เอเจนซีส์ - ที่ปรึกษาเผย ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ “โรดริโก ดูเตอร์เต” ได้ตกลงที่จะให้มีการกลับมาเจรจาสันติภาพกับพวกกบฏลัทธิเหมาในกรุงออสโล ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังจากการเจรจาได้ชะงักไปตั้งแต่ 4 ปีก่อน
ฟิลิปปินส์ได้เริ่มเจรจากับพวกกบฏคอมมิวนิสต์ “แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ” ในปี 1986 เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบที่มีมายาวนาน คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 40,000 ราย และทำให้การเติบโตของฟิลิปปินส์ต้องชะงักตลอดช่วงเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา
จีซัส ดูเรซา ที่ปรึกษาด้านสันติภาพของดูเตอร์เต ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในนอร์เวย์ กับพวกผู้นำกบฏที่หนีออกนอกประเทศ
“เราจะเสนอแนะให้มีการปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด เมื่อดูเตอร์เตรับตำแหน่งประธานาธิบดี แล้วทั้งสองฝ่ายจะทำให้เกิดช่วงเวลาการหยุดยิง เพื่อเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม ที่ออสโล” ดูเรซา ระบุ
ดูเตอร์เต มีกำหนดรับตำแหน่งในวันที่ 30 มิถุนายน อดีตพ่อเมืองดาเวารายนี้ คือ ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากภาคใต้ของฟิลิปปินส์ อันเป็นบริเวณที่มีการสู้รบกับพวกกบฏมาตั้งแต่ปลายยุคปี 1960
ดูเรซา บอกว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมองในแง่ดีว่าการเจรจาจะสำเร็จลุล่วง หลังจากที่ดูเตอร์เตได้ตกลงที่จะแต่งตั้งพวกฝ่ายซ้าย 2 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกกบฏให้เป็นรัฐมนตรี พร้อมสัญญาว่าจะมีที่ว่างให้อีก 2 ตำแหน่ง
ด้านกบฏคอมมิวนิสต์กลุ่มดังกล่าว ยังไม่มีการแสดงความเห็น
นอร์เวย์เป็นคนกลาง สำหรับการเจรจาสันติภาพที่ชะงักตั้งแต่ 4 ปีก่อน ตอนประธานาธิบดี เบนีโญ อากีโน ไม่ยอมปล่อยนักโทษการเมือง รวมถึงทีมเจรจาของฝ่ายกบฏที่ถูกจับกุม
เรนาโต เรเยส เลขาธิการใหญ่ของกลุ่มซ้ายจัด “บายัน” ได้ระบุว่า กลุ่มของเขาหวังว่าดูเตอร์เตจะอนุมัติให้มีการปล่อยนักโทษที่ป่วยและแก่ชราตามหลักมนุษยธรรม
ทุกวันนี้มีนักโทษการเมืองถูกควบคุมตัวอยู่มากกว่า 500 ราย รวมถึงสมาชิก 19 รายจากทีมเจรจาของฝ่ายกบฏ
ดูเตอร์เต ให้สัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี ว่า จะยุติความไม่สงบทั้งหมดในฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึงการสู้รบที่รุนแรงกับพวกกบฏมุสลิมที่หนักหนากว่าพวกลัทธิเหมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 120,000 ราย และทำให้คนกว่า 2 ล้านต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นตลอดช่วง 47 ปีที่ผ่านมา
ดูเรซา บอกว่า การกลับมาเริ่มเจรจาสันติภาพจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อดูเตอร์เตรับตำแหน่ง โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะยึดถือข้อตกลงที่เคยทำไว้แล้ว และจะหารือเรื่องการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ