เอเจนซีส์ / MGR online - อดีตนายกรัฐมนตรี เอวาริสโต คาร์วัลโญ เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกในสาธารณรัฐหมู่เกาะเซาโตเมและปรินซิเปที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (17 ก.ค.) ที่ผ่านมา โดยได้คะแนนเสียงร้อยละ 50.1
รายงานข่าวซึ่งอ้างคำแถลงในวันจันทร์ (18 ก.ค.) ของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของสาธารณรัฐหมู่เกาะเซาโตเมและปรินซิเป ระบุว่า อดีตนายกรัฐมนตรีคาร์วัลโญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากปาตริซ โตรโวอาดา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์(17) โดยได้คะแนนโหวต 34,629 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 50.1
ขณะที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่าง มานูเอล ปินโต ดา คอสตา ได้คะแนนโหวต 17,121 เสียง ตามมาห่างๆ ในอันดับที่ 2 ส่วนอันดับที่ 3 ตกเป็นของมาเรีย ดาส เนเวสที่ได้ 16,638 เสียง
คำแถลงของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติของสาธารณรัฐหมู่เกาะเซาโตเมและปรินซิเปยังระบุด้วยว่า มีผู้ออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (17) รวมทั้งสิ้น 111,222 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในอดีตดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกสแห่งนี้ ที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ของทวีปแอฟริกา รองจากสาธารณรัฐเซย์เชลล์ส
ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของคาร์วัลโญถูกมองว่าเป็นจุดจบของอนาคตทางการเมืองของประธานาธิบดี มานูเอล ปินโต ดา คอสตา วัย 78 ปี ที่หวังจะกลับเข้ามาครองอำนาจทางการเมืองต่ออีก 5 ปี
เป็นที่ทราบกันดีว่า ประธานาธิบดี มานูเอล ปินโต ดา คอสตา คือผู้นำคนแรกที่ได้ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศนี้นานถึง 15 ปีเต็มภายหลังจากได้รับเอกราชหลุดพ้นจากการปกครองของโปรตุเกสเมื่อปี ค.ศ. 1975 ก่อนที่เขาจะหันหลังให้กับการเมืองและเพิ่งหวนกลับมาลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วในปี 2011 ซึ่งทางดา คอสตา เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52 ในครั้งนั้น
ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐหมู่เกาะเซาโตเมและปรินซิเป ล่าสุดถูกจัดขึ้นภายใต้การสังเกตการณ์ของผู้แทนจำนวน 25 คนจากองค์การสหภาพแอฟริกัน (African Union : AU) โดยมีอดีตประธานาธิบดี อาร์มันโด เกบูซา แห่งโมซัมบิก ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์
ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า สาธารณรัฐหมู่เกาะเซาโตเมและปรินซิเปเป็นบ้านของประชากรราว 195,000 คน ซึ่ง 2 ใน 3 ของจำนวนนี้ยังมีคุณภาพชีวิตอยู่ต่ำกว่า “เส้นความยากจน” และว่าประเทศนี้ยังเป็นหนึ่งในดินแดนที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนานาชาติในสัดส่วนที่สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์