เอเจนซีส์ / MGR online – ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูบูรณะและการพัฒนาแห่งยุโรป (อีบีอาร์ดี) ประกาศในวันพุธ (3 ก.พ.) พร้อมเดินหน้าลงทุนกว่า 900 ล้านยูโร เพื่อการแก้ปัญหา “ผู้อพยพ” จากภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างยั่งยืน
ท่าทีล่าสุดของทางธนาคารเพื่อการฟื้นฟูบูรณะและการพัฒนาแห่งยุโรป (อีบีอาร์ดี) มีขึ้นก่อนที่ผู้แทนของสถาบันการเงินระหว่างประเทศแห่งนี้จะเข้าร่วมการประชุมผู้บริจาคนานาชาติเพื่อซีเรีย ที่กรุงลอนดอนในวันพฤหัสบดี (4 ก.พ.)
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการฟื้นฟูบูรณะและการพัฒนาแห่งยุโรป (อีบีอาร์ดี) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1991 โดยมีวัตถุประสงค์เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่บรรดาประเทศคอมมิวนิสต์อย่างโปแลนด์และยูเครน ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ทางธนาคารได้ปรับเป้าหมายด้านการลงทุนไปยังตุรกี จอร์แดน และอีกหลายประเทศในแถบตอนเหนือของทวีปแอฟริกาแทน
ในวันพฤหัสบดี (4 ก.พ.) นี้ กรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร เตรียมรับหน้าที่เจ้าภาพการประชุมร่วมของผู้นำทั่วโลกในการหาช่องทางระดมเงินทุนเพื่อช่วยเหลือชาวซีเรีย ที่ต้องทนทุกข์จากผลพวงของสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งภายในประเทศที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เมื่อปี 2011 และเป็นต้นตอสำคัญของวิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพนับล้านสู่ทวีปยุโรป
รายงานข่าวระบุว่า การประชุมเพื่อระดมทุนของบรรดาประเทศผู้บริจาคที่กรุงลอนดอนในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ตั้งเป้าหาเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวซีเรียให้ได้ 7,730 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินเดียวกับเป้าหมายที่ทางองค์การสหประชาชาติตั้งเอาไว้ ยังไม่รวมกับการระดมเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 1,230 ล้านดอลลาร์แก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในซีเรีย
แหล่งข่าวทางการทูตยืนยันว่าบรรดาผู้นำจากมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกจะตบเท้าเดินทางสู่กรุงลอนดอนเพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง นายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, บัน กี-มุน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ, กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน, ตัมมัม ซาลัม นายกรัฐมนตรีเลบานอน ตลอดจนหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ก่อนหน้าที่การประชุมครั้งนี้จะเปิดฉากขึ้นในสัปดาห์นี้ ทางการจอร์แดนโดยกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 ได้ทรงออกโรงเตือนว่า ประเทศของพระองค์ซึ่งมิใช่ประเทศร่ำรวย ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพชาวซีเรียไว้มากกว่า 630,000 ราย และว่าจอร์แดนจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติ ในการแบ่งเบาภาระอันใหญ่หลวงนี้
ทั้งนี้ สงครามกลางเมืองในซีเรียได้ปะทุขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 และได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 260,000 ราย ตลอดจนเป็นต้นตอของวิกฤตผู้อพยพและวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดของภูมิภาคตะวันออกกลางนับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ความขัดแย้งในซีเรียบีบให้ชาวซีเรียจำนวน 4.6 ล้านคนอพยพหนีตายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านรายรอบ ทั้งจอร์แดน เลบานอน ตุรกี อิรัก และอียิปต์ ยังไม่รวมกับชาวซีเรียอีกนับล้าน ที่พยายามดิ้นรนเดินทางสู่ทวีปยุโรปด้วยความหวังจะเข้าไปแสวงหา “ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า” แม้ต้องเสี่ยงชีวิตกับการเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ขึ้นชื่อในเรื่องความโหดร้ายของคลื่นลมก็ตาม
ในปีที่แล้ว ผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนได้เดินทางเข้าสู่เขตแดนของ 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)โดยในจำนวนนี้กว่า 500,000 รายเป็นชาวซีเรียที่อพยพหนีภัยสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 5 ปี ในประเทศบ้านเกิด ขณะที่ผู้อพยพราว 3,600 รายได้เสียชีวิตหรือสูญหายระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะการข้ามเรือโดยสารฝ่าคลื่นลมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออกจากตุรกีมายังกรีซ
ที่ผ่านมา ทางการตุรกีเองก็ต้องแบกรับคลื่นผู้อพยพชาวซีเรียเอาไว้ไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านคน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลตุรกีได้บรรลุข้อตกลงกับทางสหภาพยุโรป (อียู) ในการหาทางสกัดกั้นยับยั้งการไหลบ่าของผู้อพยพจากตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรป เพื่อแลกกับการที่ตุรกีจะได้รับเงินช่วยเหลือจากอียูจำนวนกว่า 3,000 ล้านยูโร ตลอดจนการเร่งรัดกระบวนการเจรจาเพื่อรับตุรกีเข้าเป็นสมาชิกใหม่อียูในอนาคต