xs
xsm
sm
md
lg

โมร็อกโกเดินหน้าขับเจ้าหน้าที่ UN มากกว่า 80 ราย ตอบโต้ “บัน” หนุนเอกราชซาฮาราตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / MGR online - รัฐบาลโมร็อกโกขอให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถอนเจ้าหน้าที่นานาชาติจำนวน 84 รายออกจากการปฏิบัติภารกิจในดินแดนพิพาท “ซาฮาราตะวันตก” ถือเป็นท่าทีแข็งกร้าวล่าสุดจากทางการโมร็อกโก หลังจากบัน คี-มูน เลขาธิการยูเอ็นทำผิดมารยาททางการทูตครั้งใหญ่ ด้วยการพูดหนุนเอกราชของซาฮาราตะวันตกผ่านสื่อ

สเตฟาน ดูยาร์ริช โฆษกองค์การสหประชาชาติ เผยในวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) โดยระบุทางการโมร็อกโกได้มอบรายชื่อของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นจำนวน 84 รายที่ต้องการให้เดินทางออกนอกประเทศของตนภายใน 3 วัน โดยที่ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของยูเอ็นโดยตรง 81 ราย ส่วนอีก 3 รายเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสหภาพแอฟริกา (African Union : AU)

โฆษกองค์การสหประชาชาติยอมรับว่า มาตรการล่าสุดของรัฐบาลโมร็อกโกจะส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายต่อภารกิจของยูเอ็นในซาฮาราตะวันตก ซึ่งรวมถึงภารกิจการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

ด้านซาลาเฮดดิน เมซูอาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของโมร็อกโก ออกโรงให้สัมภาษณ์โดยระบุพร้อมออกมาตรการตอบโต้สหประชาชาติเพิ่มเติม หลังจากที่บัน คี-มูนให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่หนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของดินแดนซาฮาราตะวันตก และระบุว่าดินแดนพิพาทดังกล่าวถูก “ยึดครอง” โดยโมร็อกโก

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนชาวโมร็อกโกจำนวนหลายแสนคนรวมตัวกันประท้วงเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ หลังแสดงท่าทีหนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของดินแดนซาฮาราตะวันตก (Western Sahara) ซึ่งโมร็อกโกถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตน

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวโมร็อกโกต่างถือว่าดินแดนพิพาทดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของโมร็อกโกและเคยเป็นอาณานิคมของสเปนมาก่อนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโก ดังนั้น ถ้อยแถลงของเลขาธิการใหญ่ยูเอ็นที่ระบุว่าโมร็อกโกเป็นฝ่าย “ยึดครอง” ซาฮาราตะวันตกนั้นจึงกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่สร้างความไม่พอใจและความโกรธแค้นให้แก่ชาวโมร็อกโกเป็นจำนวนมาก

รายงานข่าวระบุว่า การรวมตัวประท้วงของชาวโมร็อกโกตามถนนสายต่างๆ ทั่วกรุงราบาตในวันอาทิตย์ (13 มี.ค.) มีผู้เข้าร่วมจำนวนหลายแสนราย ขณะที่ทางการโมร็อกโกอ้างว่าจำนวนประชาชนที่ออกมาแสดงพลังต่อต้านบันในครั้งนี้อาจมีจำนวนสูงถึง 3 ล้านราย

ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติพยายามผลักดันให้เกิดการจัดลงประชามติในดินแดนซาฮาราตะวันตก เพื่อเปิดทางไปสู่การแยกตัวเป็นเอกราช แต่ถูกขัดขวางจากรัฐบาลโมร็อกโกที่ยังคงยืนยันว่าซาฮาราตะวันตกเป็นดินแดนของตน

ก่อนหน้านี้ทางการโมร็อกโกกล่าวหาบันละเมิดต่อหลักความเป็นกลาง หลังเดินทางเยือนค่ายผู้อพยพชาวซาฮาราตะวันตก ทางภาคใต้ของแอลจีเรียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในระหว่างการเดินทางเยือนค่ายผู้อพยพชาวซาฮาราตะวันตกทางภาคใต้ของแอลจีเรียเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ บันได้กล่าวแสดงความห่วงใยและความคับข้องใจถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ภายในค่าย และยังเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นกระบวนการเจรจาสันติภาพขึ้นใหม่ในประเด็นของดินแดนซาฮาราตะวันตก ที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกเมื่อปี ค.ศ. 1975

รายงานข่าวระบุว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศของโมร็อกโกได้ออกคำแถลงวิพากษ์การเดินทางของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติว่าเป็นการไม่สมควร และเข้าข่ายละเมิดหลักความเป็นกลาง อีกทั้งยังเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของโมร็อกโก

ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศทั้งหลายยังคงมีจุดยืนร่วมกันว่าดินแดนซาฮาราตะวันตกถูกรุกรานโดยมิชอบจากโมร็อกโก และเรียกร้องให้รัฐบาลโมร็อกโกยอมเปิดทางให้ชนพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า ชาวซาห์ราวี สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในทางการเมืองได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่รัฐบาลโมร็อกโกมิอาจยอมรับได้ ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมโปลิซาริโอซึ่งมีทั้งปีกการเมือง และปีกติดอาวุธได้โหมกระพือสร้างแรงกดดันในรูปแบบต่างๆ เพื่อปลดแอกดินแดนซาฮาราตะวันตกเป็นเอกราช





กำลังโหลดความคิดเห็น