เอเจนซีส์ - จีนประสบชัยชนะทางการทูตอย่างชัดเจนในวันจันทร์ (25 ก.ค.) จากการใช้กัมพูชาเป็นตัวแทนขัดขวางไม่ให้อาเซียนพาดพิงถึงเรื่องศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮก ตัดสินคดีกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้ที่ให้ปักกิ่งเป็นฝ่ายแพ้ โดยปรากฏว่าแถลงการณ์ร่วมของเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งออกมาจนได้ในที่สุดภายหลังถกเถียงกันมาหลายรอบนั้น ไม่ได้มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้
หลังเจรจากันมาหลายรอบ ในที่สุดเมื่อวันจันทร์ (25) เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนทั้ง 10 ก็ออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งระบุเพียงว่า ยังคงกังวลอย่างมากกับพัฒนาการในทะเลจีนใต้ทั้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด โดยไม่ได้พาดพิงถึงจีนแต่อย่างใด และที่สำคัญที่สุดคือไม่ได้อ้างอิงถึงคำตัดสินเมื่อต้นเดือนนี้ของคณะอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในคดีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องร้องจีน ซึ่งคณะตุลาการได้บอกปัดไม่ยอมรับข้ออ้างสำคัญที่ปักกิ่งใช้เป็นเหตุผลเข้าครอบครองพื้นที่จำนวนมากในทะเลจีนใต้
จีนนั้นไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว โดยระบุตั้งแต่ต้นแล้วว่าศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้ไม่มีอำนาจตัดสินข้อพิพาททวิภาคี แต่จีนต้องการเจรจาโดยตรงกับฟิลิปปินส์ พร้อมกันนั้นก็ประณาม “ประเทศนอกภูมิภาค” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหมายถึงสหรัฐฯ ว่าพยายามเข้ามาแทรกแซงยุยงสร้างความวุ่นวาย
“ศาลอนุญาโตตุลาการจ่ายยาผิด และดูเหมือนว่า บางประเทศนอกภูมิภาคจัดฉากทั้งหมดเพื่อให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น” หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวเป็นนัยพาดพิงถึงอเมริกาอีกครั้ง ระหว่างการแถลงข่าวภายหลังหารือนาน 90 นาทีกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันจันทร์ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคช่วยผ่อนคลายสถานการณ์
ปักกิ่งสามารถผลักดันให้อาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมซึ่งมีเนื้อหาไม่ขัดแย้งกับจุดยืนของตนคราวนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือของกัมพูชา ตลอดจนจากลาวในบางระดับ เนื่องจากตามหลักการของอาเซียนนั้น การตัดสินใจในเรื่องใดๆ จะต้องอยู่ในรูปฉันทามติ ดังนั้น หากมีรัฐสมาชิกหนึ่งใดคัดค้าน ก็เท่ากับการใช้อำนาจยับยั้ง และมีรายงานตั้งแต่คืนวันเสาร์ (23) ด้วยซ้ำว่า กัมพูชาขัดขวางเด็ดเดี่ยวไม่ให้แถลงการณ์ร่วมคราวนี้พูดถึงคำตัดสินของศาลกรุงเฮก
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในที่สุดฟิลิปปินส์ยอมประนีประนอม โดยตัดการอ้างอิงถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการออกไป เพื่อไม่ให้เกิดสภาพที่ออกแถลงการณ์ร่วมกันไม่ได้
“เรายืนยันความสำคัญในการรักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ และเรายืนยันความจำเป็นในการส่งเสริมความไว้วางใจและความเชื่อมั่นระหว่างกัน ใช้ความอดกลั้นในการดำเนินการณ์ที่อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น” แถลงการณ์อาเซียนระบุ
อาเซียนเคยออกแถลงการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการประชุมสุดยอดกับอเมริกาที่แคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์โดยเฉพาะจากสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ ว่า อาเซียนกลายเป็นองค์การที่ปราศจากเขี้ยวเล็บ
เอียน วอร์ด นักวิชาการอาวุโสของสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษาในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้การที่อาเซียนไม่กล่าวถึงการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการจะไม่ส่งผลต่อการดำเนินการตามคำวินิจฉัย เนื่องจากจีนเองประกาศอยู่แล้วว่าไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว แต่ก็ถือเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า อาเซียนไม่สามารถแสดงจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งยังแสดงทักษะของจีนในการใช้กัมพูชาเป็นตัวแทนเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของตัวเอง
เมื่อวันอาทิตย์ (24) รัฐมนตรีหวัง ยังได้ย้ำจุดยืนของปักกิ่งว่า จะยอมรับการเจรจาแบบทวิภาคีกับฟิลิปปินส์เท่านั้น มิหนำซ้ำเมื่อหลายวันก่อน กองทัพจีนยังซ้อมรบในทะเลจีนใต้ พร้อมประกาศว่าจะเริ่มการตรวจการณ์ทางอากาศเหนือบริเวณดังกล่าว รวมทั้งจะเดินหน้าการก่อสร้างบนเกาะเทียมต่อไป
ขณะเดียวกัน ในวันจันทร์ ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เดินทางไปยังปักกิ่ง และได้เจรจากับ หยาง เจียฉือ มนตรีแห่งรัฐ โดยมีการออกคำแถลงภายหลังการหารือว่า สองประเทศจำเป็นต้องพยายามร่วมกันเพื่อรับประกันความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคงระหว่างกัน และยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นต่างกันหลายเรื่องซึ่งจำเป็นต้องจัดการอย่างรอบคอบ
นอกจากนั้น จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เดินทางไปถึงกรุงเวียงจันทร์ ในวันจันทร์แล้ว เพื่อร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก อีกทั้งคาดกันว่าเขาจะหารือประเด็นปัญหาทางทะเลระหว่างพบกับหวัง และในการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งเคร์รีจะเรียกร้องให้อาเซียนใช้วิธีทางการทูตเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในทะเลจีนใต้