xs
xsm
sm
md
lg

สื่อยักษ์ใหญ่จีนเรียกร้อง “กองทัพอันเกรียงไกรของสี จิ้นผิง” โจมตีเรือออสเตรเลียทุกลำทีล้ำเข้าทะเลจีนใต้ แถมบอกแคนเบอร์รา “เป็นเสือกระดาษยังทำไม่ได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แสนยานุภาพของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน
เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - หนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์ส กระบอกเสียงปักกิ่ง ออกมาเรียกร้องให้กองทัพจีนแสดงแสนยานุภาพโดยการใช้กำลังทางทหารเข้าโจมตีเรือสัญชาติออสเตรเลียทุกลำที่ผ่านเข้าทะเลจีนใต้ หลังจากไม่สบอารมณ์ในจุดยืนแคนเบอร์ราต่อคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในปัญหาพื้นที่พิพาท พร้อมยังชี้ต่อว่าแคนเบอร์ราไม่สามารถเป็นเสือกระดาษ เป็นได้แค่อย่างมากสุดแค่ “แมวเหมียวกระดาษโอริกามิเท่านั้น”

บิสิเนสอินไซเดอร์ สื่อธุรกิจอังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (1 ส.ค.) ว่า ปฏิกริยาความไม่พอใจในจุดยืนของออสเตรเลียที่มีต่อการสนับสนุนในคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮกวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ประกาศคำตัดสินคดีว่าจีนไม่สามารถอ้างสิทธิตามประวัติศาสตร์ว่าเป็นเจ้าของทรัพยากรต่างๆ ภายในน่านน้ำแทบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ นอกจากนั้นปักกิ่งยังได้ละเมิดสิทธิอธิปไตยของฟิลิปปินส์จากความประพฤติการปฏิบัติต่างๆ ในบริเวณดังกล่าว ผ่านการแสดงความเห็นในหน้าความเห็น Op-ed ของหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์ส ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม ภาคภาษาอังกฤษ โดยใช้หัวข้อชื่อเรื่อง “‘Paper cat’ Australia will learn its lesson” หรือ “แมวกระดาษ” ออสเตรเลียจะต้องได้รับบทเรียน โดยทางสื่อกระบอกเสียงปักกิ่งออกมาเรียกร้องให้ปักกิ่งแสดงแสนยานุภาพทางทหารจีนต่อเรือสัญชาติออสเตรเลียที่ใช้สิทธิ “เสรีภาพของการเดินทางน้ำ” หรือ “freedom-of-navigation” ที่ได้ผ่านเข้าไปภายในเขตทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ ในบทความเห็นจากบรรณาธิการของโกลบัล ไทม์ส ที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ยังสบประมาทออสเตรเลียต่อ ด้วยการกล่าวว่า “แม้กระทั่งความเป็นเสือกระดาษ แคนเบอร์รายังไม่สามารถเป็นได้ สิ่งที่เป็นได้มากที่สุดคือ แมวเหมียวกระดาษเท่านั้น” และยังชี้ต่อถึงความเป็นเจ้าหลักการที่ทางแคนเบอร์ราใช้อ้าง ในการประกาศจุดยืนต่อปัญหาพื้นที่ขัดแย้ง ที่ทางสื่อจีนชี้ว่า เพื่อต้องการประจบเอาใจวอชิงตัน แต่แท้จริงแล้วสิ่งที่แสดงออกมานั้นอาจถูกเรียกได้ว่า “เป็นการแสดงความภักดีอย่างถึงที่สุด” สื่อธุรกิจอังกฤษรายงานต่อ

และทำให้บท Op-ed ของหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์สได้ประกาศข้อเรียกร้องไปยังกองทัพประชาชนจีนว่า “จีนต้องทำการแก้แค้น เพื่อให้รับรู้ว่าสิ่งที่กระทำอยู่นั้นอยู่ในหนทางที่ผิดพลาด แสนยานุภาพทางการทหารของออสเตรเลียนั้นไม่อาจเทียบได้กับความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของกองทัพประชาชนจีน และเมื่อใดก็ตามที่ทางออสเตรเลียได้เหยียบย่างเข้าสู่เขตทะเลจีนใต้ ทางกองทัพจีนจะได้เป้าเคลื่อนที่ชั้นดีในการส่งคำเตือน และโจมตี” รายงานจากบทความเห็นของบรรณาธิการสื่อ โกลบัล ไทม์ส

ทั้งนี้ ในต้นปีนี้ผู้บัญชาการกองเรือรบที่ 7 แห่งสหรัฐฯ พล.ร.ท.โจเซฟ พี ออคอยน์ (Joseph P Aucoin) ได้ออกมาให้ความเห็นว่าจะถือเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับภูมิภาคหากว่า ทางออสเตรเลียจะส่งกองเรือรบมาลาดตระเวนภายในเขต 12 ไมล์ของเขตพิพาททางทะเล แต่ทว่ามาจนถึงเวลานี้ ทางแคนเบอร์รายังไม่ตัดสินใจส่งเรือมาตามคำขอของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ โกลบัล ไทม์สยังวิจารณ์ต่อว่า เมื่อมองไปถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งระหว่างออสเตรเลียและจีนแล้ว พบว่าจีนถือเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย และทำให้การออกมาประกาศจุดยืนของแคนเบอร์ราต่อการชี้ขาดในปัญหาเขตพิพาททางทะเล ทำให้มีคนจำนวนมากต้องเหลือบมามองด้วยความแปลกใจ ซึ่งหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของจีนฉบับนี้ชี้ว่า ปฏิกิริยาของแคนเบอร์รานั้นเรียกได้ว่า “ไร้เหตุผล” พร้อมชี้ต่อว่า “ออสเตรเลียเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งที่น่าอัปยศ ด้วยการเป็นที่ตั้งของเรือนจำขนาดใหญ่นอกชายฝั่งอังกฤษ ผ่านกระบวนการที่ป่าเถื่อน และคราบน้ำตาของชนเผ่าพื้นเมืองอะบอริจินทั้งหลาย”

บิสิเนสอินไซเดอร์ยังรายงานเพิ่มเติมต่อว่า และในบท Op-ed ของหนังสือพิมพ์โกลบัล ไทม์ส ยังได้เปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของการอ้างสิทธิเข้าครอบครองของแอนตาร์กติก โดยทางสื่อจีนได้อ้างว่า การประกาศอ้างสิทธิของแคนเบอร์ราต่อดินแดนที่หนาวเหน็บเช่นนี้แสดงให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของแคนเบอร์ราว่าเป็นพวก “สองมาตรฐาน” ที่ทำราวกับว่า ไม่มีใครในโลกนี้มีความทรงจำในสิ่งที่แคนเบอร์ราได้ก่อไว้ในอดีต และได้กล่าวถึงเกี่ยวกับแอนตาร์กติก

“ไม่มีใครคาดคิด ออสเตรเลียกลับตั้งตัวเป็นเสมือนผู้นำในการจ้องทำลายผลประโยชน์ของจีนด้วยความมุ่งมาดอย่างสุดแรง มากยิ่งไปกว่าตัวของประเทศคู่ขัดแย้งโดยตรงที่มีความเกี่ยวพันในพันธกรณีทะเลจีนใต้เสียอีก” โกลบัลไทม์สกล่าว และให้ความเห็นในตอนท้ายว่า “แต่ทว่าแมวกระดาษตัวนี้ก็ย่อมเป็นแค่กระดาษวันยังค่ำที่ไม่สามารถคงอยู่ได้นาน”

ภาพการฝึกซ้อมกองเรือรบออสเตรเลียในทะเลจีนใต้ในปีที่ผ่านมา
บทความความเห็นจากบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส ฉบับวันที่ 30 ก.ค 2016

กำลังโหลดความคิดเห็น