xs
xsm
sm
md
lg

ชมภาพชุดตากล้องมาเลย์จาก กทม.บุกฟูกุชิมะ : ศาลญี่ปุ่นตัดสิน “3 บ.ยักษ์ใหญ่ผลิตเตาปฎิกรณ์” ไม่ต้องจ่ายสินไหมทดแทน 100 เยน เซ่นวิกฤต รง.ไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี/เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - ศาลญี่ปุ่นออกคำตัดสินเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ประกาศให้ 3 บริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟูกุชิมะซึ่งรวมไปถึง โตชิบา ฮิตาชิ และ GE ไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายสินไหมทดแทนตามกฎหมายรับผิดญี่ปุ่น (liability law) จากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะปี 2011 ถือเหตุเป็นกรณีอุบัติเหตุทางธรรมชาติ สร้างความผิดหวังให้ผู้ฟ้อง 3,800 รายจากญี่ปุ่น และอีก 32 ชาติ รวมไปถึงสหรัฐฯ เยอรมนี และเกาหลีใต้ ต้องการให้เป็นคดีศึกษา เรียกร้องเยียวยา 100 เยนต่อคน หลังล่าสุดช่างภาพชาวมาเลเซีย Keow Wee Loong จากกรุงเทพฯ แอบลอบเข้าไปโซนสีแดงนิวเคลียร์ฟูกุชิมะถ่ายภาพเผยแพร่

เอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ว่า ศาลแขวงกรุงโตเกียวได้ออกคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์ในวันพุธ (13) ในคดีความฟ้องร้องที่มีโจทก์ร่วม 3,800 คน จากญี่ปุ่น และอีก 32 ชาติ รวมไปถึงสหรัฐฯ เยอรมนี และเกาหลีใต้ เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิเคลียร์ฟูกุชิมะ ซึ่งรวมไปถึงโตชิบา ฮิตาชิ และ GE จากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะปี 2011

โดยเอเอฟพีชี้ว่า การยื่นฟ้องครั้งนี้บรรดาโจทก์ต่างต้องการให้เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งพบว่าในคำร้องคดีทางโจทก์ได้ยื่นขอรับค่าทดแทนจำนวน 100 เยน หรือ 96 เซ็นต์ต่อรายเท่านั้น

และพบว่าในเบื้องต้นการยื่นฟ้องเรียกสินไหมค่าตอบแทน ทางโจทก์ผู้ฟ้องต้องการฟ้องซัปพลายเออร์โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะจากวิกฤตปัญหานิวเคลียร์ที่ได้เกิดขึ้น อากิฮิโระ ชิมะ (Akihiro Shima) หัวหน้าทีมกฎหมายของโจทก์แถลง โดยพบว่าคดีนี้ถูกยื่นฟ้องต่อศาลญี่ปุ่นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2014 โดยมีผู้ฟ้องร่วมจำนวน 1,000 คนเท่านั้น แต่ในภายหลังพบว่ามีผู้ขอเข้าร่วมยื่นฟ้องเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4 เท่าตัว

เอเอฟพีชี้ต่อว่า ภายใต้กฎหมายรับผิดชอบญี่ปุ่น (liability law) ผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับผิด จากในกรณีเกิดอุบัติเหตุ และทำให้บริษัทผู้บริหารโรงไฟฟ้าต้องเผชิญหน้าคดีทางกฎหมายตามลำพัง ซึ่งพบว่าบริษัท เทปโก้ อยู่ในระหว่างคดีฟ้องร้องมากมายในเวลานี้ แต่อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานว่า ในการยื่นฟ้องของชิมะ หัวหน้ากฎหมายฝ่ายโจทก์ได้แย้งว่า “เป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ว่าด้วยการปกป้องเสรีภาพการเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยรวมของพลเมือง (the pursuit of happy, wholesome and cultured livelihoods)”

ทว่า ในคำตัดสินที่ออกมาเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) ศาลแขวงกรุงโตเกียวชี้ว่า “กฎหมายนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด” ทีมกฎหมายฝ่ายโจทก์ให้ข้อมูลต่อเอเอฟพี

ด้าน มาซาโอะ อิไมซูมิ (Masao Imaizumi) วัย 73 ปี หนึ่งในโจทก์ผู้ร่วมฟ้องคดีนี้กล่าวกับเอเอฟพีว่า “ทางเราตระหนักดีว่า คดีนี้ยากที่จะชนะภายใต้ระบบยุติธรรมญี่ปุ่นในปัจจุบัน แต่ทว่าเป็นสิ่งที่ผิดอย่างเห็นได้ชัดเมื่อพบว่าผู้ผลิตโรงงานนิวเคลียร์ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรต่ออุบัติเหตุที่ได้เกิดขึ้น” และให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า “แต่หากบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ต้องร่วมรับผิดชอบ มันจะสามารถนำไปสู่ความสะเพร่าทางด้านการควบคุมคุณภาพต่อไปได้” โดยอิไมซูมิย้ำว่าทางโจทก์จะทำการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ในขณะเดียวกัน บริษัท โตชิบา หนึ่งในผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟูกุชิมะได้ออกมายินดีต่อคำตัดสินครั้งนี้ “ทางบริษัทเชื่อมั่นในคำพิพากษาที่ศาลญี่ปุ่นได้ออกมา”

แต่อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีรายงานว่าไม่สามารถขอความเห็นจากบริษัท ฮิตาชิ และ GE ในคำพิพากษาล่าสุดได้

เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า สื่อญี่ปุ่นได้รายงานผลการพิพากษาเช่นกัน โดย Jiji Press รายงานว่า คำตัดสินออกมาชี้ว่าทางศาลไม่พิจาณาตามคำขอของโจทก์ โดยสั่งให้ทางบริษัทผู้ผลิตไม่มีความผิด ซึ่งในคำฟ้องที่ทางโจทก์ได้ยื่นให้ศาลพิจารณา อ้างว่าทางบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟูกุชิมะมีความปลอดภัยมากเพียงพอ หลังจากที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะเกิดระเบิดหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงระดับ 9.0 และทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิวันที่ 11 มีนาคม 2011

ในขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วง 5 ปี ในเขตโซนสีแดงนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ล่าสุดจากการรายงานของสื่อ mashable พบว่าช่างภาพชาวมาเลเซีย Keow Wee Loong ที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้แอบเล็ดลอดเข้าไปในเขตหวงห้ามเพื่อบันทึกภาพถ่ายมาอวดสายตาชาวโลก โดยช่างภาพแดนเสือเหลืองผู้นี้ได้โพสต์ผลงานของตนเองบนเฟซบุ๊ก ซึ่งพบว่ามีเพียงหน้ากากกันแก๊สพิษ ถุงมือสีดำ ปกป้องตัวเขาจากสภาพอากาศเป็นพิษเท่านั้นในระหว่างการสำรวจ

ในการรายงานของ mashable พบว่า ช่างภาพรายนี้ไม่ได้เดินทางเข้าไปคนเดียว แต่ไปพร้อมกับคู่หมั้นสาว มาร์ธา ซิบีลัก (Marta Sibielak) ที่เชื่อว่าเป็นมือกล้องคอยจับภาพ Keow ในขณะที่เดินสำรวจตามจุดต่างๆ โดย Keow เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า “เมื่อเข้าสู่โซนสีแดง รู้สึกได้เลยว่ามีอาการระคายเคืองบริเวณตา และมีกลิ่นสารเคมีคละคลุ้งอย่างรุนแรงในอากาศ”

นอกจากนี้ยังบรรยายถึงความยากลำบากในการเดินทางไปเยือนฟูกุชิมะว่า ได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นว่า ต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษก่อนที่จะเข้าไปยังเขตภัยพิบัติได้ โดยต้องรอการอนุมัติราว 3-4 สัปดาห์จากสภาท้องถิ่นก่อน และทำให้ช่างภาพชาวมาเลย์รายนี้ตัดสินใจบุกเดี่ยวเดินตัดผ่านป่าเข้าไปภายใน โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นพบเห็น

ทั้งนี้ จากประวัติที่ระบุบนเฟซบุ๊กของ Keow พบว่าเขาเป็นชาวมาเลย์ มาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ และในปัจจุบันอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งและช่างภาพอาวุโสประจำ Keow Wee Loong Photography มีประวัติสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ LLB จากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน และเขายังศึกษาในมหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ระดับ Diploma ในด้านกฎหมายอีกด้วย

ล่าสุดช่างภาพชาวมาเลเซีย Keow Wee Loong จากกรุงเทพฯแอบลอบเข้าไปโซนสีแดงนิวเคลียร์ฟูกุชิมะถ่ายภาพเผยแพร่
ภาพจากเฟซบุ๊กของ Keow Wee Loong ถูกถ่ายไว้ในเดือนมิถุนายน 2016
ภาพจากเฟซบุ๊กของ Keow Wee Loong ถูกถ่ายไว้ในเดือนมิถุนายน 2016
ภาพจากเฟซบุ๊กของ Keow Wee Loong ถูกถ่ายไว้ในเดือนมิถุนายน 2016
ภาพจากเฟซบุ๊กของ Keow Wee Loong ถูกถ่ายไว้ในเดือนมิถุนายน 2016

กำลังโหลดความคิดเห็น