เอพี/เอเจนซีส์ - ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ได้ประกาศคำตัดสินสำคัญชนิดที่ต้องถือว่าเป็นหลักหมายใหม่เมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.) ที่ผ่านมา ด้วยการปฏิเสธไม่ยอมรับการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนอันกว้างขวางในทะเลจีนใต้ และมอบชัยชนะให้แก่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นการตีกระหน่ำในทางกฎหมายอย่างรุนแรงต่อปักกิ่ง ทว่ามาถึงตอนนี้ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนเลยว่า คำตัดสินนี้จะมีผลกระทบมากมายขนาดไหน เนื่องจากศาลแห่งนี้ไม่ได้มีหนทางใดๆ เลยที่จะบังคับให้เกิดการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของตน
ตัวละครสำคัญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่จีน, ฟิลิปปินส์, และสหรัฐฯ จะเดินหมากต่อไปอย่างไรในเรื่องนี้ อาจจะพอคาดคะเนได้ดังต่อไปนี้
จีน : รักษาแนวทางแข็งกร้าวเอาไว้ พยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาหารือ
จีนไม่ได้สงวนท่าทีใดๆ เลย และปฏิเสธทันทีทันควันว่าไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก นี้ โดยระบุว่ามันไม่มีผลใดๆ และเป็นโมฆะ รวมทั้งยังกำลังประณามการพิจารณาคดีคราวนี้และกระทั่งคณะตุลาการทั้ง 5 คนซึ่งเป็นผู้ทำการวินิจฉัยตัดสิน ในวันพุธ (13) รัฐบาลจีนได้เผยแพร่เอกสารนโยบายว่าด้วยการพิพาทกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งในนั้นปักกิ่งกล่าวเน้นย้ำจุดยืนของตนที่ว่าเกาะต่างๆ ในทะเลแห่งนี้เป็น “ดินแดนของจีนอย่างแน่นอนมาแต่ไหนแต่ไร”
รองรัฐมนตรีต่างประเทศ หลิว เจิ้นหมิน ยังกล่าวเตือนชาติอื่นๆ ว่าอย่าได้ท้าทายผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนในทะเลจีนใต้ พร้อมกับบอกว่าปักกิ่งมีสิทธิที่จะจัดตั้งเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันทางอากาศ (air defense identification zone) เหนือน่านน้ำที่เกิดการพิพาทอีกด้วยถ้าหากมีความจำเป็นขึ้นมา
ในเวลาเดียวกัน เวลานี้ปักกิ่งดูเหมือนกำลังพยายามใช้ท่าทีที่นุ่มนวลมากขึ้นในการโน้มน้าวจูงใจให้ฟิลิปปินส์หวนกลับมาเจรจาหารือกันในระดับทวิภาคี โดยกล่าวว่าการที่ฟิลิปปินส์ร่วมไม้ร่วมมือกับจีนนั้นจะก่อให้เกิด “ผลประโยชน์ต่างๆ ที่แน่นอนชัดเจน”
พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ในการชักจูงเกลี้ยกล่อมให้มะนิลาหันกลับมาพูดจากันนี้ จีนอาจจะเสนอการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรด้านการประมงและทรัพยากรน้ำมันและก๊าซให้กับฟิลิปปินส์ รวมทั้งให้เงินทุนสนับสนุนโครงการทางรถไฟในแดนตากาล็อกด้วย
เนื่องจากศาลในกรุงเฮกแห่งนี้ไม่สามารถบังคับให้มีการปฏิบัติตามการวินิจฉัยของตน สิ่งที่คำตัดสินนี้จะสร้างผลกระทบต่อจีนส่วนใหญ่ที่สุดจึงอาจจะอยู่ในรูปของการสร้างความเสียหายให้แก่ภาพลักษณ์ของปักกิ่ง ในเวลาที่ปักกิ่งก็กำลังหาทางเพิ่มปากเสียงของตนในเวทีโลกและเพิ่มความชอบธรรมให้ตนเองในฐานะที่เป็นมหาอำนาจระดับโลก พวกนักวิเคราะห์ที่ศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS สำนักงานตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน) มีความเห็นว่า ในช่วงระยะกลางไปจนถึงระยะยาว คำตัดสินคราวนี้อาจช่วยทำให้ปักกิ่งเกิดความแน่ใจว่าจะต้องปฏิบัติต่อมะนิลาและชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ อย่างยุติธรรม
แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนคาดเดาว่าจีนอาจพยายามเพิ่มระดับความรุนแรงของข้อพิพาท เพื่อเป็นการลงโทษมะนิลาที่นำเอาข้อพิพาทนี้ไปฟ้องร้อง อีกทั้งยังเป็นการป้องปรามชาติผู้เรียกร้องกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ ว่าอย่าได้กระทำอย่างเดียวกัน ทั้งนี้ ปักกิ่งอาจจะใช้มาตรการในการแข็งกร้าวยืนกรานเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น การถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้นบนสันดอน “สคาร์โบโร โชล” (Scarborough Shoal) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแนวปะการังที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของฟิลิปปินส์ และเหตุการณ์การประจันหน้ากันกับจีนที่บริเวณนี้นั่นเอง ซึ่งทำให้มะนิลาตัดสินใจริเริ่มนำคดีนี้ไปฟ้องร้องต่อสู้ทางกฎหมายเมื่อปี 2013
ฟิลิปปินส์ : เดินไปบนเส้นลวด
นับตั้งแต่ที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งนี้ประกาศคำตัดสิน ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้ออกมาแสดงท่าทีโดยตรงต่อการทาบทามของฝ่ายจีน ถึงแม้พวกโฆษกของเขาหลายๆ รายแถลงว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังศึกษาคำวินิจฉัยตัดสินของศาลอยู่ จีนกำลังพยายามเกี้ยวพาโปรยเสน่ห์ และดูเตอร์เตก็กำลังเดินเลี้ยงตัวเองอยู่บนเส้นลวด เนื่องจากเขาต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับปักกิ่ง แต่ขณะเดียวกันก็กำลังปกป้องคุ้มครองชัยชนะครั้งใหญ่ที่ประเทศชาติได้รับมาจากคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการกรุงเฮก
รัฐมนตรีต่างประเทศ เปอร์เฟคโต ยาซาย ของฟิลิปปินส์แถลงว่า ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า รัฐบาลฟิลิปปินส์จะดำเนินจังหวะก้าวต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า คำตัดสินของศาลจะ “ได้รับการปฏิบัติตามอย่างสันติ”
“เราเปิดกว้างให้แก่การทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่า เราจะมีการพูดจาทวิภาคีกับจีนในเรื่องการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการนี้” เขาบอกกับสถานีวิทยุดีแซดบีบี ในกรุงมะนิลา เขากล่าวอีกว่า “ก้าวเดินต่อไปคือการเดินไปข้างหน้า และปล่อยให้การทูตเป็นตัวทำงาน”
ยาซายบอกด้วยว่า ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่กระทำการอันเป็นการยั่วยุใดๆ ในขณะนี้
ชีโต สตา. โรมานา (Chito Sta. Romana) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน บอกกับเครือข่ายโทรทัศน์เอบีเอส-ซีบีเอ็นว่า สิ่งที่กำลังท้าทายดูเตอร์เตอยู่ในตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเอาการมีปฏิสัมพันธ์ และการป้องปราม มาผสมผสานเข้าด้วยกัน “จะใช้วิธีไหนในการผสมผสานระหว่างการเป็นเพื่อนกับจีน และการที่สามารถลุกยืนขึ้นมาและเจรจาหารือข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกัน นี่แหละจุดที่ผมคิดว่าคือปัญหาท้าทายในตอนนี้” เขากล่าว
สำหรับ ส.ส.แฮร์รี โรเก (Harry Roque) ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เสนอทัศนะแบบแข็งกร้าวมากกว่า โดยกล่าวว่าถ้าจีนหันไปเลือกวิธีใช้กำลังในทะเลจีนใต้แล้ว ฟิลิปปินส์สามารถที่จะหาทางให้มีการโหวตในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เพื่อให้มีการใช้อำนาจทำการลงโทษคว่ำบาตรปักกิ่ง แต่ไม่ใช่ในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ซึ่งจีนมีอำนาจยับยั้ง
สหรัฐฯ : ตรวจการณ์ลาดตระเวนเพิ่มมากขึ้นในทะเลจีนใต้?
ในทางการทูต สหรัฐฯและพวกพันธมิตรที่มีความคิดในทางเดียวกัน กำลังพยายามสร้างแรงกดดันระหว่างประเทศต่อจีน เพื่อให้ยอมรับปฏิบัติตามคำวินิจฉัยตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร
ในทางการทหาร คำตัดสินนี้อาจยั่วใจกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้แล่นเรือขยับเข้าใกล้เกาะเทียมบางแห่งของจีนเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เคยกระทำมาในอดีต ในทำนองเดียวกัน ฟิลิปปินส์และชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ก็อาจทดสอบลองของในน่านน้ำเหล่านี้ ด้วยการทำประมงและการสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ
กองทัพเรือสหรัฐฯกำลังดำเนินการแล่นเรือและออกบิน ที่เรียกกันว่า เพื่อสำแดงถึง “เสรีภาพในการเดินเรือและเดินอากาศ” ในบริเวณใกล้ๆ เกาะเหล่านั้นบางแห่ง เพื่อสาธิตให้เห็นว่าสหรัฐฯ มีสิทธิที่จะปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ ทว่าเท่าที่ผ่านมายังคงหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าไปใกล้จริงๆ อย่างน้อยก็ในทางเปิดเผย
คำวินิจฉัยตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการ ได้จำแนกแยกแยะเกาะต่างๆ ในความควบคุมของจีนว่า บางแห่งถือเป็นโขดหิน (rock) แต่อีกหลายๆ แห่งเป็นแค่เพียง “สิ่งที่โผล่ขึ้นมาเวลาน้ำลง” (low-tide elevations) ซึ่งจมหายไปในน้ำเวลาที่กระแสน้ำขึ้น และดังนั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะอ้างทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบๆ สิ่งเหล่านี้ได้ สิ่งที่อยู่ในข่ายนี้ก็รวมถึงแนวปะการัง ฮิวส์ รีฟ (Hughes Reef) และแนวปะการัง มิสชีฟ รีฟ (Mischief Reef) ในแถบหมู่เกาะสแปรตลีย์ซึ่งได้เกิดการช่วงชิงกันอย่างดุเดือดในช่วงที่ผ่านมา
“ในทางทฤษฎีแล้ว เราสามารถแล่นเรือเข้าใกล้ภายในระยะ 500 เมตรของ มีสชีพ รีฟ ได้ นี่เป็นความเห็นของ ไมเคิล แมคเดวิตต์ (Michael McDevitt) พลเรือตรีแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯที่เกษียณอายุแล้ว โดยมีประสบการณ์อย่างยาวนานในแปซิฟิก แนวปะการัง มิสชีฟ รีฟ ซึ่งถูกจีนถมและสร้างเกาะเทียมอยู่ข้างบนนั้น ตั้งอยู่ห่างจากฟิลิปปินส์ประมาณ 210 กิโลเมตร
จอห์น แม็กเคน (John McCain) วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ผู้ทรงอิทธิพลซึ่งสังกัดอยู่กับพรรครีพับลิกัน เป็นหนึ่งในบรรดาสมาชิกรัฐสภาอเมริกันที่ออกมาเรียกร้องเมื่อวันอังคาร (12) ให้สหรัฐฯทำการท้าทายเป็นประจำต่อ “การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเลอย่างเกินเลยของจีน”
พวกเขาระบุว่าการกระทำเช่นนี้จะเป็นการส่งข้อความให้จีนรับทราบว่า จะต้องเดินหน้าต่อไปด้วยความรอบคอบระมัดระวัง ถึงแม้อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งจีนจากการกระทำในสิ่งที่ปักกิ่งมองเห็นว่านั่นเป็นผลประโยชน์ของจีนเอง