธ (17) กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงว่า เคนจิ คานาสุงิ อธิบดีกรมกิจการเอเชีย-แปซิฟิก ได้โทรศัพท์ถึง กว๋อ เยี่ยน อัครราชทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตจีนในญี่ปุ่น เพื่อแจ้งว่าถึงแม้ญี่ปุ่นดำเนินการประท้วงอย่างแข็งกร้าวมาหลายครั้ง แต่ทางฝั่งจีนยังคงดำเนินการฝ่ายเดียวที่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ด้วยการส่งเรือยามฝั่งเข้ามาในน่านน้ำรอบๆ หมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของญี่ปุ่น แต่จีนโต้แย้งอ้างกรรมสิทธิ์ว่าเป็นของตน

คานาสุงิยังระบุว่า การรุกล้ำน่านน้ำเช่นนี้เป็นการละเมิดอธิปไตยของญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้โตเกียวยื่นประท้วงผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 32 ครั้งนับจากวันที่ 5 สิงหาคม ต่อกรณีที่มีเรือจีนรุกล้ำน่านน้ำญี่ปุ่นถึง 29 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่แดนอาทิตย์อุทัยระบุว่า เรือเหล่านั้นจะยอมล่าถอยออกไปหลังจากได้รับการเตือนจากหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เรือของสองชาติเล่นเกมแมวจับหนูในทะเลจีนตะวันออกกันเป็นประจำ แต่ญี่ปุ่นระบุว่า จู่ๆ เรือจีนก็โผล่รุกล้ำน่านน้ำถี่ยิบในเดือนนี้ โดยสื่อญี่ปุ่นคาดเดาว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกี่ยวข้องกับการประชุมลับประจำช่วงฤดูร้อนของบรรดาผู้นำระดับสูงของจีนในเมืองเป๋ยไห่ รีสอร์ทชายทะเลทางตะวันออกของปักกิ่ง

นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับการที่ญี่ปุ่นเพียรเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลกรุงเฮก และการที่สองประเทศขัดง้อกันเกี่ยวกับประเด็นทะเลจีนใต้ในการประชุมสุดยอดระดับภูมิภาค รวมทั้งการประชุมระดับสูงหลายครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น