เอเอฟพี - อัยการตุรกีเสนอให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 2 ครั้ง และบวกเพิ่มอีก 1,900 ปี นายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งถูกอังการากล่าวโทษว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อเดือนที่แล้ว สื่อมวลชนแห่งรัฐรายงานในวันอังคาร (16 ส.ค.)
สำนักข่าวอนาโดลู รายงานว่าในเอกสารคำฟ้อง 2,527 หน้าที่เห็นชอบโดยอัยการในจังหวัดอุซัก ทางภาคใต้ของตุรกี นายกูเลนถูกแจ้งข้อหาพยายามใช้กำลังทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ จัดตั้งและควบคุมกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธ เช่นเดียวกับข้อหาอื่นๆ
ผู้ต้องสงสัย 13 จากทั้งหมด 111 คนของคดีนี้ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัว โดยทั้งหมดต้องเผชิญกับโทษจำคุกไล่ตั้งแต่ 2 ปีไปจนถึงตลอดชีวิต
คำฟ้องระบุว่า องค์การก่อการร้ายเฟตฮุลเลาะห์ (FETO) ชื่อที่อังการาใช้เรียกกลุ่มของนายกูเลน ได้แทรกซึมเข้าสู่สถานที่เก็บเอกสารสำคัญของรัฐผ่านสมาชิกของพวกเขาตามสถาบันต่างๆ ของรัฐและหน่วยข่าวกรองต่างๆ
คนกลุ่มนี้ ใช้มูลนิธิ โรงเรียนเอกชน บริษัท หอพักนักศึกษา สื่อมวลชนหลักและบริษัทประกัน ในจุดประสงค์เข้าควบคุมสถาบันรัฐทุกแห่ง เอกสารคำฟ้องเผย
อนาโดลู อ้างคำฟ้องยังระบุด้วยว่าองค์กรของนายกูเลน ระดมทุนจากเหล่านักธุรกิจในนามของเงินบริจาค และโอนเงินเหล่านั้นไปยังสหรัฐฯ โดยบริษัทหลายแห่งที่ตั้งเป็นฉากบังหน้า ผ่านธนาคารต่างๆในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, แอฟริกาใต้, ตูนิเซีย, จอร์แดน และเยอรมนี
คดีนี้เกิดขึ้นย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 หรือก่อนความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลว ซึ่งสำนักงานอัยการอุซัก ได้เข้าดำเนินการตรวจสอบสินทรัพย์ทางการเงินของ FETO
กูเลน นักการศาสนาคนดังของตุรกี ที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 199 ถูกกล่าวหาดำเนินรัฐคู่ขนานมาตั้งแต่มีเรื่องคอร์รัปชันอื้อฉาวห้อมล้อมประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน และเหล่าคณะรัฐมนตรี เมื่อครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2013
นับตั้งแต่ความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม มีเกือบ 18,000 คนที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในการปราบปรามขนานใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นคนในกองทัพ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหมื่นคนที่ถูกพักงานหรือไล่ออกจากหน้าที่การงานด้านศาลยุติธรรม สื่อมวลชน แวดวงการศึกษา สาธารณสุข ทหาร และรัฐบาลท้องถิ่น
ตุรกีกดดันสหรัฐฯ ให้ส่งตัวนายกูเลน ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในบ้านเกิด และแสดงความผิดหวังที่ดูเหมือนวอชิงตันจะไม่เร่งรีบพิจารณาประเด็นนี้ ขณะที่นายกูเลน ซึ่งพำนักอยู่ในเพนซิลเวเนีย ปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับความพยายามยึดอำนาจ