เอเอฟพี - ผู้บัญชาการระดับสูงรายหนึ่ง และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ยืนยันเมื่อวานนี้ (29) ว่า สหรัฐฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามรัฐประหารในตุรกี ตอกย้ำความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างพันธมิตรทั้งสอง
สหรัฐฯ และตุรกี หุ้นส่วนเก่าแก่ในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่ร่วมมือกันต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรีย และอิรัก อดทนกับความตึงเครียดรุนแรงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ซึ่งถูกทำให้แย่ลงกว่าเดิมด้วยการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคม
ผู้บัญชาการของกองทัพสหรัฐฯในตะวันออกกลาง พล.อ.โจเซฟ โวเตล ออกถ้อยแถลงเมื่อวานนี้ (29) ยืนกรานว่า เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามรัฐประหารในตุรกี ความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติจากหนึ่งในผู้นำทางทหารยศสูงสุดของสหรัฐฯ
“รายงานใด ๆ ก็ตามที่ว่าผมมีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในตุรกีเป็นความโชคร้ายและไม่จริงอย่างสิ้นเชิง” โวเตล กล่าว
“ตุรกีเป็นหุ้นส่วนที่พิเศษและสำคัญในภูมิภาคนี้มานานหลายปี เราซาบซึ้งกับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของตุรกี และคาดหวังกับความเป็นหุ้นส่วนในอนาคตของเราในการสู้รบต่อต้านกลุ่มไอซิส” นายพลรายนี้กล่าว โดยอ้างถึงกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส)
ความคิดเห็นของโวเตล มีออกมาหลังจากที่ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน เชื่อมโยงเขากับความพยายามรัฐประหารโดยตรงในวันเดียวกัน
รัฐบาลของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็ถูกสงสัยด้วยเช่นกัน โดยโฆษกทำเนียบขาว เอริค ชูลต์ซพูดถึงข้อกล่าวหาของแอร์โดอัน ว่า “มันไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง” และระบุต่อว่า โอบามามองแอร์โดอันเป็น “พันธมิตรที่ใกล้ชิด”
“เราทำงานร่วมกันในหลาย ๆ ประเด็นระหว่างประเทศที่ท่านประธานาธิบดีให้ความสำคัญ” รวมถึงการสู้รบกับกลุ่มไอเอส เขากล่าวเสริม
เมื่อวันศุกร์ (29) แอร์โดอันกล่าวหาโวเตล ว่า เข้าข้างผู้วางแผนการรัฐประหารของตุรกี หนึ่งวันหลังจากที่นายพลรายนี้แสดงความคิดเห็นว่า ความโกลาหลของประเทศนี้อาจทำให้ความร่วมมือทางทหารกับวอชิงตันลดระดับลง
“คุณกำลังเข้าข้างผู้วางแผนการรัฐประหารแทนที่จะขอบคุณรัฐแห่งนี้ที่เอาชนะความพยายามรัฐประหารได้” แอร์โดอัน กล่าวด้วยความโมโหที่ศูนย์ทหารแห่งหนึ่งในเมืองโกลบาซี ใกล้กรุงอังการา ซึ่งการโจมตีทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนในระหว่างการพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม
รายงานของสื่อสหรัฐฯ ระบุว่า โวเตล กล่าวว่า ความพยายามรัฐประหารดังกล่าว และการไล่จับกุมนายพลหลายสิบคน หลังจากนั้น อาจกระทบต่อความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับตุรกี
โดยเฉพาะอย่างอย่างจากการที่โวเตล บ่งชี้ว่า สหรัฐฯได้สูญเสียคู่สนทนาทางทหารชาวตุรกีที่สำคัญหลายคนซึ่งตอนนี้อยู่ในเรือนจำและถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร
เมื่อวันพฤหัสบดี (28) รัฐบาลตุรกีได้ทำการปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่หลังจากความพยายามรัฐประหารช่วงวันที่ 15 - 16 กรกฎาคม
รัฐบาลตุรกีปลดนายพลเกือบครึ่งหนึ่งและจับกุมเจ้าหน้าที่หลายร้อยราย โดยกล่าวหาพวกเขาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ เฟตุลเลาะห์ กูเลน นักการศสานาที่พำนักอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งอังการาโทษว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้
เมื่อวันศุกร์ (29) ทำเนียบขาวระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้รับเอกสารจากรัฐบาลตุรกีเรียกร้องให้ส่งตัวกูเลนจากเพนซิลเวเนียกลับประเทศ
“เรื่องนั้นกำลังถูกประเมินผ่านช่องทางที่เหมาะสม” ชูลต์ กล่าว เขาปฏิเสธที่จะระบุว่าสหรัฐฯจะตัดสินใจเรื่องนี้เมื่อใด
ตุรกีเป็นสมาชิกรายสำคัญของกลุ่มพันธมิตรปราบปรามกลุ่มไอเอสในซีเรียที่นำโดยสหรัฐฯ และฐานทัพอากาศอินซีร์ลิกในประเทศก็ถูกใช้เพื่อเป็นฐานปล่อยเครื่องบินไปโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มนี้