เอเอฟพี - กลุ่มต่อต้านยาเสพติดและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ กว่า 300 แห่งจากทั่วโลกในวันอังคาร (2 ส.ค.) เรียกร้องสหประชาชาติประณาม “สงครามยาเสพติด” ของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ที่เข่นฆ่าชีวิตผู้คนไปแล้วหลายร้อยศพ
หนังสือร้องเรียนที่ส่งตรงถึงคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) มีขึ้นในขณะที่ ส.ว.ทรงอิทธิพลรายหนึ่งของฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ดำเนินการสืบสวนเหตุสังหารพวกผู้ต้องสงสัยเร่ขายยาเสพติดที่นายดูเตอร์เตให้การรับรอง
วุฒิสมาชิก เลลา เดอ ลิมา และเหล่าองค์กรต่างประเทษ อ้างรายงานข่าวต่างๆ เกี่ยวกับผู้คนหลายร้อยรายที่ถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรมนับตั้งแต่นายดูเตอร์เตได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤษภาคมจากการประกาศทำสงครามนองเลือดกับยาเสพติด
“แทนที่จะให้คำรับประกันป้องกันสิทธิของผู้ที่ใช้ยา ประธานาธิบดีดูเตอร์เตกลับเรียกร้องให้ฆ่าพวกเขา” ถ้อยแถลงจากกลุ่มต่างๆ อย่างเช่นมูลนิธิยาเสพติดแห่งออสเตรเลียและพันธมิตรนโยบายด้านยาเสพติดแห่งแคนาดาระบุ “แทนที่จะรับประกันสิทธิของผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประธานาธิบดีกลับเรียกร้องให้ลงทัณฑ์พวกเขา ณ จุดเกิดเหตุเลย”
ถ้อยแถลงได้เรียกร้องคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ให้ประณามการวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าวและเรียกร้องให้ยุติการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนนี้
เดอ ลิมา พูดถึงเรื่องนี้ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งต่างก็ประณามการเข่นฆ่าผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดเช่นกัน “เราไม่อาจทำสงครามต่อต้านยาเสพติดด้วยเลือด มันจะเป็นแค่การเปลี่ยนการติดยากับรูปแบบการเสพติดอีกอย่างที่เป็นอันตรายกว่าเดิม และบังคับให้เข่นฆ่ามากขึ้น” วุฒิสมาชิกลิมากล่าว
ลิมา ซึ่งเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรียุติธรรมและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของประเทศ ระบุต่อว่า ตำรวจฆ่าตัดตอนแม้กระทั่งผู้บริสุทธิ์ โดยใช้การทำสงครามต่อต้านยาเสพติดเป็นข้ออ้าง
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 30 มิถุนายน นายดูเตอร์เตให้สัญญาปกป้องตำรวจและทหารจากบทลงโทษเข่นฆ่าอาชญากร หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้ประชาชนทั่วไปและกบฏคอมมิวนิสต์เข้าร่วมในศึกนองเลือดนี้
ในขณะที่นโยบายนี้ของเขาเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในฟิลิปปินส์ แต่ก็มีกลุ่มต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มออกมาประณามนายดูเตอร์เต โดยในส่วนของ เดอ ลิมา เรียกร้องให้รัฐสภาเข้าสืบสวนเหตุสังหารผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีบอกปัดความกังวลของพวกนักสิทธิมนุษย์ และตำรวจยืนกรานว่าพวกเขาลงมือเพียงเพราะป้องกันตัวท่านั้น
ในเดือนมิถุนายน นายบัน คี-มูน เลขาธิการแห่งสหประชาชาติ ประณามท่าทีของนายดูเตอร์เตที่สนับสนุนการฆ่าโดยศาลเตี้ย
ข้อมูลของตำรวจที่เผยแพร่ในวันอังคาร (2 ส.ค.) พบว่ามีผู้ต้องสงสัยยาเสพติด 402 คนถูกสังหารในช่วงเวลา 1 เดือนที่นายดูเตอร์เตเข้ารับตำแหน่ง และตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมพวกที่ถูกฆ่าโดยกลุ่มคนที่ตั้งตนเป็นศาลเตี้ย
ด้านสถานีโทรทัศน์เอบีเอส-ซีบีเอ็น รายงานว่ามีผู้คนถูกสังหารไปแล้ว 603 ศพนับตั้งแต่ที่นายดูเตอร์เตเข้ารับตำแหน่ง โดยในนั้นมี 211 รายที่ถูกฆาตกรรมโดยกลุ่มมือปืนไม่ทราบตัวตน