เอพี/รอยเตอร์ - อาเซียนดูเหมือนประสบความล้มเหลวในการทำความตกลงกันเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ซึ่งเพิ่งมีคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกมาก่อนหน้านี้ ถึงแม้มีการประชุมหารือทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการรวมอย่างน้อย 3 รอบในวันอาทิตย์ (24 ก.ค.)
เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนหารือกันอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมงในการพบปะกันทั้ง 3 รอบ ซึ่งรวมถึงการพูดจากันระหว่างรับประทานอาหารกลางวันด้วย ทว่าก็ยังคงตกอยู่ในภาวะอับจนชะงักงัน โดยที่นักการทูตหลายรายบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า เนื่องมาจากกัมพูชาไม่ต้องการให้แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์จีน
“ช่างเป็นผู้จงรักภักดีจริงๆ ต่อประเทศใหญ่ที่ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว C” นักการทูตผู้หนึ่งซึ่งเข้าร่วมการพูดจาหารือแบบไม่ให้คนนอกเข้าฟังเหล่านี้ด้วย กล่าวกับเอพี โดยประเทศใหญ่ที่กล่าวถึงนั้นมุ่งหมายถึงจีน
ขณะที่ มัลคอล์ม คุก นักวิเคราะห์แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies) องค์กรคลังสมองของสิงคโปร์ ให้ความเห็นโจมตีกัมพูชาว่า พนมเปญกำลังทำให้อาเซียนกลายเป็นอัมพาต และกำลังสร้างความเสียหายต่อความสามัคคี, การผนึกเกาะเกี่ยวกัน, ความหมายความสำคัญ ตลอดจนชื่อเสียงของอาเซียน “มันทำให้อาเซียนกลายเป็นผู้ที่อยู่ตรงชายขอบ ไม่ใช่อยู่ตรงศูนย์กลางของประเด็นปัญหานี้” เขาบอก
คำแถลงต่อสื่อมวลชนที่มีเนื้อหาจืดชืดฉบับหนึ่ง ซึ่งออกมาภายหลังเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสิ้นสุดการเจรจาหารือในรอบแรกเมื่อวันอาทิตย์ กล่าวเพียงว่า รัฐมนตรีเหล่านี้มี “การแลกเปลี่ยนทัศนะที่ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ ... ตลอดจนพัฒนาการต่างๆ ในตะวันออกกลาง, คาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้”
หลังจากนั้นเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศก็หยุดพักเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนจะหารือกันอีกในแบบที่เรียกกันว่า “รีทรีต” (retreat) ซึ่งเป็นการพูดจากันเฉพาะในระหว่างรัฐมนตรีด้วยกันเองภายในบรรยากาศที่เป็นทางการน้อยลง ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาทำความตกลงอะไรคืบหน้าได้หรือไม่ แต่ก็มีรัฐมนตรีหลายรายซึ่งเดินออกมา และไม่ได้กล่าวอะไรกับพวกผู้สื่อข่าวที่เฝ้ารอกันอยู่ อีกทั้งไม่ได้มีการออกคำแถลงใดๆ
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนนั้นถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องมีการออกแถลงการณ์ร่วม ทว่าประเด็นที่กลายเป็นปัญหาติดขัดในคราวนี้ก็คือ จะพูดพาดพิงถึงเรื่องทะเลจีนใต้ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตัดสินเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ ซึ่งบอกปัดไม่รับฟังข้อกล่าวอ้างสำคัญที่จีนใช้ในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนจำนวนมากในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ปักกิ่งได้โต้แย้งตั้งแต่ต้นว่าศาลแห่งนี้ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ อีกทั้งปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินด้วย
หลักการข้อสำคัญที่สุดของอาเซียนคือการตัดสินใจใดๆ ก็ตามต้องเป็นฉันทามติ ซึ่งหมายความว่าชาติสมาชิกรายใดออกเสียงคัดค้านก็เท่ากับใช้อำนาจยับยั้งข้อเสนอนั้นๆ สำหรับคราวนี้ ผู้ที่ใช้อำนาจวีโต้เช่นนี้ได้แก่กัมพูชา พันธมิตรสนิทของจีน เอพีรายงาน
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ก็อ้างนักการทูตอาเซียนเช่นกันซึ่งเล่ารายละเอียดว่า ฟิลิปปินส์กับเวียดนามนั้นต่างต้องการให้แถลงการณ์ร่วมอ้างอิงถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก รวมทั้งย้ำถึงความเป็นจริงที่จะต้องเคารพปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศของ 2 ชาตินี้ได้หยิบยกคำตัดสินดังกล่าวขึ้นมาหารือกับเพื่อนรัฐมนตรีอื่นๆ ระหว่างการพูดคุยกันแบบปิดประตูไม่ให้คนนอกเข้าฟังในวันอาทิตย์ (24)
ทว่าก่อนจะเริ่มการประชุมในวันนี้ (24) กัมพูชา ผู้เป็นพันธมิตรอาเซียนซึ่งสนิทใกล้ชิดมากที่สุดกับจีน ได้พูดคัดค้านการอ้างถึงคำตัดสินดังกล่าว เป็นเหตุให้อาเซียนอยู่ในอาการปั่นป่วน ทั้งนี้ กัมพูชาสนับสนุนข้อคัดค้านของปักกิ่งที่ไม่ต้องการให้อาเซียนกำหนดจุดยืนร่วมในกรณีทะเลจีนใต้ ตลอดจนเห็นด้วยกับเรื่องที่ปักกิ่งเรียกร้องให้แก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันด้วยวิธีเจรจากันแบบทวิภาคีระหว่างจีนกับแต่ละชาติพิพาท
ถึงแม้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ประชุมกันในตอนดึกวันเสาร์ (23) เพื่อหาทางคลี่คลายประเด็นปัญหานี้ แต่ก็ไม่สามารถหาทางประนีประนอมกันได้
รอยเตอร์ชี้ว่า อาเซียนเวลานี้กำลังเผชิญกับโอกาสที่จะไม่สามารถออกคำแถลงภายหลังการหารือ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งที่ 2 ในรอบประวัติศาสตร์ 49 ปีของสมาคม โดยที่ในครั้งแรกซึ่งเกิดเมื่อปี 2012 ก็สืบเนื่องจากกัมพูชาต่อต้านภาษาถ้อยคำในประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้เช่นเดียวกัน
“พวกเราเคยอยู่ตรงนี้กันมาก่อนแล้ว และผมหวังว่าพวกเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้” เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งจากสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ที่อินโดนีเซีย กล่าวกับรอยเตอร์ “มันเป็นเรื่องเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซ้ำรอยการประชุมในปี 2012”
ขณะที่นักการทูตอาเซียนผู้หนึ่งระบุว่า ทางสมาคมให้เวลาตัวเองไปจนถึงวันอังคาร (26) เพื่อทำความตกลงกันและออกคำแถลง โดยที่ในช่วง 2 วันจากนี้ไปสมาชิกของอาเซียนจะพบปะหารือกับทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน และรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ
หวัง ผู้เริ่มพบปะเจรจาทวิภาคีกับบรรดาสมาชิกอาเซียนในวันอาทิตย์ (24) ไม่ได้พูดอะไรกับผู้สื่อข่าวตอนที่มาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ฟูมิโกะ คิชิดะ ก็จะเดินทางมาลาวเพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF) ในวันอังคาร (26) ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาจะพบปะหารือกับหวังหรือไม่ ทว่าจีนได้มีปฏิกิริยาขุ่นเคืองจากการที่คิชิดะพูดว่าเขาจะหยิบเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นหารือหากพวกเขาได้พบปะกัน
ในคำแถลงฉบับหนึ่งของ หลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งโพสต์ในเว็บไซต์ของกระทรวง ระบุว่าทะเลจีนใต้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับญี่ปุ่น “เราเรียกร้องญี่ปุ่นอย่าได้โหมประโคมเรื่องให้เอิกเกริก และวุ่นวายกับประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้” เขากล่าว “ญี่ปุ่นไม่ได้เป็นฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในทะเลจีนใต้ นอกจากนั้นเนื่องจากประวัติศาสตร์อันน่าอัปยศของญี่ปุ่น จึงทำให้ไม่มีหน้าจะมาแสดงความคิดเห็นอย่างไร้ความรับผิดชอบต่อจีน”