xs
xsm
sm
md
lg

โมร็อกโกขอกลับเข้าร่วมองค์การสหภาพแอฟริกันใหม่ หลังโบกมืออำลาไปนาน 32 ปี เพราะปัญหาพิพาท “ซาฮาราตะวันตก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กษัตริย์โมฮัมเหม็ด ที่ 6 แห่งโมร็อกโก (ขวามือ)   ขณะทรงหารือกับประธานาธิบดีปอล คากาเม แห่งรวันดา (ภาพจากเอพี)
เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการโมร็อกโก ร้องขออย่างเป็นทางการเพื่อขอกลับเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสหภาพแอฟริกัน (African Union : AU) ใหม่อีกครั้งหลังจากเลือกหันหลังให้กับองค์กรส่วนภูมิภาคแห่งนี้มานานถึง 32 ปี

รายงานข่าวระบุว่า คำร้องขออย่างเป็นทางการของโมร็อกโกได้ถูกตรงส่งถึงที่ประชุมสุดยอด (ซัมมิต) ของ 54 ผู้นำประเทศสมาชิกองค์การสหภาพแอฟริกัน ที่เพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อวันอังคาร (19 ก.ค.) ที่กรุงคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1984 รัฐบาลโมร็อกโกประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การเอกภาพแอฟริกัน (Organization for African Unity) หลังจากที่องค์กรความร่วมมือแห่งดังกล่าวที่ในเวลาต่อมาได้พัฒนากลายมาเป็นองค์การสหภาพแอฟริกัน (African Union : AU) ในปัจจุบันลงมติให้การรับรองดินแดนซาฮาราตะวันตก (Western Sahara) และอ้าแขนรับอดีตดินแดนในความปกครองของสเปนแห่งนี้เข้าเป็นสมาชิก ถึงแม้โมร็อกโกจะอ้างว่าดินแดนดังกล่าวมีสถานะเป็นจังหวัดหนึ่งของตน

ทั้งนี้ ทางการโมร็อกโกยังคงเผชิญหน้ากับการเคลื่อนไหวทั้งทางการเมือง การทูต และการทหารของกลุ่มแนวร่วม “โปลิซาริโอ” ที่เรียกร้องเอกราชให้กับดินแดนซาฮาราตะวันตกมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่โมร็อกโกส่งกำลังทหารเข้าผนวกดินแดนแห่งนี้เป็นของตนเองเมื่อปี 1975 ซึ่งตามมาด้วยสงครามที่เพิ่งสิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 1991

รายงานข่าวระบุว่า กษัตริย์โมฮัมเหม็ด ที่ 6 แห่งโมร็อกโกทรงออกโรงเรียกร้องด้วยพระองค์เองให้องค์การสหภาพแอฟริกัน (เอยู) พิจารณาคำขอรับโมร็อกโกกลับเข้าเป็นสมาชิกใหม่อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องมีการเพิกถอนสมาชิกภาพของดินแดนซาฮาราตะวันตกออกเสียก่อน โดยพระองค์ระบุว่าการรับดินแดนพิพาทนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรถือเป็น “ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์” ที่ชาติในแอฟริกาไม่สมควรแบกรับไว้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังคงไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากบรรดาผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมซัมมิตในเมืองหลวงของรวันดา ต่อท่าทีล่าสุดของโมร็อกโก

ทั้งนี้ หากรัฐบาลโมร็อกโกมีความประสงค์จะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การสหภาพแอฟริกันจริง ทางการโมร็อกโกก็จะต้องยินยอมลงนาม และให้สัตยาบันต่อธรรมนูญแม่บทของทางเอยูอย่างเป็นทางการเสียก่อน ตามมาด้วยการลงมติรับรองด้วยเสียงข้างมากจากที่ประชุมชาติสมาชิก

ก่อนหน้านี้รัฐบาลโมร็อกโกขอให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถอนเจ้าหน้าที่นานาชาติจำนวน 84 ราย ออกจากการปฏิบัติภารกิจในดินแดนพิพาท “ซาฮาราตะวันตก” ถือเป็นท่าทีแข็งกร้าวล่าสุดจากทางการโมร็อกโก หลังจากบัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็น ทำผิดมารยาททางการทูตครั้งใหญ่ด้วยการพูดหนุนเอกราชของซาฮาราตะวันตกผ่านสื่อ

สเตฟาน ดูยาร์ริช โฆษกองค์การสหประชาชาติ เผยเมื่อวันที่ 17 มี.ค.โดยระบุว่าทางการโมร็อกโกได้มอบรายชื่อของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นจำนวน 84 ราย ที่ต้องการให้เดินทางออกนอกประเทศของตนภายใน 3 วัน โดยที่ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของยูเอ็นโดยตรง 81 ราย ส่วนอีก 3 รายเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสหภาพแอฟริกา (African Union : AU)

โฆษกองค์การสหประชาชาติยอมรับว่า มาตรการล่าสุดของรัฐบาลโมร็อกโกจะส่งผลกระทบอย่างเลวร้าย ต่อภารกิจของยูเอ็นในดินแดนซาฮาราตะวันตกซึ่งรวมถึงภารกิจการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

ด้านซาลาเฮดดิน เมซูอาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของโมร็อกโก ออกโรงให้สัมภาษณ์ในเวลานั้นโดยระบุ พร้อมออกมาตรการตอบโต้สหประชาชาติเพิ่มเติม หลังจากที่บัน คีมูน ออกมาให้สัมภาษณ์ ในลักษณะที่หนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของดินแดนซาฮาราตะวัน ตก และระบุว่าดินแดนพิพาทดังกล่าวถูก “ยึดครอง” โดยโมร็อกโก

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประชาชนชาวโมร็อกโกจำนวนหลายแสนคนรวมตัวกันประท้วงเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ หลังแสดงท่าทีหนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของดินแดนซาฮาราตะวันตก (Western Sahara) ซึ่งทางการโมร็อกโกถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวโมร็อกโกต่างถือว่าดินแดนพิพาทดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของโมร็อกโกและเคยเป็นอาณานิคมของสเปนมาก่อนนั้นเป็นส่วน หนึ่งของโมร็อกโก ดังนั้น ถ้อยแถลงของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นที่ระบุว่าโมร็อกโกเป็นฝ่าย “ยึดครอง” ซาฮาราตะวันตกนั้นจึงกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่สร้างความไม่พอใจและความโกรธแค้นให้แก่ชาวโมร็อกโกเป็นจำนวนมาก

รายงานข่าวระบุว่า การรวมตัวประท้วงของชาวโมร็อกโกตามถนนสายต่างๆ ทั่วกรุงราบาตในวันที่ 13 มี.ค. มีผู้เข้าร่วมจำนวนหลายแสนราย ขณะที่ทางการโมร็อกโกอ้างว่าจำนวนประชาชนที่ออกมาแสดงพลังต่อต้านบันในครั้งนี้อาจมีจำนวนสูงถึง 3 ล้านราย

ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติ พยายามผลักดันให้เกิดการจัดลงประชามติใน ดินแดนซาฮาราตะวันตก เพื่อเปิดทางไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราช แต่ถูกขัดขวางจากรัฐบาลโมร็อกโกที่ยังคงยืนยันว่าซาฮาราตะวันตกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

ก่อนหน้านี้ทางการโมร็อกโกกล่าวหาบัน คีมูน ละเมิดต่อหลักความเป็นกลาง หลังเดินทางเยือนค่ายผู้อพยพชาวซาฮาราตะวันตก ทางภาคใต้ของแอลจีเรียเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม

ในระหว่างการเดินทางเยือนค่ายผู้อพยพชาวซาฮาราตะวันตก ทางภาคใต้ของแอลจีเรียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ บันได้กล่าวแสดงความห่วงใย และความคับข้องใจถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ภายในค่าย และยังเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นกระบวนการเจรจาสันติภาพขึ้นใหม่ในประเด็นของดินแดนซาฮาราตะวันตก ที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกเมื่อปี ค.ศ. 1975

รายงานข่าวระบุว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศของโมร็อกโกได้ออกคำแถลงวิพากษ์การเดินทางของ เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติว่าเป็นการไม่สมควร และเข้าข่ายละเมิดหลักความเป็นกลาง อีกทั้งยังเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของโมร็อกโก

ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย ยังคงมีจุดยืนร่วมกันว่าดินแดนซาฮาราตะวันตก “ถูกรุกรานโดยมิชอบ”จากโมร็อกโก และเรียกร้องให้รัฐบาลโมร็อกโกยอมเปิดทางให้ชนพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า ชาวซาห์ราวี สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในทางการเมืองได้อย่างอิสระซึ่งเป็นข้อเสนอที่รัฐบาลโมร็อกโกมิอาจยอมรับได้ ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมโปลิซาริโอซึ่งมีทั้งปีกการเมือง และปีกติดอาวุธได้โหมกระพือสร้างแรงกดดันในรูปแบบต่างๆ เพื่อปลดแอกดินแดนซาฮาราตะวันตกเป็นเอกราช


กำลังโหลดความคิดเห็น