เอเจนซีส์ - ตุรกีออกพระราชกฤษฎีกาที่เปิดทางให้มีการปล่อยตัวนักโทษ 38,000 ราย ซึ่งดูเหมือนจะทำไปเพื่อให้คุกมีที่ว่างพอสำหรับคุมขังคนจำนวนมากที่ถูกจับกุมเพราะมีส่วนในความพยายามก่อกบฏเมื่อเดือนที่แล้ว
พระราชกฤษฎีกานี้จะยอมให้มีการปล่อยตัวนักโทษที่ต้องโทษจำคุกนาน 2 ปีหรือต่ำกว่านั้น รวมถึงพวกที่ถูกคุมขังไปแล้วครึ่งหนึ่งของโทษที่ได้รับให้มีสิทธิ์ได้ทัณฑ์บน แต่จะไม่รวมพวกที่ต้องโทษฆาตกรรม ก่อเหตุรุนแรงในครอบครัว ล่วงละเมิดทางเพศ ก่อการร้าย และอาชญากรรมอื่นๆ ที่เป็นการต่อต้านรัฐ
มาตรการนี้จะไม่มีผลต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 1 กรกฎาคม
เบเกียร์ บอซแด็ก รัฐมนตรียุติธรรมตุรกี ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะนำไปสู่การปล่อยตัวนักโทษ 38,000 ราย พร้อมบอกด้วยว่านี่ไม่ใช่การอภัยโทษหรือนิรโทษ แต่เป็นการปล่อยตัวนักโทษแบบมีเงื่อนไข
รัฐบาลตุรกีระบุว่า ความพยายามก่อกบฏเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างน้อย 270 ราย ดำเนินการโดยกลุ่มคนที่แทรกซึมเข้าไปในกองทัพและหน่วยงานรัฐ นำขบวนโดย เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน ผู้พำนักอยู่ในอเมริกา ส่วนทางกูเลนก็ได้ออกมาปฏิเสธ โดยบอกว่าไม่รู้เรื่องและไม่เกี่ยวข้อง แต่ถึงกระนั้นตุรกีก็ยังคงเรียกร้องให้อเมริกาส่งตัวกูเลนกลับตุรกี
รัฐบาลตุรกีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและเริ่มปราบปรามครั้งใหญ่ต่อบรรดาผู้สนับสนุนของกูเลนหลังเกิดการก่อกบฏ โดยมีผู้คนประมาณ 35,000 รายที่ถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำ กับอีกกว่า 17,000 รายที่ถูกนำตัวขึ้นศาล เช่น ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา นักข่าว ฯลฯ
ยังมีคนอีกนับหมื่นที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกูเลน ถูกพักงานหรือไล่ออกจากตำแหน่งในระบบยุติธรรม สื่อ การศึกษา สาธารณสุข กองทัพ รวมถึงฝ่ายบริหารท้องถิ่น
การปราบปรามของตุรกีทำให้ชาติยุโรปและกลุ่มสิทธิมนุษยชนมีความกังวลเพิ่มมากขึ้น จนมีการเรียกร้องให้รัฐบาลตุรกียั้งมือบ้าง