MGR Online - ปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ พ.ร.ฎ. พระราชทานอภัยโทษ ปรับหลักเกณฑ์ผู้ต้องขังชั้นดี - ดีมาก - ดีเยี่ยม ให้เรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง ต้องเสนอรายชื่อผู้ต้องขังมีคุณสมบัติตามเกณฑ์เข้ารับอภัยโทษการพิจารณาปล่อยตัว ภายใน 120 วัน ก่อนให้ศาลพิจารณาเพื่อดำเนินการปล่อยตัว เว้นคดีข่มขืน - ก่อการร้าย
วันนี้ (9 ส.ค.) เวลา 13.00 น. กระทรวงยุติธรรม นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยหลัง เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ 2559 มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ ๗๐ ปี ๙ มิ.ย. ๒๕๕๙ และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ ส.ค. ๒๕๕๙ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ผู้ต้องโทษมีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี ว่า พ.ร.ฎ. อภัยโทษ ฉบับนี้ มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายระบุไว้ว่า ภายใน 120 วัน ให้แต่ละเรือนจำทั่วประเทศต้องคัดกรองตรวจสอบรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการอภัยโทษเสนอต่อศาลในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้ศาลพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเพื่อดำเนินการออกหมายปล่อยตัว
นายชาญเชาวน์ กล่าวอีกว่า โดยเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง จะต้องคณะกรรมการขึ้นมาก่อน และมีการประชุมร่วมกันพิจารณาคัดรายชื่อออกมา พร้อมส่งรายชื่อไปให้ศาลแต่ละจังหวัดรวจสอบอีกครั้ง ดังนั้น จึงไม่มีปรากฏการณ์ปล่อยตัวนักโทษออกมาเป็นหมื่น ๆ ราย พร้อมกัน รวมทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่า มีผู้ต้องขังที่จะได้รับการอภัยโทษถูกปล่อยตัวจำนวนเท่าใด เนื่องจากเนื้อหาใน พ.ร.ฎ. ดังกล่าวแบ่งการอภัยโทษออกเป็นหลายประเภท อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ผู้ต้องขังที่ได้รับการอภัยโทษในครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ในชั้นดี ชั้นดีมาก และ ชั้นเยี่ยม ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ จะไม่มีพิธีการปล่อยตัวผู้ต้องขังแต่อย่างใด
นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในปีนี้ คือ 1. เน้นความประพฤติเป็นหลัก ซึ่งต้องเป็นผู้ต้องขังชั้นดี ชั้นดีมาก และ ชั้นเยี่ยม 2. โทษฐานความผิดฐานละเมิดทางเพศ ผู้ต้องขังจะไม่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ อีกทั้งฐานความผิดก่อการร้าย ฐานต่อชีวิตและร่างกาย เช่น การฆ่า ฯลฯ โดยต้องดูเงื่อนไขอื่นอีกมากมาย แม้จะเป็นความผิดเหล่านี้ หากรับโทษมาพอสมควรก็สามารถเข้าหลักเกณฑ์ได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เงื่อนไขในปีนี้มีความยากขึ้น บวกกับสถานการณ์ที่ผู้ต้องขังกลับมาก่อเหตุซ้ำอีก จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ
“สัดส่วนการลดโทษของ พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ บางฐานความผิดจะได้น้อยลง เช่น ฐานความผิดในคดียาเสพติด เกี่ยวกับการผลิตยาเสพติด ก็ต้องดูว่าศาลมีคำพิพากษาตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป ซึ่งจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษน้อยลง นอกจากนี้ เงื่อนไขอีกประเด็นคือ หากผู้ต้องขังคนใดกลับมากระทำผิดซ้ำอีก เราก็ให้อภัยโทษน้อยลง และบางข้อหาอาจจะไม่ได้เลย” นายชาญเชาวน์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับบัญชีลักษณะความผิดแนบท้าย พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษเลย เป็นความผิดตามกฎหมาย 9 ฉบับ คือ 1. กฎหมายอาญา ความผิดก่อการร้าย ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน (อั้งยี่ ซ่องโจร) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายแก่ประชาชน ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง (คดีพรากผู้เยาว์ จับตัวเรียกค่าไถ่) และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ (กรรโชกทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์)
2. ความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน 3. ความผิดว่าด้วยกฎหมายป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ และ อุทยานแห่งชาติ 4. ความผิดเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 5. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือฮั้วประมูล 6. ความผิดว่าด้วยกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่
7. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกฉ้อโกง ประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือกระทำทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน หลักทรัพย์ และ ตลาดหลักทรัพย์ 8. ความผิดของพนกงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และ 9. ความผิดเกี่ยวกับกฎหมายศุลกากร